ห่วงค้างหนี้ธกส. สลดอุทัยธานี! 4ภาคฝนหนัก ทะเลปักธงแดง

เศร้าเซ่นน้ำท่วม หนุ่มใหญ่บ้านไร่ อุทัยธานี เครียดไร่มันถูกน้ำท่วม หวั่นใจไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. จ่อขมับยิงตัวเสียชีวิตคาบ้าน เมียเศร้าเผยก่อนสามีตัดสินใจลาโลกไปนั่งวิดน้ำออกจากไร่มัน นั่งปรับทุกข์กลุ้มใจกลัวน้ำท่วมไร่มันแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.ที่ไปกู้มา 6 แสน แล้วไม่มีเงินส่งลูกเรียนอีก อุตุฯเตือน ร่องมรสุมพาดผ่านไทย ส่งผลให้ 4 ภาค เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ ฝนหนัก ทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร ทั้งฝั่ง อ่าวไทย-อันดามัน เรือเล็กงดออกฝั่ง ตราดสั่งเกาะช้าง-เกาะกูด-เขาสมิง-บ่อไร่-แหลมงอบ รับฝนเทตั้งแต่ 7 ก.ย. ระยองปักธงแดง ห้ามลง เล่นน้ำทะเลทุกหาด หลังทะเลคลื่นสูง

เครียดยิงตัว – ตำรวจบ้านไร่ จ.อุทัยธานี ตรวจสอบเหตุนายบุญหลาย กัญญา อายุ 49 ปี ใช้ปืนยิงขมับเสียชีวิตที่บ้านในต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ สาเหตุเครียดน้ำท่วมไร่มัน เสียหาย กังวลไม่มีเงินใช้หนี้ธ.ก.ส. 6 แสนบาท เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

หนุ่มเครียดน้ำท่วมไร่มัน-ยิงตัว
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลาย จังหวัดยังคงมีฝนตกและเกิดน้ำท่วม โดยที่ จ.อุทัยธานี ได้เกิดเหตุสลดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วม โดยเวลา 11.30 น. ร.ต.อ.พีรพล นันทสังข์ ร้อยเวร สภ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ได้รับแจ้งเหตุจากสายตรวจบ้านปางศิลาทอง ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ว่า มีเหตุคนใช้อาวุธปืนยิงตัวตาย อยู่ที่บ้านเลขที่ 25 ม.3 บ้านทัพหมัน ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

หลังจากได้รับแจ้งจึงรายงานผู้บังคับบัญชา ทราบ จากนั้นรุดตรวจที่เกิดเหตุ พร้อม พ.ต.อ.กิตติ์ธเนศ สุริยศักดิ์ภูบดี ผกก.สภ.บ้านไร่ พ.ต.ท.บุญเยี่ยม โพธิ์ศรี รองผกก.สส. สภ.บ้านไร่, ร.ต.อ.สุวรรณ บุญอาจ รอง สวป.สภ.บ้านไร่ พร้อมด้วยชุดสืบสวนเวรสายตรวจ รถยนต์บ้านปางศิลาทอง รุดไปที่เกิดเหตุ เป็นบ้านสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่บนถนน และหน้าบ้าน มีเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องและ ชาวบ้านจำนวนมากยืนดูอยู่หน้าบ้าน พบศพ นายบุญหลาย กัญญา อายุ 49 ปี สภาพนอนหงายหลังพิงกำแพงปูน พบบาดแผลที่ศีรษะด้านซ้าย เลือดไหลนองพื้นอยู่ในห้องชั้นล่างของบ้าน สภาพจ่อยิงด้านซ้ายทะลุขมับขวา พบอาวุธปืนลูกโม่ .38 ตกอยู่ที่หัวไหล่ซ้าย ภายในรังเพลิงบรรจุกระสุนปืน จำนวน 4 นัด ปลอกกระสุนปืนยิงแล้ว 1 ปลอก เจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตรวจสอบภายในที่ เกิดเหตุ และรอบบ้านไม่พบร่องรอยการต่อสู้

สอบถามนางกุมมารี กัญญา ภรรยาของผู้ตาย เล่าว่า ผู้ตายมีปัญหาเกี่ยวกับภาระหนี้สินกับ ธ.ก.ส. จำนวน 6 แสนบาทที่กู้มาลงทุนทำไร่มัน และซื้อรถไถนา เมื่อคืนฝนตกลงมาอย่างหนัก จนช่วงเช้า ตนกับผู้ตายไปที่ไร่มันสำปะหลัง เพื่อไปวิดน้ำออกจากไร่มัน เนื่องจากกลัว ต้นมันจมน้ำนานจะตาย เมื่อกลับมาบ้านผู้ตายมานั่งเครียดปรับทุกข์กับตน กลัวว่าต้นมันจะตาย ไม่มีเงินไปใช้หนี้ธ.ก.ส.ที่กู้มา พร้อมดอกเบี้ย และส่งเงินให้ลูกเรียนที่กรุงเทพฯ อีก 1 คน ต้องใช้เงิน หลังจากนั้นตนขึ้นไปบนบ้าน ขณะที่ ผู้ตายนอนเล่นอยู่ในห้องชั้นล่าง ส่วนอาวุธปืน .38 เป็นของพ่อผู้ตายที่เก็บไว้ในตู้ลิ้นชัก ผู้ตายไปหยิบมาตอนไหนตนไม่ทราบ ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ที่ห้องนอน จึงรีบวิ่ง ลงมาดู พบว่าผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง ตน ครอบครัว และญาติ ไม่ติดใจในการเสียชีวิต จึงขอศพเจ้าหน้าที่มาประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ข้าวแล้ง – สภาพนาข้าวหอมมะลิของชาวนาในต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร แห้งเหี่ยวยืนต้นตาย เนื่องจากในพื้นที่ 7 อำเภอของพิจิตรเจอภัยแล้งหนักในรอบ 40 ปี ไม่มีฝนตกยาวนาน เกษตรกรวอนขอฝนเทียมช่วยเหลือด่วน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

พิจิตรจี้ช่วยแล้งสุด 40 ปี
ส่วนที่จ.พิจิตร เกษตรกรตำบลหนองพระ อ.วังทรายพูน ประสบปัญหาฝนหยุดตก มานานนับ 2 เดือน ทำให้ต้นข้าว เริ่มยืนต้นตาย จากขาดน้ำ ซึ่งข้าวหอมมะลิ มีอายุในการ เพาะปลูก ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมา จะทำให้ข้าวเสียหายยืนต้นแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด และจะต้องเสียเงินที่ลุงทุนกว่า 3 แสนบาท เพื่อหวังเป็นรายได้ ในครัวเรือน ซึ่งถือว่าในปีนี้ แล้งหนักสุด ในรอบ 40 ปี








Advertisement

นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าฯ พิจิตร กล่าวว่า แม้จะมีฝนตกลงมา แต่ตกปริมาณน้อย ไม่เพียงพอสำหรับนาข้าว จากฝนทิ้งช่วงเวลานานกว่า 2 เดือน ขณะที่ทางจังหวัดขอสนับสนุน หน่วยงานเร่งทำฝนเทียม โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ใน 7 อำเภอ อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน อ.ทับคล้อ อ.ดงเจริญ อ.วชิรบารมี อ.ตะพานหิน และอ.เมือง พร้อมออก สำรวจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด

สำหรับนาข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ อยู่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 1,191,467 ไร่ ใน ทั้ง 7 อำเภอของจ.พิตร ที่กำลังประสบปัญหา แห้งเหี่ยวทยอยยืนต้นตาย จากฝนหยุดตกเป็นเวลานาน และปริมาณฝนไม่เพียงพอ หากไม่มีฝนตกลงมาจะส่งผลกระทบกับประชาชน ในปีนี้จนถึงปีต่อไป

พิษน้ำป่า – สภาพดินภูเขาสไลด์ลงมาทับบ้านพักนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา บนเกาะอาดัง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ได้รับความเสียหาย หลังเกิดฝนตกหนัก 5 วันติดต่อกัน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

‘ตะรุเตา’หินถล่มทับบ้านพัง
ที่อ.ละงู จ.สตูล มีประชาชนได้รับผลกระทบ แล้ว 5 ตำบล คือต.กำแพง ต.ละงู ต.เขาขาว ต.ปากน้ำ และต.แหลมสน น้ำยังคงไหลเข้าท่วม ในบางพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำได้แก่บริเวณถ้ำจระเข้ หมู่ที่ 10 บ้านปากปิง ต.กำแพง โดยในพื้นที่ตรงนี้ใช้เรือท้องแบนที่ทางอบต.เตรียมไว้ในการใช้สัญจรเข้าออก มีชาวบ้านอาศัย อยู่ประมาณ 7 ครัวเรือน ทีมทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.กำแพง ต้องล่องเรือนำน้ำดื่ม เอาอาหารไปส่ง

ที่พืชสวนไร่นาของเกษตรกรทั้งเงาะ ลองกอง มังคุด สวนผสมของเกษตรกร ในพื้นที่หมู่ 11 บ้านห้วยพร้าว อ.ละงู ที่กำลังรอเก็บผลผลิตออกได้ต้องจมอยู่ใต้น้ำ การเก็บเกี่ยวมีความยากลำบาก ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งตัวต้นไม้ผล และรายได้ของเกษตรกรแล้ว

ด้านทหารหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลเกาะหลีเป๊ะ ได้เข้าช่วยเหลือกระชังหอยแมลงภู่ของเกษตรกรหมู่ 2 ต.แหลมสน อ.ละงู ที่ถูกความแรงลมและคลื่นพัดทำให้เสาสมอขาดหลุดลอยเพื่อลดความเสียหายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงฟาร์มหอยแมลงภู่

ส่วนโรงเรียนบ้านดาหลำ ต.เขาขาว และโรงเรียนบ้านท่ายาง ต.ปากน้ำ อ.ละงู ขณะนี้ระดับน้ำยังทรงตัว ขณะที่ฝนยังคงตกกระจายไปทุกพื้นที่

ขณะที่บนเกาะอาดังกลางทะเลตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เกิด ดินสไลด์โดยก้อนหินขนาดใหญ่ จากผาชะโด ดินโคลนสไลด์ไหลลงมาทับบ้านพักของเจ้าหน้าที่ เสียหาย 1 หลัง และบ้านพักนักท่องเที่ยว 1 หลัง โดยดินโคลนก้อนหินใหญ่มหึมาสไลด์ทับพังประตูกระจก โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ซึ่งช่วง วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางสำนักงานอุทยาน ตะรุเตา ประกาศปิดอุทยานที่พักบนเกาะอาดังมาหลายวันแล้ว จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม

นายนเคนทร์ กวีธนาธรรม ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เปิดเผยว่า นายมงคล แดงกัน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สั่งกำชับและเป็นห่วงเป็นใยเจ้าหน้าที่อาศัย อยู่บ้านพักบริเวณเชิงตีนเขา ให้หาที่อยู่ห่างไกล และเฝ้าระวังดูแลตนเองเมื่อฝนตกหนัก ต้องออกห่างพื้นที่ใกล้บริเวณดังกล่าวทันที ส่วนภาพรวมความเสียหาย ทางหัวหน้าชุดปฏิบัติการบนเกาะอาดัง เร่งประเมินความเสียหาย

ภูเก็ตกำชับเรือเล็กงดออกฝั่ง
ที่จ.ภูเก็ต วันเดียวกัน มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจราจรในพื้นที่ช่วงเช้าติดขัด ขณะที่นายณชพงศ ประนิตย์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้ออกประกาศแจ้ง ให้ระมัดระวังการเดินเรือ เนื่องจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้นายเรือและผู้ควบคุมเรือ เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือ ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตควรงดออกจากฝั่ง และเรือที่มีขนาดความยาวเรือน้อยกว่า 10 เมตร ห้ามออกจากฝั่งไปยังทะเลเปิด

ด้านจ.ตรัง นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านมดตะนอย ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาคลื่นทะเลที่มีความรุนแรง ซัดบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกบ้านอาศัยอยู่ริมชายหาดมดตะนอย ถูกคลื่นซัด พังเสียหายไปแล้วจำนวน 5 หลังคาเรือน และจ่อที่จะถูกคลื่นซัดจมหายอีกจำนวน 8 หลัง รวมแล้วจำนวน 13 หลังที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านประสบปัญหาเช่นนี้มาแล้วนับ 5 ปี แต่ทวีความรุนแรงมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยปรากฏให้เห็นบ้านจำนวน 2 หลัง ถูกคลื่นซัดมาถึงตัวบ้านจนพังเสียหาย เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลายเป็นว่าบ้านถูกปลูกขึ้น อยู่ในทะเล ซึ่งทำให้เจ้าของบ้านต้องยกครอบครัว หนีออกไปอาศัยอยู่บ้านญาติพี่น้อง และบางราย ต้องทิ้งถิ่นฐานออกไปเช่าบ้านอยู่นอกพื้นที่

คลื่นซัดบ้านริมหาดตรังทรุด
นายประเวศ หลงเหละ อายุ 46 ปี เจ้าของบ้าน เลขที่ 29/4 หมู่ 3 บ้านมดตะนอย เผยว่า อยู่บ้านหลังนี้มา 6 ปี ขณะที่สร้างบ้านตอนนั้น ได้สร้างอยู่ห่างจากชายหาด 100 เมตร แต่ตอนนี้ คลื่นทะเลได้กลืนชายหาดไปหมดแล้ว กลายเป็นว่าบ้านตนอยู่ติดกับทะเลไปเลย ตอนนี้คลื่นทะเลซัดมาถึงตัวบ้านตนแล้ว ทำให้ พื้นบ้านทรุดตัว น้ำทะเลเข้าในบ้าน อยู่กันไม่ค่อย จะได้แล้ว และหลังจากนี้ไปจะหนักขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน และบ้านต้องพังลงไปแน่นอน หากบ้านพังลงไปตนก็ไม่รู้จะไปอาศัยอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีที่อื่นให้อยู่ ตนก็อาศัยในบ้านหลังนี้ อยู่กัน 6 คน มีเด็กเล็กอายุเพียง 4 วันอาศัย อยู่ด้วย ที่ผ่านมาทาง อบต.และผู้นำชุมชน ก็เข้ามาช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบ อยู่ตลอด แต่อยากให้ทางหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น ผวจ. หรือระดับกรม กระทรวง ที่มีอำนาจและกำลังสูงกว่าหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาดูแลและหาทางแก้ไขอย่างถาวรมั่นคงให้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะชาวบ้านได้รับ ผลกระทบเยอะมาก พายุก็เข้ามาเกือบจะทุกวัน เดือนหนึ่งถูกคลื่นใหญ่หรือพายุซัดบ้าน 2 ครั้ง ทำให้นอนไม่หลับกันเลย กลัวมากว่าบ้าน จะพังถูกกลืนลงไปในทะเล

ขณะที่บ้านเลขที่ 24/2 หมู่ 3 บ้านมดตะนอย น.ส.อรพรรณ เขากรม อายุ 25 ปี เจ้าของบ้าน เผยว่า บ้านตลอดแนวชายหาดถูกคลื่นซัดทั้งหมด ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับจังหวัดก็เคยลงมาบอกว่าสามารถทำเขื่อนป้องกันใช้เวลาถึง 4 ปี แต่ชาวบ้านรอไม่ได้เพราะบ้านจะร่วงลงทะเลแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานรัฐ เช่น ผวจ.และหน่วยงานข้างบน เห็นใจชาวบ้าน เข้ามาหาทาง ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่วนปัญหาความเดือดร้อน ในเบื้องต้นทาง อบต.และผู้นำท้องถิ่นก็ช่วยเหลือ อยู่ตลอด

จี้เร่งเขื่อนป้องกัดเซาะด่วน
ด้าน นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านมดตะนอย กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีปัญหาอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 5-6 ปี และเริ่มหนักขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจะรุนแรงจากน้อย จนถึงรุนแรงหนักขึ้น ในช่วงนี้ ก่อนหน้าจะเกิดปัญหาชายหาด อยู่ออกไป 20 กว่าเมตร จนปัจจุบันกัดเซาะกลืนชายหาดไป มาจนถึงตัวบ้านประชาชน ประกอบกับระยะหลังมาทะเลจะมีหน้ามรสุมมากกว่าในอดีต ส่งผลทำให้ช่วงน้ำใหญ่ เกิดน้ำทะเลหนุน และพายุ จะทำให้น้ำกัดเซาะ คลื่นซัดบ้านเรือนหนักขึ้น แต่ปีนี้จะหนักกว่าทุกๆ ปี กระทบตามแนวชายหาดมดตะนอย เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 13 หลัง

นายณัฐวัฒน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางตน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ประสานไปทาง อบต.เกาะลิบง นายอำเภอกันตัง โดยได้เข้ามาดูแลความเดือดร้อน ของชาวบ้านมาโดยตลอด ส่วนทาง อบต.ก็ได้จัดสรรงบประมาณเข้ามาซ่อมแซมบ้านประชาชน ที่พังจากถูกคลื่นซัด ส่วนตนได้ประสาน ผ่านไปยังนายอำเภอกันตัง ให้ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล และหาแนวทางที่จะแก้ไข หรือศึกษาปัญหาอย่างเร่งด่วน และก่อนหน้านี้ทางโยธาธิการและผังเมือง ก็ได้มาเปิดเวทีทำประชาคมที่จะทำเขื่อนป้องกัน การกัดเซาะ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 ปี ซึ่งคงรอไม่ได้ จึงอยากให้ผู้มีอำนาจเร่งเข้ามาหาทางแก้ไขและป้องกันโดยด่วน

เขื่อนใหญ่โคราชน้ำลดครึ่งอ่าง
ที่ จ.นครราชสีมา นายณรงค์ มัดทองหลาง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภายในอ่างเก็บน้ำมูลบน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักของ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุด มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ที่ 53.58 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุทั้งหมด ที่ 141 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุเก็บกัก แต่เป็นน้ำใช้การได้จริงเพียง 46.58 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุเก็บกัก ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 40 ล้านลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกในปีนี้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเกือบร้อยละ 50 เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ ทางอ่างเก็บน้ำมูลบนยังมีน้ำเพียงพอทำการเกษตรอย่างแน่นอน ส่วนช่วงทำนาปรังปีหน้า อาจจำเป็นต้องงดไปก่อน เพราะปริมาณน้ำเก็บกักอาจเหลือน้อยต่ำกว่าปกติ

นายณรงค์กล่าวอีกว่า นอกจากปริมาณน้ำที่เหลือค่อนข้างต่ำแล้ว ที่ผ่านมา เขื่อนมูลบนยังมีปัญหาเรื่องของการจัดสรรน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการส่งน้ำตามที่เกษตรกรร้องขอที่ไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จึงดำเนินการโครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม เป็นโครงการนำร่องของประเทศ ที่นำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำภายในเขตชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ให้มีความรวดเร็ว ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์ โดยพัฒนาระบบควบคุมการแบ่งจ่ายน้ำอัจฉริยะ จากอาคารเอาต์เล็ต ไปยังระบบคลองส่งน้ำหลัก เพื่อแบ่งจ่ายน้ำสู่พื้นที่จัดการน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลในอาคารเอาต์เล็ต, อุปกรณ์ควบคุมอาคารบังคับน้ำปากคลอง LMC และ RMC รวมทั้งคลอง 4L-RMC และคลองส่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้การใช้ ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ระยองปักธงแดงห้ามลงทะเล
ที่ชายหาดเแหลมแม่พิมพ์ ต.สุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบมีคลื่นลมแรงมาก ร้านค้าริมชายหาดส่วนใหญ่ปิดร้าน จนทำให้บรรยากาศริมชายหาดเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

นายคเชนทร์ แจ่มใส นายกเทศมนตรีตำบล สุนทรภู่ กล่าวว่า หลังจากมีร่องมรสุมพัดผ่าน จนทำให้เกิดฝนตก ทะเลมีคลื่นสูง และลมแรง ทางเทศบาลตำบลสุนทรภู่ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ปักธงแดงตลอดชายหาด เพื่อขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวห้ามไม่ให้ลงเล่นน้ำเด็ดขาด จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ ทุกชายหาดของ จ.ระยอง ได้เกิดคลื่นลมแรงเช่นเดียวกัน โดยมีการปักธงแดงทุกชายหาด เพื่อห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ

ตราดสั่งรับฝนหนักตั้งแต่ 7 ก.ย.
ด้านนายเจริญ รัตนบรรณสกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ฝนตกของจังหวัดตราดจะลดลง แต่ฝนยังมีตกอยู่ ต่อเนื่อง แม้ยังไม่หนักในระดับที่น่าเป็นห่วง แต่ในอีก 2-3 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.เป็นต้นไป ปริมาณฝนตกจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 10 ก.ย. ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบระดับน้ำในคลองหลายแห่งใน อ.บ่อไร่ และเขาสมิงมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น และอาจไหลเข้าท่วม บ้านเรือนเหมือนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น ประชาชน อ.เขาสมิง และ อ.บ่อไร่ ในหลายตำบล ที่เก็บทรัพย์สินอยู่ในที่สูงอย่าเพิ่งนำลงมาจากที่สูง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมยังมี โอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้งในช่วงนี้

นายเจริญกล่าวต่อว่า ส่วนที่ อ.เกาะช้าง และ อ.เกาะกูด ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน แม้จะเป็นพื้นที่เกาะและเมื่อฝนตกลงลงมาน้ำระบายได้ดี แต่หากปริมาณฝนตกมากจะเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาและอาจมีสิ่งของขวางทางน้ำไหลจึงควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาหรือรื้อสิ่งของที่ขวาง ทางน้ำให้หมดเพื่อให้เกิดการระบายน้ำได้ดีขึ้น ส่วนอำเภออื่นๆ ก็ต้องเฝ้าระวัง ด้วยเนื่องจากน้ำไหลจากภูเขาบรรทัดลงมาเช่นกัน

แนะขุดบ่อรับฝนทิ้งช่วงปี 67
“สิ่งที่ชาวตราดและเกษตรกรต้องระวังคือ การขาดแคลนน้ำทั้งภาคการเกษตรกรรมและภาคบริการ เนื่องจากในปี 2566 ฝนตกลงมาน้อยกว่าปี 2565 มาก และสถิติพบว่าในปี 2565 ถึงเดือน ส.ค.2565 มีปริมาณน้ำฝนกว่า 3,000 ม.ม. และทั้งปีจังหวัดตราดมีปริมาณมากเกิน 4,000-5,000 ม.ม. แต่ในปี 2566 ถึงเดือน ส.ค. มีฝนตกลงมาเพียง 2,000 ม.ม. ซึ่งเหลืออีก 1-2 เดือนอาจจะไม่ถึง 3,000-4,000 ม.ม. โดยคาดว่า ปี 2567 จะเกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรเนื่องจากต้องใช้น้ำมาก โดยเฉพาะทุเรียนที่ต้องใช้น้ำมาก ซึ่งในช่วงฤดูแล้งหากไม่ช่วยกันประหยัดน้ำอาจจะส่งผลกระทบมากกับประชาชน ชาวตราดได้เช่นกัน ซึ่งเกษตรกรจะต้องขุดสระหรือขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำ และหากขาดน้ำมากอาจต้องตัดใจปล่อยให้ต้นทุเรียนหรือผลไม้ตาย ก็ต้องทำ หรือการรดน้ำเพื่อรักษาต้นไม้แบบวันเว้นวันก็ต้องทำ วันนี้จึงต้องรีบเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในช่วงขาดน้ำจริงๆ” นายเจริญกล่าว

ขณะที่นายบัณฑิต กูลพฤกษี สมาชิกสภาเกษตรกร จ.ตราด และปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า ปริมาณน้ำสะสมของจังหวัดตราดจาก 7 อ่างเก็บน้ำสำคัญ และประตูน้ำ รวมทั้งแหล่งน้ำขนาดเล็กยังมีเพียงพอในพื้นที่ชลประทานตราด แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกผลไม้ ซึ่งต้องใช้น้ำมาก ซึ่งทุเรียนเกษตรกรมีการปลูก เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และทุเรียนจำเป็นต้องใช้น้ำมาก ซึ่งเกษตรกรรายใหญ่น่าจะเตรียมการไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เกษตรกรรายย่อยและปลูกในพื้นที่สูง ทางราชการจะต้องเข้ามาช่วย เพราะในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 จะใช้น้ำมาก ทั้งนี้ควรจะสร้างพื้นที่เก็บน้ำในพื้นที่ด้วย

อุตุเตือน 4 ภาคฝนหนัก
เวลา 17.00 น. วันเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยม วิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยม วิทยา ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 20 มีผลกระทบจนถึงวันที่ 6 ก.ย.2566 จากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่ง มีดังนี้ ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กในบริเวณ ทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ขอให้ ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่โทร. 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน