แบ่งสายลงพื้นที่ แพร่เขตภัยพิบัติ

‘นายกฯเศรษฐา’ สั่งด่วนแก้น้ำท่วมระดมรองนายกฯ-รมต.ลงพื้นที่ดูแลประชาชน ‘แพร่’ประกาศเขตภัยพิบัติสำลักน้ำหนัก-ฝนถล่มข้ามคืนจมทั้งจังหวัด น้ำเซาะหินรางรถไฟขาดกว่า 20 เมตร รถด่วนขบวนกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ตกรางที่ลอง โชคดีไร้บาดเจ็บเสียชีวิต รฟท.เร่งกู้ ประกาศงดเดินรถ-เปลี่ยนเส้นทางวุ่น มท.หนูให้จนท.ทำงานทั้งวันหยุด ‘บิ๊กทิน’ ก็สั่งทหารส่งกำลังช่วยทุกพื้นที่ ‘แม่ฮ่องสอน’ ทั้งดินถล่ม-สะพานพัง ‘สองแคว’สั่งริมน้ำ เร่งเก็บข้าวของ น้ำยมเริ่มเอ่อจม‘พิจิตร’ น้ำป่าเขาใหญ่-ทับลานก็บ่าปราจีนฯ

นายกฯห่วงน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โพสต์ข้อความในแอพพลิเคชั่นเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) @Thavisin ว่า “หลังจากผมได้รับรายงานสถานการณ์ น้ำท่วมที่จังหวัดแพร่ ผมได้สั่งการให้ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์โดยเร่งด่วน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพราะคาดว่าจะมีน้ำท่วมขังอีกประมาณ 1-2 วัน”

นายกฯ ระบุว่า ขณะนี้น้ำกำลังถูกระบายไปตามแม่น้ำยม ซึ่งอาจเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก ทางกรมชลฯ ได้เร่งระบายน้ำไปทางแม่น้ำน่านเพื่อลดผล กระทบ ขณะที่ได้สั่งการให้ผวจ.สุโขทัยและพิษณุโลก เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ สำคัญที่สุดคือต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน ผมขอให้พี่น้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือด้วยนะครับ โดยเก็บข้าวของขึ้นที่สูงก่อน และหากขาดเหลืออะไรสามารถประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การช่วยเหลือได้ทันที เราทุกคนจะทำงานเต็มที่เพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย

ระดมรองนายกฯลงพื้นที่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นายเศรษฐามอบหมายรองนายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย โดยในวันที่ 1 ต.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รอง นายกฯ และรมว.มหาดไทย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เพื่อติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และเส้นทางรถไฟ เสียหายจากสาเหตุน้ำป่าไหลหลาก

โดยนายสมศักดิ์มีกำหนดเดินทางถึง สนามบินจังหวัดสุโขทัยในเวลา 08.20 น. ก่อนจะเดินทางลงพื้นที่ตรวจ จุดที่ 1 โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย, จุดที่ 2 สถานีรถไฟบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์และเข้าพื้นที่จุดที่เกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟตกราง, จุดที่ 3 ตรวจเยี่ยมและมอบของบรรเทาภัยน้ำท่วมให้ชาวบ้าน บ้านปง ต.ต้าผามอก อ.ลอง จากนั้นเดินทางไป จ.สุโขทัย ตรวจเยี่ยมในจุดที่ 4 บริเวณที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก เข้าประชุมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

ดินสไลด์ – ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่นล้มทับรถกระบะที่วิ่งผ่านถนนหลวงสาย 108 แม่สะเรียง-แม่เหาะ จ.เชียงใหม่ ส่งผลทำให้รถติดยาว โชคดีคนที่อยู่ในรถปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีดินสไลด์ปิดทับอีกหลายเส้นทาง สาเหตุเนื่องจากฝนตกหนัก เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

มท.1 สั่งช่วยชาวบ้าน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ติดตามสถานการณ์น้ำและภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบนอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับหน่วยงานภายใต้กระทรวงและในกำกับของกระทรวงมหาดไทย อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ แม้เป็นช่วงวันหยุดราชการและหากจำเป็นต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้ เจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่ หรือมีการใช้จ่าย งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชน ได้ถูกต้องรวดเร็ว ขอให้เร่งดำเนินการตาม ขั้นตอน ไม่ต้องรอจนวันทำการปกติ เพราะความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้

“ผมเข้าใจเกี่ยวกับข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แต่เนื่องจากความเดือดร้อนของประชาชนต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จึงขอให้ท่านผู้ว่าฯ ในพื้นที่ประสบภัยอยู่เวลานี้ เร่งประสานงานกับทั้ง ปภ.และท้องถิ่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน จุดใดที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบก็สั่งการแก้ไขเพื่อลดอุปสรรค และให้การ ช่วยเหลือถึงมือประชาชนเร็วที่สุด” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

‘บิ๊กทิน’รุดอุดรฯ
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารที่ปฏิบัติภารกิจ ในพื้นที่ อ.เพ็ญ และ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี โดยเข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 2 และศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบก ที่ 24 จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 และชุดช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย กองบิน 23 จัดรถครัวสนามแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน รวมถึงได้พบปะรับฟังปัญหาและมอบถุงยังชีพให้กับผู้แทนในพื้นที่

จากนั้นได้เดินทางไปยังสะพานลาน้าปาว บริเวณตลาดโอท็อป เพื่อตรวจเยี่ยมและให้ กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงได้สั่งการ ให้หน่วยแพทย์ทหารและกำลังพลเร่งเข้า ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในขั้นต้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่น้ำท่วมขัง พื้นที่ริมแม่น้ำสายหลัก และพื้นที่ฝนสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจเสี่ยงกับดินโคลนถล่ม น้ำท่วมเฉียบพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้ รมว.กลาโหมกำชับให้หน่วยในพื้นที่จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือช่างที่จำเป็นเข้าช่วยเหลือประชาชน โดยเสริมแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ต่ำและพื้นที่เขตเมืองจากมวลน้ำขนาดใหญ่ เตรียมการอพยพ จัดรถ ครัวสนามและยานพาหนะอำนวยความสะดวก ไปจนถึงสนับสนุนการฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วมจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ทั้งนี้ให้ยึดแผนบรรเทาสาธารณภัย กห. 2564 และแผนบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ และรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

‘ธรรมนัส’ไปอุบลฯ
ด้านร.อ.ธรรนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ตรวจสภานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แสดงความเป็นห่วงน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมน่าจะขึ้นสูงสุดที่ 113.05 ม.รทก. หรือ 8.05 เมตร จะทำให้มีน้ำท่วมชุมชนตามริมแม่น้ำที่เป็นที่ลุ่มต่ำ

ร.อ.ธรรนัสกล่าวว่า ปีนี้โชคดีที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าแม่น้ำมูนมาก ทำให้การระบายน้ำท่วมจากแม่น้ำมูนลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็ว ดังนั้นได้มอบให้กรมชลประทานหาวิธีเร่งระบายน้ำมูนอย่างไรให้ลงสู่แม่น้ำโขงเร็วที่สุด ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมีการทำโครงการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ เพื่อเบี่ยงน้ำไม่ให้น้ำจากแม่น้ำมูนและแม่น้ำชีไหลมารวมในเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องหารือในรัฐบาล เพื่อมาใช้แก้ปัญหาในระยะต่อไป

ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี, วารินชำราบ, ม่วงสามสิบ, เหล่าเสือโก้ก และตระการพืชผล เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

ฤทธิ์น้ำป่า – น้ำป่าซัดพัดถล่มพื้นที่ จ.แพร่ หลายอำเภอ ทำขบวนรถไฟด่วนพิเศษ ที่ 13 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ตกรางระหว่างสถานีแก่งหลวง-บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ สายเหนือต้องงดเดินรถผ่านชั่วคราว รฟท.เร่งแก้ไขแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

เร่งกู้ด่วนพิเศษตกราง
วันเดียวกัน นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์ฝนตกหนักหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำไหลเข้าท่วมทางรถไฟระหว่างสถานีแก่งหลวง-บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ ส่งผลให้ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ตกรางและขบวนรถอื่นในเส้นทางสายเหนือไม่สามารถเดินรถผ่านได้นั้น

เบื้องต้นหลังเกิดเหตุนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม สั่งการกำชับรฟท.เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้โดยสาร และจัดการดูแลผู้โดยสารให้เดินทางต่อถึงที่หมายให้รวดเร็ว เรียบร้อย ปลอดภัย พร้อมกับเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงทางรถไฟ เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้รฟท.ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และรายงานสาเหตุของความเสียหาย ตลอดจนแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีก พร้อมกันนี้ยังให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากเกิดเหตุจำเป็นให้รายงานต่อรมช.คมนาคมเพื่อสั่งการโดยทันที

ทั้งนี้ ภายหลังได้รับการมอบหมาย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ การรฟท. สั่งการให้ผู้บริหารลงพื้นที่เกิดเหตุและให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการยกรถที่ตกรางอย่างเร่งด่วน โดยคาดว่าจะสามารถยกรถที่ตกรางแล้วเสร็จภายในวันเดียวกันนี้

ขณะที่ การดูแลผู้โดยสารไม่พบผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด รฟท.จัดรถอำนวยความสะดวกขนถ่ายผู้โดยสารเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยเป็น ที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนการปรับปรุงเส้นทาง เจ้าหน้าที่ได้ลงสำรวจพื้นที่แล้ว พบเส้นทางรถไฟช่วงระหว่างสถานีแก่งหลวง-บ้านปิน ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางรถไฟได้รับความเสียหาย มีน้ำกัดเซาะหิน บนทางรถไฟระยะทางประมาณ 20 เมตร เร่งดำเนินการซ่อมแซมให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

งดเดินรถ-เปลี่ยนเส้นทาง
จากสถานการณ์ดังกล่าว รฟท.จึงมีเหตุจำเป็นขอแจ้งปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของขบวนรถในเส้นทางสายเหนือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังมีความจำเป็นในการเดินทาง พร้อมกับแจ้งงดเดินรถบางขบวน ให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์และความปลอดภัยของผู้โดยสาร ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-วันที่ 1 ต.ค. โดยมี รายละเอียด ดังนี้

วันที่ 1 ต.ค. ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทาง จำนวน 3 ขบวน 1.ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 7 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ เดินรถเฉพาะช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ศิลาอาสน์ 2.ขบวนรถเร็วที่ 102 เชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เดินรถเฉพาะช่วงศิลาอาสน์-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 3.ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 8 เชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เดินรถเฉพาะช่วงศิลาอาสน์-สถานีกลางกรุงเทพ อภิวัฒน์ และงดเดินขบวนรถ จำนวน 2 ขบวน 1.ขบวนรถด่วนที่ 52 เชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2.ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 14 เชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

สำหรับประชาชนที่ซื้อตั๋วโดยสารไว้ ล่วงหน้าในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หากไม่ประสงค์เดินทางสามารถติดต่อขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสารได้เต็มจำนวน ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสามารถสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้ง ขอให้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางกรุณาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อน เดินทาง รฟท.ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

แพร่ประกาศเขตพิบัติ
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ นายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ.แพร่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนตกหนักส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อ.ลอง บริเวณหมู่ที่ 1-2, 4-5, 7, 9-10, และ12 ต.บ้านปิน, หมู่ที่ 1, 9, 11-12 และ 14 ต.ห้วยอ้อ, หมู่ที่ 3-10 ต.ป่าสัก หมู่ที่ 3-9, 12-13 และ 15-16 ต.แม่พุง, หมู่ที่ 2-3, 5-9 และ 11 ต.วังชิ้น, หมู่ที่ 1-8 ต.แม่เกิ๋ง และหมู่ที่ 2, 4 และ 6-8 ต.ป้าก ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.เวลา 01.00 น. อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ประกอบกับแผนการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประกาศ ให้พื้นที่ดังกล่าวข้างต้น เป็นเขตพื้นที่ ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในพื้นที่ จ.แพร่ เกิดฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่คืนวันที่ 29 ก.ย. ถึงเช้าวันที่ 30 ก.ย. ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง โดยเขตเทศบาลเมืองแพร่ บริเวณถนนยันตรกิจโกศล หน้าร.ร.พิริยาลัย แยกเจริญราษฎร์ แยกเหมืองหิต แยกร.พ.แพร่ แยก กอดเปา ต.ทุ่งโฮ้ง มีน้ำท่วมขังสูงรถยนต์ ผ่านไปมาทำน้ำสาดเข้าร้านค้าข้างทางได้รับความเสียหาย จนเกิดมีปากเสียงทะเลาะกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องเข้าระงับเหตุ ส่วนที่ต.บ้านถื่น หมู่ 5 น้ำท่วมขังบ้านชาวบ้านหลายหลังคาเรือน ปภ.เทศบาลตำบลบ่านถิ่น ต้องนำเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือ

แม่ฮ่องสอนดินถล่ม-สะพานพัง
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หมวดการทางแม่สะเรียง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สะเรียง ตำรวจสภ.แม่สะเรียง กู้ชีพกู้ภัยแม่สะเรียง กู้ภัย อบต.แม่เหาะ ผู้ใหญ่บ้านแม่เหาะและ ชาวบ้านแม่เหาะ ช่วยกันตัดกิ่งไม้ เอาสิ่งกีดขวางออกจากเส้นทางสัญจร หลังเกิดเหตุต้นไม้เสาไฟฟ้าหักโค่นเกือบทับใส่รถกระบะสีขาวที่วิ่งผ่านมา นอกจากนี้ยังมีดินสไลด์ปิดทับถนนหลวงสาย 108 แม่สะเรียง-แม่เหาะ ช่วงหลักก.ม.ที่ 177 ส่งผลทำให้รถติดยาว เจ้าหน้าที่เร่งเปิดเส้นทางให้รถสัญจรให้เพียง 1 ช่องทางก่อน เพื่อระบายรถที่ติดยาว และปิดถนนอีกครั้งในช่วงที่ 2 เพื่อเคลื่อนย้าย เสาไฟที่หักโค่น ออกจากเส้นทางสัญจรใช้เวลารวมกว่า 4 ช.ม.

ส่วนในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย ฝนตกหนัก เช่นกัน น้ำในลำห้วยแม่ลาน้อยหลากเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว กัดเซาะจนทำให้บริเวณคอสะพานชำรุด 2 แห่ง ประกอบด้วย สะพานข้ามน้ำลา ม.1 บ้านแม่ลาน้อย และ สะพานข้ามน้ำลา ม.2 บ้านทุ่งสารภี นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอแม่ลาน้อย พร้อมปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง สมาชิก อส. ร้อย.อส.อ.แม่ลาน้อย 5 บูรณาการร่วมกับนายกเทศมนตรีตำบลแม่ลาน้อย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และสำรวจความเสียหาย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัย พร้อมแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ เบื้องต้นไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตต่อไป

ขณะที่ปริมาณน้ำยวมช่วง อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย เพิ่มระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราชการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยพื้นที่ราบลุ่มน้ำยวมให้เฝ้าระวังและติดตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำหลากในห้วงเวลากลางคืน เช่นเดียวกับเส้นทางหลวงถนนสาย 108 แม่สะเรียง-ฮอด หลักก.ม.ที่ 9 น้ำแม่แจ่มเอ่อท่วมถนนจนรถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา

ซัดสะพานขาด – สะพานวังสะแกง ข้ามแม่น้ำปิง เชื่อมระหว่าง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กับ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากซัดท่อนกลางของสะพานหักทลายพังลงมา เจ้าหน้าที่ต้องรีบปิดการจราจร โชคดีขณะเกิดเหตุไม่มีผู้สัญจรผ่าน เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

สะพานเชียงใหม่-ลำพูนถล่ม
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ ได้รับรายงานด่วนจากนายสมพงษ์ มอญแก้ว ผอ.แขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ กรณีสถานการณ์ฝนตกและผลกระทบจากอุทกภัย ถนนสาย ชม.3003 แยก ทล. 108-บ้านหนองล่อง อ.จอมทอง-อ.เวียงหนองล่อง จ.เชียงใหม่-ลำพูน สะพานข้ามลำน้ำปิงเกิดการทรุดตัวลง จำนวน 3 ช่วง ความยาว 60 เมตร รถยนต์ ไม่สามารถสัญจรผ่านสะพานได้

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีสะพานวังสะแกงข้ามลำน้ำปิงพลังถล่มลงแม่น้ำปิงนั้น สะพานดังกล่าวเป็นสะพานเชื่อมเส้นทางระหว่าง อ.จอมทอง เชียงใหม่ กับ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ถล่มลงแม่น้ำปิง โดยมีชาวบ้านสามารถบันทึกคลิปได้บางส่วน ทำให้เส้นทางดังกล่าวถูกตัดขาด รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.31 น. ของวันที่ 30 ก.ย. ทางกรมทางหลวงชนบท ได้นำอุปกรณ์ป้ายเตือนสัญญาณไฟกะพริบ ไปติดตั้งห้ามผ่านแล้วเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง และมีเจ้าหน้าที่ คอยติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สองแควเร่งเก็บข้าวของ
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก แจ้งเตือนให้ผู้ใช้น้ำ และประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำโยมสายเก่า และ แม่น้ำยมสายใหม่ ตั้งแต่ อ.พรหมพิราม อ.เมืองพิษณุโลก และอ.บางระกำ เตรียมเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง ด้วยมีสถานการณ์ฝนตกหนักมากในพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน ของ จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย ประกอบกับอ่างเก็บน้ำแม่มอก มีน้ำล้น spillway ส่งผลให้ปริมาณน้ำแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำ แม่น้ำยมสายหลัก (ในเขต จ.พิษณุโลก) ดำเนินการเปิดการระบายน้ำสูงสุด ยกบานลอยทั้งหมดของประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ และประตูระบายน้ำวังสะตือ อ.กงไกรลาศ ขอให้เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก จากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะปริมาณน้ำหลาก จากฝั่งขวาแม่น้ำยม ทาง อ.คีรีมาศ และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย

พิจิตรสำลักน้ำยม
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ จ.พิจิตร ระดับน้ำในแม่น้ำยมรับน้ำจากจังหวัดภาคเหนือตอนบนไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว สมทบกับมวลน้ำฝนจากลำคลองสาขาต่างๆ ส่งผลให้แม่น้ำยม ที่ไหลผ่านหลายอำเภอ ประกอบด้วย สามง่าม, โพธิ์ประทับช้าง, บึงนาราง และโพทะเล เอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุด ในพื้นที่ ต.รังนก อ.สามง่าม 2 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วยหมู่บ้านเกาะสาริกา หมู่ที่ 4 จำนวน 20 หลังคาเรือน และบ้านปากคลองหมู่ที่ 11 จำนวน 25 หลังคาเรือน รวมจำนวน 45 หลังคาเรือน

ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 ถึง 120 เซนติเมตร ประชาชนต้องเร่งขนย้ายสัตว์เลี้ยง สิ่งของมีค่า ยานพาหนะ และเครื่องมือทางการเกษตร มาไว้บนพื้นที่สูง พร้อมกับนำเรือออกมาพายสัญจรไปมาภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้มวลน้ำจากลำคลองสาขาไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำยมได้เกิดเอ่อล้นพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้างหลายหมู่บ้าน

น้ำป่าเขาใหญ่จมปราจีนฯ
วันเดียวกันมวลน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน หลังจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลทำให้ น้ำป่าจากเทือกเขาทั้ง 2 อุทยานไหลหลาก ลงสู่พื้นที่ราบต่ำส่งผลทำให้พื้นที่ อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง มวลน้ำจากคลองลำพญาธารฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลลงแควหนุมานมาบรรจบกันกับน้ำแควพระปรง จ.สระแก้ว ที่ไหลมารวมกันที่บริเวณต้นน้ำบางปะกงเขตเทศบาลตำบลกบินทร์ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมชุมชนตลาดเก่า ระดับน้ำสูง 30-50 ซ.ม.ถนนเข้าออกชุมชนกลายเป็นคลอง การสัญจรชาวบ้านต้องเดินเท้าเข้าออกสู่ด้านนอก ส่วนพ่อค้าแม่ค้าบางรายต้องหยุดค้าขายชั่วคราวต้องเก็บสิ่งของภายในบ้านหนีน้ำท่วม บางรายอาศัยชั้น 2 ของบ้านเป็นที่พักอยู่อาศัย ส่วนใหญ่เก็บข้าวของหนีไม่ทัน เพราะน้ำได้ไหลข้ามถนนไหลท่วมบ้านอย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน