เมื่อวันที่ 25 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันเดียวกันถึง 18.00 น. วันที่ 26 ก.ย.ว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ขอให้ประชาชนระวังอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น คลื่นสูง 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่พายุดีเปรสชันที่จะขึ้นชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ที่เมืองกวางงาย หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. ส่งผลกับไทยดังนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ในจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 มีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ที่จ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร, ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ในจ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 บริเวณจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุงและภาคใต้ ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 บริเวณจ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนัก บางแห่ง

ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนในช่วงนี้ว่า เขตบางนามีจุดอ่อน 2 จุดที่เป็นคอขวด คือ ซอยบางนา 30 และคลองบางอ้อ ช่วงซอยสุขุมวิท 103 ถึง 66/1 เป็นช่วงลอดใต้ทางด่วน จึงได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือ ส่วนเขตลาดกระบัง สิ่งสำคัญคือการควบคุมปริมาณน้ำที่คลองประเวศฯ อาจมีน้ำท่วมบางพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังอีก 3 วันข้างหน้า คาดว่าฝนมากขึ้น และมีพายุ โดยกทม.เตรียมพร่องน้ำในคลองทุกจุด จุดที่เฝ้าระวัง คือ เขตบางนา ลาดกระบัง รวมถึงดอนเมืองและบางเขนบางจุด หากฝนตกหนักจริงๆ อาจมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม

ด้านนายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า ช่วงปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือนต.ค. อาจต้องเริ่มบริหารจัดการทบทวนแนวทางต้านภัยแล้ง ปัจจุบันคาดว่าปริมาณน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีเพียงพอ และส่งน้ำมาช่วยฝั่งตะวันออกได้ ทั้งนี้ หากมีพายุเข้าอีก 1-2 ลูก จะส่งผลดีต่อกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ไม่ต้องรับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนภาพรวมมีน้อย แต่มาตกที่กรุงเทพฯ บางส่วน

ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับมือกับฝนที่ตกหนัก และปรากฏการณ์เอลนีโญ

นายประพิศ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำที่ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำน้ำเข้าระบบวันละ 45 ล้านลบ.ม. และระบายออกท้ายเขื่อน 800 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อกิจกรรมต่างๆ ของจ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี โดยเฉพาะการผลักดันน้ำเค็มเพื่อการประปา

ด้านสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่ชุมชนท่าบ้งมั่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และชุมชนใกล้เคียงอีก 3 ชุมชน แม่น้ำมูนเริ่มล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชนที่อยู่ลุ่มต่ำ ทำให้ชาวบ้านที่บ้านถูกน้ำไหลท่วมเริ่มอพยพ และมีแนวโน้มจะต้องอพยพเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน