อ้างกรมบัญชี-ประกันบำนาญ ลวงลงทุนสินทรัพย์-กำไรสูง แสร้งรัก-อยากมาร่วมใช้ชีวิต

ตร.ไซเบอร์เตือนข้าราชการที่จะเกษียณ อายุอีกไม่กี่วันระวัง 3 ภัยออนไลน์ มิจฉาชีพฉวยโอกาสช่วงนี้แอบอ้างบุคคลหรือบริษัทมีชื่อเสียงตุ๋นลงทุนผู้สูงวัยใกล้เกษียณ เริ่มต้นหลักพันบาทแต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลารวดเร็ว อ้างเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางขอตรวจสอบการรับบำนาญแล้วให้ติดตั้งแอพฯ ควบคุมมือถือ โอนเงิน และหลอกให้หลงรัก เชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตช่วงเกษียณ แล้วให้โอนเงินค่าส่งสิ่งของมูลค่าสูงมาให้

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี จะมีข้าราชการครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือเกษียณอายุราชการนั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวง หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย จากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้างหลอกลวงเอาทรัพย์สิน ดังนี้ 1.หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แอบอ้างบุคคล หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุน หลอกลวงให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว

2.หลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณ หรือกำลังจะเกษียณ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ลงทะเบียนยืนตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญให้อัพเดตข้อมูล จากนั้นหลอกให้ติดตั้งแอพฯ กรมบัญชีกลางปลอมผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้นให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน สแกนใบหน้า ให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ โอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

3.หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน หรือโรแมนซ์สแกม โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์ เป็นชาวต่างชาติ ข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงิน หรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษี ไปให้กับมิจฉาชีพ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 17 ก.ย.2566 การหลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวน 26,827 เรื่อง หรือ 8.18 เปอร์เซ็นต์ ของเรื่องที่รับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด มูลค่าความเสียหาย 14,313 ล้านบาท การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 จำนวน 8,158 เรื่อง หรือ 2.49 เปอร์เซ็นต์ ของเรื่องที่รับแจ้งความออนไลน์ มูลค่าเสียหาย 862 ล้านบาท และหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 12 จำนวน 2,621 เรื่อง หรือ 0.80 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องที่รับแจ้งความออนไลน์ มูลค่าความเสียหาย 881 ล้านบาท

โฆษกบช.สอท.กล่าวว่า บช.สอท. โดยพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ในการ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น หรือโทรศัพท์หลอกลวงเอาทรัพย์สิน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังคงพบว่ามีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอบอ้างโครงการของรัฐ หลอกลวงให้อัพเดตข้อมูลยืนยันตัวบุคคล หรือหลอกลวงสร้างสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อาศัยความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน