กลุ่มผู้บริหารรร.มัธยม ขอรัฐดูแลวินัยการเงินช่วยให้ลดลง-ไม่กู้เพิ่ม

นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ร้องรัฐบาลดูแลแก้ไข ‘หนี้ครู’ พุ่ง 1.4 ล้านล้านบาท จากครูทั้งระบบกว่า 9 แสนคน เผยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูครองแชมป์เจ้าหนี้รายใหญ่กว่า 8.9 แสนล้าน คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมด ระบุมีทั้งลูกหนี้ชั้นดีและหนี้เสียที่เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน ในส่วนหนี้ที่ก่อเกิดรายได้ สร้างอนาคต และดูแลพ่อแม่ไม่ต้องแก้ไข อยากให้รัฐช่วยแก้ไขหนี้ที่เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน เช่น เล่นหวย ลอตเตอรี่ และการค้ำประกันเพื่อนครู แนะศธ.มอบหมายสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าภาพหาทางแก้ไข เน้นสร้างวินัยการเงิน ไม่สร้างหนี้สินใหม่ ควบคุมกำกับวินัยบุคลากรครู มีบทลงโทษครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันครูทั้งระบบกว่า 9 แสนคน ยอดหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้ รายใหญ่ที่สุดคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.9 ตามด้วย ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.12 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.4 ทั้งนี้ หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน ทุกรัฐบาล พยายามแก้ไขแต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่รู้สภาพที่แท้จริงของหนี้สินครู สภาพโดยรวมของหนี้สินครูมีหลายลักษณะ เพราะมีทั้งลูกหนี้ชั้นดีและมีเป็นส่วนน้อยที่เป็นหนี้เสียก่อให้เกิดปัญหา คนกลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ตนขอเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้สินที่ทำได้เป็นรูปธรรมและสำเร็จแน่นอน

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า แนวทางสำคัญอยากให้สำรวจสภาพหนี้ แบ่งเป็น 1.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้ 2.หนี้เพื่อการสร้างอนาคต คือหนี้ที่กู้ไปสร้างบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ เป็นหนี้สินที่ครูสามารถชำระได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการแก้ไขอะไร 3.หนี้สินที่เกิดก่อนมาเป็นครู เช่น เงินกู้เรียน เมื่อมาเป็นครูแล้วสามารถชำระหนี้ได้ แต่ควรติดตามเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่ 4.หนี้ในการเลี้ยงดูบิดามารดา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะถือว่าบุคคลนั้นมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว แต่ควรติดตามกำกับ ไม่ให้ก่อหนี้ใหม่ 5.หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน จากการฟุ่มเฟือยเล่นการพนัน เช่น หวย ลอตเตอรี่ หนี้สินประเภทนี้ทำให้ครูหมดอนาคตและไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลควรเข้าไปแก้ไข และ 6.หนี้สินที่เกิดจากภาระการค้ำประกัน ทำให้ครูไม่สามารถชำระได้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความประมาท ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น รัฐบาลควรช่วยเหลือแก้ไข

นายกสมาคมส.บ.ม.ท. กล่าวต่อว่าแนวทางแก้ไขมีดังนี้ หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัย ให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าภาพดำเนินการรวบรวมหนี้สินทั้งหมดที่อยู่ในข้อนี้แล้วจัดสรรลำดับความจำเป็นในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และได้รับความร่วมมือจากครูที่เป็นหนี้ตามข้อนี้ โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหาทางแก้ไขซึ่งมีแนวทางที่ปฏิบัติได้อยู่แล้ว เน้นว่าต้องสร้างวินัยทางการเงินและไม่สร้างหนี้สินใหม่ ส่วนหนี้สินที่เกิดจากการค้ำประกันถือว่าไม่ได้เกิดจากความฟุ่มเฟือยหรือยากจนมาแต่อดีต แต่เกิดจากความหวังดีต่อบุคคลต่างๆ ในการค้ำประกันให้เพื่อนครูหรือญาติพี่น้อง ควรแก้ไขกฎหมายการค้ำประกันว่าสถาบันการเงิน ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับให้ผู้กู้ชำระหนี้จนถึงที่สุดก่อน ถ้าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงควรสืบทรัพย์ไปถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวก่อนบังคับคดีกับครูผู้ค้ำประกัน เมื่อสืบทรัพย์จากครอบครัวแล้วผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ควรมอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหาแนวทางช่วยครูชำระหนี้

“ส่วนแนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบมีดังนี้ ควรเรียกสถาบันการเงินที่เป็น เจ้าหนี้ครูทั้งหมดมาทำข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาผ่อนชำระที่สามารถชำระได้ รวมทั้งการรวมหนี้สินให้อยู่ในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก ควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลักรวบรวมหนี้ รวมถึงต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ครู อบรมสร้างจิตสำนึกให้ครูตระหนักถึงการใช้เงินอย่างพอเพียงกับฐานะตนเอง ตั้งคณะทำงานกำกับลูกหนี้ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ปล่อยให้ครูไปก่อหนี้สินใหม่ขึ้นมาอีก ให้นำเรื่องหนี้สินครูมาเป็นตัวชี้วัดการดำเนินการทางวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพครูกับครูที่ไม่มีวินัยทางการเงิน กรณีนี้ต้องพึ่งพาหน่วยงานระดับสูง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกกฎหมายระเบียบเพื่อควบคุมกำกับวินัยบุคลากรครู มีบทลงโทษครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย เชื่อว่าจะทำให้ครูไม่กล้าก่อหนี้ที่ไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครู เช่น เล่นการพนันซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว” นายณรินทร์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน