ฝนถล่มกรุง หลังคาอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก พังครืนน้ำเจิ่งนองพื้นสนาม ก่อนเริ่มแข่งขัน IWBF วีลแชร์บาสเกตบอล จู่ๆ ฝ้าร่วงลงพื้นก่อนนักกีฬาพาเหรดเข้าสนาม 15 นาที โชคดีไม่มีใครได้รับอันตราย ผู้ว่าฯ กกท.สั่งสอบเกิดจากเหตุโครงสร้างเก่า 60 ปี หรือที่ซ่อมแซมเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ประสานกทม.ขอย้ายไปใช้ สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดง แทน รองนายกฯ สมศักดิ์ ดันขอเขื่อนกั้นแม่ยม แก้ปัญหา น้ำท่วมเหนือตอนล่างอย่างถาวร นายกฯ ตั้งเป้าบริหารจัดการน้ำท่วม รับมือภัยแล้งปีหน้า จัดแผนบูรณาการ ห่วง 4 ปัญหาหากน้ำท่วมพื้นที่อีอีซี เมืองระยองอ่วมอีก ฝนถล่มหนัก แยกทับมา-ศูนย์การค้า-ขนส่งใหม่ รวมทั้งบ้านเรือน จมทันทีครึ่งเมตร บางจุดน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร มิดรถเก๋ง รถดับกลางน้ำอื้อ ระดมสูบน้ำออกจากชุมชน

‘นิด’แจงแผนแก้ท่วม-รับแล้ง
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 3 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ น้ำท่วมว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและเป็นเรื่องแรกของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนใส่ใจเป็นพิเศษ และกำชับสส.ที่อยู่ในการควบคุมดูแลลงพื้นที่ให้มาก ซึ่งต้องดูแลคนที่เดือดร้อนทันที รวมถึงการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูกที่จะ มีการสูญเสีย ต้องมีการชดใช้ ส่วนเรื่องการผันน้ำจะคุยกันต่อเพื่อดูถึงการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่ โดยเราทำงานลักษณะไม่อยากให้เป็นลักษณะวัวหายล้อมคอก

นายเศรษฐากล่าวว่า ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางลงพื้นที่จ.อุบลราชธานี ซึ่งเห็นจากพื้นที่เรียลไทม์ของกรมชลประทานแล้วมีความกังวล เพราะมีพื้นที่น้ำล้นเอ่อเกินจุด ที่สบายใจ โดยตนจะลงไปสั่งการและบอกเจ้าหน้าที่ไปแล้วให้เตรียมแผนงานไว้ด้วย เพราะปีที่ ผ่านมาจ.อุบลราชธานีน้ำท่วมมากและนานมากด้วย หากท่วมแป๊บเดียวพืชผลอาจไม่เสียหายมาก แต่ท่วมนานเสียหายมาก ซึ่งเป็นเรื่อง ที่รัฐมนตรีทุกคนให้ความกังวล ขณะที่นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้รายงานและคงจะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแผนระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า มีเป็นแผนการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งต้องขอเวลาเตรียมงาน เมื่อถามว่าทราบว่ามีความเป็นห่วงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ นายกฯกล่าวว่า เรื่องของน้ำมี 4 ข้อที่ต้องกังวล 1.น้ำอุปโภคบริโภค ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีพออยู่แล้ว 2.น้ำรักษาระบบนิเวศซึ่งมีการบริหารจัดการอยู่ 3.ที่ห่วงมากคือน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และตอนนี้เป็นเรื่องของน้ำท่วม และอีก 6 เดือนจะเป็นเรื่องของแล้ง ตรงนี้ต้องบริหารจัดการอย่างพอเหมาะ การระบายน้ำหากระบายมากเกินไปเก็บในเขื่อนน้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหาแล้ง หากใช้จังหวะที่ฝนตกเยอะระบายน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่เหมาะสมควรจะเก็บจะมีประโยชน์ และ 4.ที่คนพูดถึงน้อยเป็นน้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไฮเทคที่จะเข้ามามีความต้องการน้ำเยอะมาก

ฝนถล่มทำเนียบ-ขรก.ลุยน้ำ
นายเศรษฐากล่าวว่า ปัจจุบันเรายังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน ความจำเป็นใช้น้ำยังมีอยู่ แต่ถ้ามีข่าวออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าเรามีภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี เพียงแต่จะต้องป้องกันโดยทำงานเชิงรุก ต้องดูแลให้ดีภาคอุตสาห กรรมจะต้องไม่มีการขาดแคลนน้ำ ถ้าตรงนี้สามารถบริหารจัดการได้ดีเชื่อว่าจะเป็นการดึงดูดใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในแง่ของไฮเทคที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ได้คุยกับรมว.เกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน มีการให้ความรู้กับภาคเอกชน โดยนำนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความรู้ในภาคอุตสาหกรรมมาให้คำแนะนำและมีการพูดคุยกันว่าต้องทำอย่างไรบ้างต้องการน้ำที่ไหนเท่าไหร่ อย่างไร และหลังจากนี้จะพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มอนิเตอร์กันอย่างใกล้ชิด

ต่อมา เวลา 16.30 น. ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 นายเศรษฐา นายกฯ และรมว.คลัง ได้เดินกลับไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเดินทางไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมพรรค ปรากฏว่าได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณกว้างทั้งสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและบริเวณโดยรอบตึกสันติมนตรี โดยเฉพาะทางเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีและตึกไทย คู่ฟ้า รวมทั้งบริเวณหน้าห้องสื่อมวลชน หรือรังนกกระจอก ที่มีปริมาณน้ำท่วมสูงเกือบถึง หัวเข่า ทำให้รัฐมนตรีหลายคนยังคงติดฝน ไม่สามารถเดินทางกลับออกไปได้ อาทิ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

ขณะที่บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต้องถอดรองเท้าเดินลุยน้ำท่ามกลางสายฝน เพื่อเดินทางกลับออกจากทำเนียบ อย่างทุลักทุเล

สั่งผู้ว่าฯสุโขทัย-แพร่ป้องเมือง
ด้านนายสมศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย หลังจากได้ลงพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ว่า ขณะนี้ อ่างเก็บน้ำและเขื่อนมีการกักเก็บน้ำเกินกว่าร้อยละ 50 ทางภาคกลางยังมีปัญหาอยู่ เป็นพื้นที่ที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง เพราะแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนรองรับ จึงทำให้น้ำเกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมามีจำนวนมากถึง 400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เวลาฝนตกลงแม่น้ำยมไม่ว่าจะผ่านจังหวัดใดจะมีปัญหา จ.สุโขทัย ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นท้องกระทะ เมื่อน้ำจาก จ.กำแพงเพชร พะเยา และแพร่ ล้น จะไหลเข้าสู่จ.สุโขทัย วันนี้ความเสียหายที่ เกิดขึ้นจากพื้นที่เดิมที่ตนเข้าไปในพื้นที่ ตอนนี้ผ่านไป 2 วัน ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมพื้นที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าไร่ เพิ่มเป็น 1.3 แสนไร่ กว่า 4,300 รอบครัว

“ผมได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และสุโขทัยดำเนินการป้องกัน แต่หากยังมีน้ำเติมเข้ามาในพื้นที่จะทำให้มีผลกระทบ โดย น้ำไหลผ่านแนวกั้นมาแล้ว 4 แห่ง ทำให้เกิดผลกระทบที่ จ.สุโขทัย แต่ขณะนี้ ได้ระบายน้ำไปอีกทางหนึ่ง คือระบายไปทาง จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งโครงการการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ยังไม่เรียบร้อยดีแต่สามารถดำเนินการได้ โดยพยายามปล่อยให้เต็มที่ แต่ละจังหวัดที่ อยู่รอบจ.สุโขทัย ไม่มีปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำ ครั้งนี้ปริมาณน้ำไม่หนักเท่าปี 2554 ที่มีความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้น ทำให้เกิดความเสียหายทุกปี ทุกรัฐบาลมีความเข้าใจในการแก้ไขที่จะทำให้เกิดอย่างถาวร แต่ขณะนี้ฝั่งขวาแม่น้ำยม กำลังดำเนินการเรื่องฝายกั้น เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว

ส่วนสถานการณ์ที่แม่น้ำยมได้กัดเซาะพนังกั้นน้ำบริเวณบ้านวังหิน หมู่ 1 ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย วันเดียวกัน ระดับน้ำได้ลดลงกว่า 50 ซ.ม. ถนนสัญจรได้ในบางช่วงแล้ว ประชาชนเริ่มเข้าไปสำรวจความเสียหายของบ้านเรือน แต่ยังคงมีบ้านเรือนอีกหลายหลังที่น้ำยังท่วมสูงเนื่องจากอยู่ในที่ต่ำกว่าแม่น้ำยม ขณะที่สะพานสิริปัญญารัตน์ หรือสะพานวังใหญ่ หมู่ 6 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง ที่ถูกน้ำเซาะจนเป็นโพรงและกระแสน้ำที่ไหลผ่านมีความแรงมาก ได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร หมู่ 6 ต.วังใหญ่ และหมู่ 8 ต.วังทอง ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 ม.มวลน้ำเพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง และแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

5จังหวัดยังท่วมขัง
วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-3 ต.ค.เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด 95 อำเภอ 323 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 25,217 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด 25 อำเภอ 103 ตำบล 492 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,963 ครัวเรือน ได้แก่ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จ.กาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขอแจ้งไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่ แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”

ขณะที่ สถานการณ์แม่น้ำยมที่ไหลมาจากจ.พิษณุโลก ส่งผลให้แม่น้ำยมที่จ.พิจิตร มีระดับน้ำอยู่ที่ 5.13 เมตร มีปริมาณการไหล 299 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มสูงขึ้น 10 ซ.ม. จนบางจุดได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงน้ำยังท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ท่วมขังถนนในหมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชน เกือบ 20 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50-70 ซ.ม. ต้องใช้เรือเป็นพาหนะเข้าออกจากบริเวณบ้าน และย้ายสัตว์เลี้ยงไว้บนที่สูง เนื่องจากมีตัวเงินตัวทองออกอาละวาดมากินสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะไก่

ท่วมหนัก – ภาพมุมสูงน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านท่าช้าง ต.ช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ติดกับแม่น้ำยมสายเก่า ชาวบ้านต้องขนข้าวของไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่หลายพื้นที่ยังท่วมหนัก เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

สองแควน้ำบ่าแรงล้นถนน
ที่หมู่ 10 และหมู่ 12 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำยมสายเก่า ต่อไปยังคลองบางแก้ว เขตอ.บางระกำ ระดับน้ำได้สูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วเลยจุดวิกฤตไปแล้ว ส่งผลทำให้น้ำเริ่มไหลบ่าเข้าทุ่งบางระกำโมเดล บางจุดเป็นท่อประตูน้ำขนาดใหญ่ ไหลเข้าสู่ท้องนาที่มีแต่ตอซังฟางข้าว หลังเก็บเกี่ยวไปแล้ว ตามแผนของจ.พิษณุโลก และมีหลายจุดกระแสน้ำได้ไหลบ่าเข้าบ้านเรือนประชาชนหลายสิบหลังคาเรือน และถนนสายหลักของหมู่บ้านถูกท่วมเป็นระยะทางยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำในแม่น้ำยมสายเก่าไหลบ่าข้ามถนน ที่เสมือนกับเป็นฝายแนวยาวกั้นระหว่างแม่น้ำยมกับทุ่งบางระกำโมเดล ไหลเป็นน้ำตกตลอดแนวถนนไปสู่หมู่ 12 ต.ท่าช้าง ส่วนชาวบ้านเริ่มขนข้าวของเครื่องใช้ขึ้นบนที่สูงกันแล้วเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่น้ำท่วมทุกปีช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างใช้เรือพลาสติกขนข้าวของ ผ้าห่ม เสื่อ ที่นอน พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า ใส่เรือมาตรงจุดที่อบต.ท่าช้างจัดเตรียมไว้ให้เป็นที่พักชั่วคราวไว้ให้ พร้อมนำรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ มาจอดไว้บนถนน ซึ่งทางอบต.ท่าช้างจัดจุดพักชั่วคราวไว้ให้หลายจุด นอกจากนั้นยังกางเต็นท์ไว้ตามพื้นสูงและถนนในหมู่บ้านด้วย

ทั้งนี้ มวลน้ำที่ไหลมาจากน้ำ จ.สุโขทัย ได้หลากเข้าทุ่งบางระกำ 135,500 ไร่ ประมาณ 224 ล้านลบ.ม. หรือกว่าร้อยละ 56 โดยภายในหนึ่งสัปดาห์ มวลน้ำจะท่วมเต็มทุ่งบางระกำกว่า 400 ล้านลบ.ม. ขณะที่ผวจ.พิษณุโลกสั่งการให้ชลประทานผลักดันน้ำเข้าทุ่งบางระกำให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรบริเวณกว้าง เพราะปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,300-1,320 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากกว่าเดิม ในช่วง 2-3 วันนี้ ซึ่งจะส่งผลให้กระแสน้ำป่าไหลทะลักเข้าพื้นที่เสี่ยง บ้านแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง ได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องเฝ้าระวังป้องกันภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งตลอดเวลา

ทิ้งหินป้องตลิ่งเบนทิศน้ำ
ส่วนที่ริมตลิ่งแม่น้ำปิง พื้นที่ ม.5 บ้านพิกุลทอง ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ได้ถูกน้ำในแม่น้ำปิงซัดเชาะริมตลิ่งจนพังเสียหายเกือบจะถึงบ้านเรือนของประชาชนแล้ว ถนนคอนกรีตที่ใช้สัญจรพังเสียหายจนใช้การไม่ได้ ซึ่งมวลน้ำในภาคเหนือและพื้นที่จากฝนตกต่อเนื่องได้ไหลลงแม่น้ำปิงไหลเชี่ยวแรงและเพิ่มปริมาณสูงขึ้นทำให้ตลิ่งที่ถูกน้ำเซาะอยู่เดิมทำเสียหาย ระยะทางกว่า 100 เมตร ขณะที่ชาวบ้านได้รีบช่วยกันขนของออกจากภายในบ้านก่อนที่ตลิ่งจะพังและบ้านถล่มไหลลงไปกับสายน้ำ โดยบริเวณดังกล่าวมีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้ตลิ่งเกือบ 10 หลังซึ่งหากตลิ่งพังจากกระแสน้ำคงต้องอพยพหนีออกเพื่อความปลอดภัย

นายวิโรจน์ นายกอบต.คลองขลุง เผยถึงความช่วยเหลือเบื้องต้นว่า อบต.คลองขลุง จะใช้เงินงบฯ กลาง มาช่วยแก้ไขปัญหา โดยน้ำหินขนาดใหญ่มาทำแนวป้องกันยาว 30 เมตรกั้นไม่ให้ตลิ่งพังจนถึงบ้านเรือนประชาชน ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนทิศทางน้ำไม่ให้กัดเซาะตลิ่งให้พังไปกว่าเดิม ระหว่างที่รองบประมาณการก่อสร้างตลอดแนวในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 50 ล้านบาท

ชัยภูมิลำชีวิกฤต-จมชุมชน
ส่วนสถานการณ์แม่น้ำชีในพื้นที่จ.ชัยภูมิ ยังวิกฤต ภายหลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของจังหวัด น้ำจากเทือกเขาภูแลนคา ไหลลงสู่แม่น้ำชี ตั้งแต่อ.หนองบัวแดง หนองบัวระเหว บ้านเขว้า จัตุรัส ต่อเข้าอ.เมือง ส่งผลให้เกิดน้ำในแม่น้ำชีล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรมากยิ่งขึ้น ตามหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรที่อยู่ติดกับลำน้ำชี มีระดับท่วมสูงขึ้น ที่บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านค่าย น้ำท่วมถนนเส้นทางเข้าวัดกว่า 1 เมตร รถทุกชนิดเข้าออกไม่ได้ วัดบ้านเสี้ยวน้อยถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านต้องหุงข้าว ประกอบอาหารไปถวายพระ สามเณรภายในวัด บ้านเรือนกว่า 140 หลังคาเรือนเดือดร้อน

มิดคัน – ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมสูง ฉับพลันจมรถยนต์มิดคัน บริเวณถนนด้านหน้าสถานีขนส่งใหม่จังหวัดระยอง หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

ฝนถล่มจมเมืองระยอง
ที่จ.อุบลราชธานี แม่น้ำมูนที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง มี แนวโน้มน้ำลดลงจากเมื่อวานนี้ 5 ซ.ม. มี น้ำสูง 7.67 เมตร และน้ำล้นตลิ่งอยู่ 67 ซ.ม.

ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออก เกิดน้ำท่วมขังบริเวณศูนย์การค้าระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง หลังฝนตกนานต่อเนื่อง โดยพบว่าถนนภายในศูนย์การค้ามีน้ำท่วมสูง 50 ซ.ม.ถึง 1 เมตร น้ำได้เอ่อเข้าท่วมในบ้านเรือนประชาชน ทำให้การสัญจรไปมาเต็มไปด้วยความยากลำบาก

ส่วนพื้นที่ บ้านหนองมหาด ต.ทับมา อ.เมือง ซึ่งเป็นจุดที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี พบว่าได้มีน้ำท่วมสูง 1 เมตร โดยเฉพาะพื้นถนนที่ท่วมทั้งสาย แต่รถยังสัญจรได้ นอกจากนี้ในพื้นที่สี่แยกบ้านดอน ต.บ้านดอน อ.เมือง น้ำได้ไหลท่วมพื้นถนนเช่นกัน

ขณะที่ถนนหน้าขนส่งใหม่จังหวัดระยอง ต.ทับมา ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ยาว 500 เมตร ทำให้น้ำท่วมรถเก๋งจนมิดหลายคัน รถจอดเสียอยู่กลางน้ำ ชาวบ้านต้องใช้เรือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในรถออก นอกจากนี้น้ำยังท่วมทะลักเข้าไปในบ้านเรือนประชาชนสองฝั่งถนน ขณะทางหน่วยงานต่างๆ เร่งนำเครื่องสูบน้ำมาระบายน้ำ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตก

วาง 2.5 แสนบิ๊กแบ๊กกั้นตลิ่ง
ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจติดตามสภาพอากาศและกลุ่มฝนที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่ากทม. จะมีฝนตกร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยให้เฝ้าระวังกลุ่มฝนวันที่ 3 ต.ค. ถึงเที่ยงคืน และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาทิ บางนา พระโขนง คลองเตย วัฒนา บึงกุ่ม คันนายาว บางเขน ลาดพร้าว ทวีวัฒนา บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งระมัดระวังในการสัญจร จึงได้สั่งการให้เตรียมการรับมือไว้แล้ว ทั้งการพร่องน้ำ เตรียมอุปกรณ์ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์และจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมเข้าแก้ไขปัญหาและดูแลอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างทันท่วงที ในส่วนริมแม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ได้จัดเรียงกระสอบทรายไปแล้วกว่า 250,000 ลูก

หลังคาถล่ม – สภาพภายในสนามอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ถูกฝนถล่มทำให้ฝ้าและคานเหล็กบนหลังคาถล่มลงมา ก่อนการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลคนพิการ โชคดีไม่มีผู้ได้รับอันตราย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

ระทึกโครงหลังคาอินดอร์ถล่ม
วันเดียวกัน เวลา 17.00 น. ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เกิดเหตุระทึกขึ้นก่อนการแข่งขัน IWBF วีลแชร์บาสเกตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ชิงแชมป์โลก หลังฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้โครงเหล็กค้ำหลังคาและฝ้าถล่มลงมาก่อนพิธีเปิดจะเริ่มต้นขึ้นเพียง 15 นาที ทำให้น้ำฝนไหลลงมาเจิ่งนองที่พื้นสนามอีกด้วย โชคดีที่เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เนื่องจากนักกีฬาทั้งหมดอยู่ในโถงทางเดิน กำลังเข้ามาร่วมพิธีเปิด ในที่สุดต้องยกเลิกพิธีเปิดการแข่งขัน

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว เกิดมีฝนตกหนักมาก ซึ่งทำให้มีน้ำขังบริเวณหลังคา ซึ่งเป็นผ้าใบ โดยกำลังตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นว่าเป็นเพราะโครงสร้างเก่า ซึ่งมีอายุเกือบ 60 ปี ได้รับความเสียหาย หรือเป็นเพราะเกิดจากการที่ซ่อมแซมเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่มีปัญหา โดยตนได้ประสาน หารือกับ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. เพื่อขอใช้สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ชิงชัยแทนไปก่อน ซึ่ง กทม.ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างของอินดอร์ สเตเดี้ยมหัวหมาก ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2509

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน