เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ส.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีฮ้องขวัญช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ หรือพิธีบายศรีสู่ขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ร่วมพิธีที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

ในพิธีได้มีการจัดทำบายศรี 9 ชั้น พร้อมอาหารและผลไม้มงคล โดยให้พลายศักดิ์สุรินทร์ยืนอยู่ด้านหน้าสถานที่ประกอบพิธีและโยงสายสิญจน์มายังตัวช้าง ก่อนที่หมอช้าง อาจารย์บุญยัง บุญเทียม จะเริ่มทำพิธีฮ้องขวัญ ประมาณ 20 นาที จากนั้นได้ให้ประธานในพิธีพร้อมคณะ โปรยดอกไม้ มอบพวงมาลัย และเลี้ยงสะโตกช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ซึ่งระหว่างประกอบพิธีพลายศักดิ์สุรินทร์ได้ส่งเสียงร้องเป็นระยะๆ

สำหรับพิธีฮ้องขวัญ เป็นความเชื่อของคนไทยในสังคมภาคเหนือที่มีมาช้านาน ทั้งชาว ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่างมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคนขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก “ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว”

ฮ้องขวัญ – นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานในพิธี ฮ้องขวัญบายศรีสู่ขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าฯ ลำปาง และประชาชนร่วมพิธี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

นอกจากนี้ ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า “รู้คิง” หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและเครื่องใช้ในการเกษตร)

ชาวล้านนา มีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญ เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ

พิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน