ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 15 จนท. กลับคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ซิ่งรถหรูชนดับนายดาบตำรวจเมื่อปี 55 บิ๊กอ๊อด อดีตผบ.ตร.-อดีตรองอัยการสูงสุดโดนด้วย ส่วน ‘เพิ่มพูน ชิดชอบ’ แค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง นอกจากนั้นยังชี้มูลรวด 5 บิ๊กขรก.-นักการเมืองทุจริต อดีตผวจ.อุบลฯ-มุกดาหารตั้งเบิกงบฯภัยพิบัติฉุกเฉินทิพย์ อดีตนายกอบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต อดีตนายกอบจ.สงขลา รวมถึง ‘เจริญ จรรย์โกมล’ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโครงการทิพย์ ส่งเรื่องดำเนินโทษทั้งวินัย-อาญา เรียกคืนเงินแผ่นดินที่โกงไป

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้องนาย วรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 เนื่องจากมีการเปลี่ยนพยานหลักฐานด้านความเร็วของรถไปแล้วจริง เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดนั้นจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับรองรายงานการประชุม ก่อนจะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนต่อไป ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาหลัก เช่น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด (อสส.) โดนชี้มูลความผิดไปทั้งหมดส่วน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้เมื่อครั้งยศ พล.ต.ท. ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดด้วยเช่นกัน แต่เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และส่งเรื่องให้ต้นสังกัดไปดำเนินการทางวินัยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 15 ราย ได้แก่ ทั้งอดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และยังรับราชการอยู่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักการเมือง เป็นต้น

นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการ นักการเมือง และนักการเมืองท้องถิ่น หลายราย ประกอบด้วย 1.นายชาญวิทย์ วสยางกูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผวจ.มุกดาหาร พร้อมพวกออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) โดยมิชอบ และร่วมกันทุจริตการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ของ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 จำนวน 11 ภัย หรือ 11 ครั้ง

ชาญวิทย์ วสยางกูร

มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 91 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10-12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.123/1 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และ คำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สํานวน การไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป รวมทั้งให้แจ้ง ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มบริษัทเอกชนให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

สุรพล สายพันธ์

2.นายสุรพล สายพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผวจ.อุบลราชธานี พร้อมพวก กรณีทุจริตในการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปีงบ ประมาณ 2555 โดยไม่มีภัยระบาดฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนผู้ประกอบการบางราย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สํานวน การไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป รวมทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มบริษัทเอกชนให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

3.นายมาแอ่น สำราญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีละเว้นไม่ดำเนินการกับอาคารโครงการนิว นอร์ดิค ภูเก็ต วอเตอร์เวิลด์ ซอยเชิงทะเล 14 ต.เชิงทะเล ที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 266 (1) และตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไปและให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย

4.นายอุทิศ ชูช่วย เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง นายก อบจ.สงขลา พร้อมพวก กรณีจัดจ้างทําคู่มือการเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดสงขลา สําหรับประชาชน ในราคาสูงเกินจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง เมื่อปี พ.ศ.2556 ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ก่อนที่นายอุทิศจะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกอบจ.สงขลาในเดือนตุลาคม 2556 ได้สั่งการให้น.ส.เฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสํานักปลัดอบจ.สงขลา เร่งจัดจ้างทำคู่มือการเลือกตั้งนายกอบจ.สงขลา สำหรับประชาชน โดยเดือนพ.ค.2556 ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ เป็นผู้รับจ้างไว้แล้ว

ต่อมาเดือนมิ.ย.2556 นายอุทิศลาออกจากตําแหน่งนายกอบจ.สงขลา โดยนายสำรวม รักษาพราหมณ์ ปลัดอบจ.สงขลา ปฏิบัติหน้าที่นายกอบจ.สงขลา ลงนามอนุมัติจัดจ้างทำคู่มือการเลือกตั้งนายกอบจ.สงขลา โดยวิธีพิเศษ จำนวน 450,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 87 บาท ค่าซอง 5 บาท รวม 92 บาท วงเงินในการจัดจ้าง จำนวน 41,400,000 บาท ทั้งที่คณะกรรมการกำหนดรูปแบบรายละเอียด และราคากลางไม่ได้สืบราคาจากท้องตลาดหรือผู้มีอาชีพโดยตรง

พยานหลักฐานในการสืบราคาของสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การจัดทำคู่มือการเลือกตั้งตามคุณลักษณะเดียวกันกับเรื่องนี้จะมีราคาตามท้องตลาดเฉลี่ย เล่มละ 45.93 บาท เมื่อเปรียบเทียบราคาแล้วราคากลางที่อบจ.สงขลากำหนด เพื่อจัดจ้างในโครงการที่กล่าวหาจึงสูงกว่าราคาโดยทั่วไปที่สมควร เล่มละ 46.07 บาท อันทำให้เกิดความเสียหายแก่อบจ.สงขลา เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท และหนังสือคู่มือการเลือกตั้งดังกล่าวยังมีเนื้อหาที่เกินความจำเป็น

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งภายหลังได้รับคัดเลือกเข้าเป็นคู่สัญญากับอบจ.สงขลา มิได้เป็นผู้ประกอบการที่มีอาชีพโดยตรง สถานที่ตั้งไม่มีป้ายชื่อร้าน และไม่มีลักษณะของห้างร้านที่เปิดกิจการร้านค้าหรือประกอบกิจการโรงพิมพ์แต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่า การกระทำของนายอุทิศ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ตามพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และ คำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91(1)(2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป รวมทั้งให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และแจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ต่อไป

5.นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กับพวก ทุจริตโครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ในทางการเมืองการปกครอง โดยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายเจริญเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของกลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือพรรคการเมือง

โดยนายเจริญออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการค่าใช้จ่าย ในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณา กลั่นกรอง กำหนดขอบเขตแนวทางการดำเนินงานจัดกิจกรรมในโครงการตามที่ตนเองสั่งการ

และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานรองประธานสภา ผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง จัดทำและนำเสนอขออนุมัติจัดโครงการสัมมนาในพื้นที่ซึ่ง เป็นฐานเสียงทางการเมืองของตน และพรรคการเมืองของตน และร่วมกันทุจริตจัดทำเอกสารโครงการอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่าย ค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการไม่ได้เดินทางไปจัดโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

การกระทำของนายเจริญ พร้อมพวก จึงเป็นการร่วมกันทุจริตจัดโครงการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้รับอนุมัติ เป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่า การกระทำของนายเจริญ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162(1)(4) ประกอบมาตรา 91 และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

โดยให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และ คำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าวตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรม นูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 มาตรา 91(1)(2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ขณะที่กรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินในการดำเนินโครงการตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 มาตรา 64 ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน