จับมือกับ288ผู้ประกอบการ ห้าง-ของกิน-เครื่องดื่ม-บริการ ขายถูกลงนาน3เดือนถึงสิ้นปี

รัฐขยับลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ กว่า 1.1 ล้านรายการ ทั้งสินค้า-บริการ จาก 288 ผู้ประกอบการ ลดสูงสุดถึงร้อยละ 87 นาน 3 เดือน ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี คาดช่วยลดค่าครองชีพประชาชน 3,000 ล้านบาท หลังกระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกับเจ้าของกิจการ จนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ‘ภูมิธรรม’เผยเป็นไปตามควิกวิน ที่หวังลด รายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ขอบคุณ ผู้ประกอบการลดให้มากกว่าต้นทุนที่ลดลง

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แถลงว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิตสินค้า ผู้จำหน่าย ห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น ห้างขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง ผู้ให้บริการ ศูนย์บริการรถยนต์ บริษัทขนส่งสินค้าและพัสดุ และแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้กับประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ 288 ราย ปรับลดราคาสินค้าและบริการรวมกว่า 1.1 ล้านรายการ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2566

โดยแบ่งกลุ่มสินค้าที่ปรับลดราคาออกแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1.หมวดสินค้า ลดสูงสุดร้อยละ 87 กว่า 11,546 รายการ เช่น อาหารสำเร็จรูป ลดร้อยละ 87 ข้าวสาร ลดร้อยละ 50 รวม 26 รายการ เครื่องดื่ม ลดร้อยละ 58 รวม 937 รายการ ซอสปรุงรส ลดร้อยละ 50 รวม 355 รายการ ของใช้ประจำวัน ลดร้อยละ 69 รวม 1472 รายการ เครื่องใช้ไฟฟ้าลดร้อยละ 74 รวม 517 รายการ ของตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง ลดร้อยละ 80 รวม 6,253 รายการ ยาและเวชภัณฑ์ลดร้อยละ 66 รวม 48 รายการ และหมวดปัจจัยการเกษตรลดสูงสุดร้อยละ 40 ได้แก่ ปุ๋ย 144 รายการ เคมีเกษตร 39 รายการ และอาหารสัตว์ 15 รายการ

2.หมวดบริการ ลดสูงสุดร้อยละ 69 กว่า 14,130 รายการ เช่น ศูนย์บริการซ่อมและบำรุงรถยนต์ ลดร้อยละ 50 รวม 123 รายการ บริการทางการแพทย์ ลดร้อยละ 20 กว่า 140,000 รายการ การขนส่ง ลดร้อยละ 69 รวม 7 รายการ และ 3.หมวดการค้าออนไลน์ แจกโค้ดส่วนลดสูงสุดร้อยละ 80 ใช้สั่งอาหารและซื้อสินค้าออนไลน์ กว่า 1 ล้านรายการ เช่น แพลตฟอร์ม สั่งอาหาร ลดร้อยละ 60 การค้าอีคอมเมิร์ซ ลดร้อยละ 80

ลดครั้งใหญ่ – นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ร่วมกับผู้ประกอบการเกือบ 300 ราย ปรับลดราคาสินค้าและบริการรวมกว่า 1.1 ล้านรายการ เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการทุกรายที่ออกมาประกาศปรับลด ราคาสินค้าและบริการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในครั้งนี้เป็นเวลา 3 เดือน ถือเป็นการให้กำลังใจ ในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชน คาดว่า การลดราคาครั้งนี้จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นการ จับจ่ายใช้สอยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปลายปีสำคัญช่วยสร้างสมดุลให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ในลักษณะวิน-วิน (Win-win) ทั้งประชาชนผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ ส่วนจะมีการต่อเวลา ปรับลดราคาสินค้าและบริการปีหน้าหรือไม่จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ด้านต้นทุนอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการดำเนินการแบบเร่งด่วนของรัฐบาล

สำหรับผู้ประกอบการ 288 ราย ที่ให้ความร่วมมือในการปรับลดราคาสินค้าและบริการ ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้า ของกินของใช้จำเป็น รวม 88 ราย ผู้จำหน่าย ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น และห้างขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง รวม 83 ราย ผู้ให้บริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการรถยนต์ และบริษัทขนส่งสินค้า/พัสดุ รวม 110 ราย แพลตฟอร์ม 7 ราย อาทิ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บิ๊กซี ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซเว่น อีเลฟเว่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า

นายภูมิธรรมกล่าวถึงการปรับลดราคาสินค้าและบริการที่เกิดจากมาตรการลดค่าไฟและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาล ว่า จากการ วิเคราะห์ของกรมการค้าภายในเบื้องต้นต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงยังไม่ได้ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลงมากนัก แต่ที่ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดราคาสินค้าวันนี้เป็นการลดให้มากกว่าต้นทุน ที่ลดลง ซึ่งครั้งนี้เป็นผลงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำร่วมกันกับผู้ประกอบการ

นายภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ จากทุกภาคส่วน สามารถเสนอแนะนโยบาย หรือปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ หรือแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค หรือมาตรการส่งเสริมอื่นๆ เพื่อหาจุดสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิต ผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการลดราคาสินค้าในครั้งนี้ สำหรับหมวดผู้ผลิต คือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น มาม่า นิสชิน ซื่อสัตย์ ชินไมลาง นม เช่น ไมโล ดีน่า ไวตามิลค์ แลคตาซอย ข้าวสาร เช่น มาบุญครอง ข้าวแสนดี พนมรุ่ง เครื่องปรุงรส เช่น ซอสมะเขือเทศโรซ่า ซอสถั่วเหลือง ไฮนซ์ ซอสหอยนางรมไฮนซ์ โรซ่า เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสภูเขาทอง ของใช้ประจำวัน เช่น คาโอ นีโอ โอสถสภา ยูนิลีเวอร์ สหพัฒน์ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ อาท คัสสัน เครื่องใช้ ไฟฟ้า เช่น New wave Anitech มิซูมารุ

หมวดผู้ให้บริการ ศูนย์บริการรถยนต์ เช่น Fit Auto Deestone Auto clik ไทพลัส, บริการทางการแพทย์ เช่น ร.พ.ธนบุรี ร.พ.ทวีวัฒนา ร.พ.วิชัยยุทธ ร.พ.วิภาวดี, บริการขนส่ง เช่น Airasia Super App นิ่มซี่เส็ง ส่วนแพลตฟอร์มสั่งอาหาร เช่น Grab Lineman Foodpanda Shopee, E-commerce เช่น LASADA Thailandpostmart Shopee Robinhood ขณะที่ผู้จัดจำหน่าย เช่น Big C Lotus Makro Power Buy watson Boots ห้างท้องถิ่น ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เซเว่น-อีเลฟเว่น

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่รัฐบาลนี้ได้ไม่มองแค่ว่า ขอความร่วมมือให้เอกชนเสียสละเพียงอย่างเดียวด้วยการปรับลดราคาสินค้า แต่รัฐบาลพร้อมที่จะเข้ามาช่วยภาคเอกชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย และเปิดโอกาสให้เสนอแนะเรื่องต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย เดินหน้าต่อไปได้ เดิมมองสิ้นปีนี้ว่าเศรษฐกิจจะโตได้ร้อยละ 2.5 แต่เมื่อพิจารณาจากมาตรการ กระตุ้นการท่องเที่ยว วีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าเป้าหมายเดิม

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักงานผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมาม่า กล่าวถึงการปรับลดราคาสินค้าลงตามต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลง ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้ามีต้นทุนจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของมาม่า มีทั้งต้นทุน แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าขนส่ง ค่าจ้างพนักงาน และยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าอีก หากผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ ช่วยกันยอมปรับลดกำไรลงไปพร้อมกับผู้ผลิตก็เชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับลดลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน