ปลอมเพจ-สวมรอยแฮ็กข้อมูล ดูดเงินเหยื่อที่ขอคุ้มครองสิทธิ์

ตร.ไซเบอร์เตือนภัยแก๊งมิจฉาชีพแสบ สวมรอยเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้เสียหายถูกหลอกให้เตรียมเอกสาร ยื่นคำร้องขอรับคืนเงินด้วยการปลอมเพจตร.ไซเบอร์ ใช้ตราสัญลักษณ์ คัดลอกเนื้อหา รูปภาพ ข้อความจากเพจจริงมาใช้ตุ๋นเหยื่อ ให้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการถูกฉ้อโกงออนไลน์ อ้างช่วยกู้คืนความเสียหายได้หลอกให้ถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชน นำไปแฮ็กบัญชีหลอกยืมเงิน ดูดเงิน ขายข้อมูลให้แก๊งคอล

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ตามที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงและได้รับความเสียหาย โดยให้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืน ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทำความผิด หรือชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ในช่วงระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-13 ธ.ค.66 นั้น กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ตรวจสอบพบว่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสดังกล่าว สร้างเพจเฟซบุ๊กตำรวจไซเบอร์ปลอม ลอกเลียนแบบเพจจริง โดยใช้ชื่อเพจว่า “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หลอกลวงให้ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการถูกฉ้อโกงออนไลน์ พร้อมให้ส่งหลักฐานไปให้ อ้างว่าสามารถช่วยกู้คืนความเสียหายได้ เมื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อ ติดต่อไปยังเพจดังกล่าว มิจฉาชีพจะเริ่มสอบถามว่ามีเรื่องใดให้ช่วยเหลือ ถูกหลอกลวงเรื่องใด มีมูลค่าความเสียหายเท่าไร ไปจนถึงการขอหลักฐานทางคดีที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการพูดคุยกับคนร้าย หลักฐานการโอนเงินไปยังบัญชีคนร้าย แพลตฟอร์มที่ถูกหลอกลวง เป็นต้น

จากนั้นจะขอให้ผู้เสียหายถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชนอ้างว่าเพื่อยืนยันตัว นอกจากนี้ ยังใช้ตราสัญลักษณ์ของบช.สอท.คัดลอกเนื้อหา รูปภาพ และข้อความจากเพจจริงมาใช้ โดยมิจฉาชีพอาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำข้อมูลไปขายให้กับแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ เป็นต้น รวมถึงสร้างเรื่องราวให้ติดต่อกับทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายไอที อ้างว่าสามารถติดตามกู้คืนทรัพย์สินที่สูญเสียไปกลับ คืนมาได้ โดยวิธีการโจมตีแพลตฟอร์มเว็บไซต์พนันออนไลน์ตามที่เคยได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปก่อนนี้

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวต่อว่า การกระทำ ดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดฯ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“บช.สอท.โดยพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานของรัฐ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน” โฆษก บช.สอท.กล่าว

โฆษก บช.สอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมายังคงตรวจสอบพบเพจหรือเว็บไซต์ในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในการใช้งานหรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดีซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไป เเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการประกาศโฆษณา หรือมีชื่อเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อคล้ายกับของหน่วยงานนั้นจริงเท่านั้น

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กปลอม ดังนี้ 1.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทร.สอบถามหรือปรึกษาได้ที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 08-1866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแช็ต บอต @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

2.ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในความผิดมูลฐาน เช่น การหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน (Hybrid Scam) การหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) เป็นต้น ท่านสามารถตรวจสอบขั้นตอน และวิธีการยื่นคำร้องคุ้มครองสิทธิได้ที่เพจ “ตำรวจไซเบอร์-บช.สอท.”

3.บช.สอท.และหน่วยงานในสังกัดไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อกับทนายความ หรือให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำการติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปกลับคืนได้ 4.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม

5.เพจเฟซบุ๊กจริงมักจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป 6.เพจเฟซบุ๊กปลอม หากตรวจสอบความโปร่งใสของเพจจะพบว่าสร้างขึ้นมาได้ไม่นาน และอาจเคยเปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นที่น่าสงสัย หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย

7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด 8.การพิมพ์ชื่อหน่วยงานเพื่อค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานใดๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ

9.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามและแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที 10.หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่แอบอ้างก่อนที่จะได้รับบริการใดๆ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน