ข้อพิพาทวัดดังนนทบุรี ที่อาศัย‘ฝูงนกแก้วโม่ง’ ชูแหล่งเที่ยวธรรมชาติ

หลายฝ่ายประชุมหาทางออก ‘ต้นยางนาร้อยปี’ วัดมะเดื่อ บางบัวทอง แหล่งอาศัย ‘นกแก้วโม่ง’ ได้ข้อสรุปโดยไม่ต้องตัดโค่นต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ทำลายโพรงรังนก มีภาคเอกชนอาสาสร้างโครงเหล็กค้ำยันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มลงมาเป็นอันตรายกับผู้คน ตัดกิ่งก้านผุพังออก ติดตั้งรังเทียม ต้นยางนาในพื้นที่ ผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับดูนกแก้วโม่ง ที่ตามธรรมชาติเหลือจำนวนน้อยแล้ว

จากกรณีนักอนุรักษ์นำฝูงนกแก้วโม่ง 6-7 คู่ ขุดโพรงทำรังอยู่บนยอดต้นยางนาอายุร้อยปี ภายในบริเวณวัดมะเดื่อ ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านเนื่องจากหวั่นเกรงต้นยางนาที่มีขนาดใหญ่ และยืนต้นตายแล้ว จะโค่นลงมา เป็นอันตรายแก่ผู้สัญจรผ่านไปมา ขณะที่ นักอนุรักษ์ก็ท้วงติงหาโค่นต้นไม้ทิ้งจะทำให้แหล่งอาศัยของนกแก้วโม่งได้รับผลกระทบ และกำลังเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ออกไข่ ต่อมาทางวัดเจ้าของพื้นที่นัดเจรจาทุกฝ่ายเพื่อหาทาออก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่วัดมะเดื่อ พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ พร้อมด้วยนายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นนทบุรี นายกิติภูมิ แสงเดือน นายก อบต.บางรักใหญ่ นายนิติ ธรรมจิตต์ นักวิชาการสมาคมรุกขกรรมไทย และดร.ศรินทร์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง ประชุมหาทางออกเรื่องต้นยางนาร้อยปีกับนกแก้วโม่ง

พระครูนนทปริยัติวิสุทธิกล่าวว่า วัดไม่ได้ต้องการที่จะตัดต้นยางนาเพื่อไล่นก แต่เป็นเพราะยืนต้นตายมานานกว่า 20 ปี ลำต้นเริ่มผุพังลง เกรงจะเกิดอันตรายขึ้นกับผู้คนในชุมชน โรงเรียนชั้นประถม และพระเณร ขนาดแค่กิ่งร่วงหล่นใส่รถของคนที่มาทำบุญ ทางวัดยังต้องรับผิดชอบความเสียหาย จึงอยากให้นักอนุรักษ์เห็นใจวัดด้วย แต่ถ้าหากมีวิธีอื่นในการแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ต้องโค่นต้นยางนา ทางวัดก็ยินดีให้ความร่วมมือ

ยางนา 100 ปี – นักอนุรักษ์ ชาวบ้าน และคณะกรรมการ วัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ได้ข้อสรุปร่วมกันไม่โค่นต้นยางนาอายุร้อยปีที่ยืนต้นตายและเป็นที่อาศัยของฝูงนกแก้วโม่งที่กำลังขยายพันธุ์ โดยเตรียมผลักดันเป็นแหล่งดูนกของจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ก.ย.

ส่วนดร.ศรินทร์ภัทร์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ กล่าวว่าปัจจุบันมีฝูงนกแก้วโม่งอาศัยอยู่ 4 จุด คือวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด วัดไผ่เหลือง อ.บางบัวทอง และวัดมะเดื่อ ตามธรรมชาตินกแก้วโม่งจะขุดโพรงทำรังอยู่บนต้นยางนาที่สูงเท่านั้น ไม่พบสร้างรัง หรือขุดโพรงที่ต้นไม้ชนิดอื่น เมื่อจับคู่ขุดโพรงทำรังแล้วก็จะผสมพันธุ์วางไข่ ใช้เวลาฟักไข่เลี้ยงดูลูกนกอยู่ในโพรงไปจนกว่าลูกนกเริ่มออกบินหาอาหารได้ด้วยตัวเอง การตัดโค่นต้นยางนา เหมือนเป็นการขับไล่นกแก้วโม่งไม่มีที่อยู่อาศัย อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกนกที่ยังบินไม่ได้ นกแก้วโม่งในธรรมชาติเหลือจำนวนน้อย อยากให้ทางวัดหาแนวทางในการอนุรักษ์นกร่วมกัน โดยไม่ต้องโค่นต้นยางนา

ขณะที่นายวัฒนา ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ จ.นนทบุรี กล่าวว่าเตรียมผลักดันให้นกแก้วโม่งและต้นยางนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไปคู่กับสวนทุเรียนนนท์ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้จังหวัดต่อไปได้ แนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นนั้น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ จ.นนทบุรี ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงสร้างเหล็กค้ำยันพื้นให้ต้นยางนา ตัดกิ่งก้านที่ผุพังออก พร้อมติดตั้งรังเทียมไปยังต้นยางนาต้นอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อให้นกแก้วโม่งหาที่ทำรังแห่งใหม่ จะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย








Advertisement

นายกิติภูมิ นายกอบต.บางรักใหญ่ กล่าวว่าหากนำอุปกรณ์มาล้อมยันต้นยางนาให้มั่นคงแข็งแรง สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่ง ก็จะสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกในพื้นที่ จะเป็นผลดีกับชุมชน ทำให้วัดและพื้นที่มีจุดขายที่ผู้คนจะเดินทางมาเที่ยวดูนก นอกจากการอนุรักษ์นกหายากแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนไปในตัวด้วย

ส่วนนายนนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวว่าหลังทุกฝ่ายพูดคุยปรับความเข้าใจกันหาทางออกร่วมกันได้ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ในฐานะสส.พื้นที่พร้อมจะสนับสนุนผลักดันให้วัดมะเดื่อแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกหายากต่อไปในอนาคต ทั้งคนทั้งนกได้ประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน