นายกฯ กำชับจัดแผนด่วนบูรณาการแก้ น้ำท่วมเหนือ-อีสาน-ตะวันออก ถกรองนายกฯ สมศักดิ์-รมว.ธรรมนัสเร่งช่วย18 จังหวัดถูกน้ำท่วม พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่ สทนช.เตือน 15 จังหวัด 4 ภาค เสี่ยงน้ำป่า-ดินถล่มถึง 7 ต.ค. แม่ยมทะลักเพิ่ม เมืองสุโขทัยกั้นแนวป้องตลิ่ง กาฬสินธุ์-อุบลฯ ลำชี-แม่มูนน้ำขยายวง เร่งระบายน้ำขัง อยุธยาเร่งบังเกอร์ป้องวัดไชยวัฒนารามหลังเจ้าพระยาเอ่ออีกเมตรเศษแตะตลิ่ง เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ แม่น้ำน้อย ลำน้ำสาขา พร้อมอพยพ นายกแจ๊ดประกาศ อ.หนองเสือพื้นที่ภัยพิบัติ จี้ลอกผักตบ สิ่งกีดขวางทางน้ำรับมวลน้ำเหนือบ่าทั้งจากสระบุรี-นครนายกไหลทะลักลงคลองสิบสาม ปทุมธานี

ฝนข้ามเดือนท่วมแล้ว 28 จว.
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-4 ต.ค. เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ตราด กาญจนบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สตูล และยะลา รวมจำนวน 95 อำเภอ 344 ตำบล 1,596 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,510 ครัวเรือน โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร และอุบลราชธานี รวมจำนวน 22 อำเภอ 118 ตำบล 702 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผล กระทบ 24,454 ครัวเรือน

กอปภ.ก. รายงานว่า ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง ยังคงมีที่จ.กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” ไลน์ไอดี @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”

‘นิด’ชู 3 เดือนท่วม-แล้งดีขึ้น
เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษงาน Thailand Economic Outlook 2024 : Change the Future Today หัวข้อ Empowering Economy the Big Change ว่า ภาคเกษตรกรรมของไทย เป็นภาคส่วนที่น่าสงสารที่สุด เพราะรายได้ชักหน้า ไม่ถึงหลัง และสาเหตุที่รัฐบาลต้องมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร เพราะยังมีปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง แม้จะมีเงิน ชดเชยภัยพิบัติก็มั่นใจว่าเกษตรกรไม่ได้ต้องการ และต้องการมีรายได้ให้มากกว่าเงินชดเชยที่ได้รับ

“หากประเทศไทยไม่ท่วมไม่แล้ง เศรษฐกิจไทยจะไปได้ไกลมาก ดังนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำทั้งระบบ เพราะหากรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสูง เงินลงทุนจะไหลออกนอกประเทศหมด แต่หากรัฐบาลลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เงินลงทุนจะอยู่ในประเทศ โดยเป็นการลงทุนน้อย ใช้เพียงความใส่ใจ และแผนบูรณาการอย่างครอบคลุม ซึ่งจะทำให้จีดีพีประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร โดยไม่ต้องชดเชยภัยพิบัติใดๆ รัฐบาลจึงขอเวลาระยะหนึ่ง และตระหนักดีในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปลายสัปดาห์นี้ เตรียมลงพื้นที่จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และจะหาข้อมูลเพิ่มเติม มั่นใจว่า ภายใน 3 เดือนนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกเกิดขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

ต่อมา นายเศรษฐาโพสต์ข้อความว่า เมื่อเช้าก่อนออกไปภารกิจ ได้หารือกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และทีมที่ปรึกษา เรื่องการบริหารจัดการน้ำต่อยอดจากการพูดคุยในวันก่อน ถึงการจัดการน้ำในภาคตะวันออก

“ผมเห็นว่า ในภาคเหนือและภาคอีสาน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแผนบูรณาการจัดการน้ำเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการชลประทานที่ดี ทั้งในภาวะน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันป้องกัน และวางแผนรับมือกันอย่างเป็นระบบซึ่งต้องทำทั้งประเทศ” นายเศรษฐากล่าว

18 จว.เกษตรล่ม 3 แสนไร่
ด้านนายสมศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยสถานการณ์ภาพรวมที่ตนเป็นห่วงคือ ในระหว่างนี้ จนถึงวันที่ 7 ต.ค. จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม เนื่องจากได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนัก ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะก็ด และกัลยาณิวัฒนา จ.ตาก อ.เมือง ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ จ.กำแพงเพชร อ.โกสัมพีนคร คลองสาน และปางศิลาทอง จ.ลำพูน อ.ลี้ และทุ่งหัวช้าง จ.แพร่ อ.วังชิ้น และลอง และจ.ลำปาง อ.เถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา

ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำคือ 1.แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก 2.แม่น้ำยม อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมือง จ.สุโขทัย 3.แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีน้ำหลาก จากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้น 1-1.5 เมตร ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอื่นๆ ที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-3 วัน ยังมี ศรีสะเกษ สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด และนราธิวาส

ขณะที่ในพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายแล้ว 18 จังหวัด รวม 314,829 ไร่ ได้แก่ ลำพูน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาถึงมาตรการช่วยเหลือ

เร่งระบายท่วมเมืองสุโขทัย
ด้านนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย มอบหมายให้หัวหน้าปภ.สุโขทัย ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลของ ปภ.เขต 9 พิษณุโลก มาติดตั้งบริเวณหลังวัดปากแคว ที่ถูกน้ำท่วมขังแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมาเวลา 20.30 น. โดยมีอัตราการสูบน้ำลงในแม่น้ำยมได้ 15,000 ลิตร ต่อนาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมขังบริเวณหลังวัดปากแควลดลง

ส่วนน้ำที่กัดเซาะพนังบริเวณบ้านวังหิน หมู่ 1 ต.ปากแคว มวลน้ำยมไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 8 หมู่บ้านกว่า 350 หลังคาเรือน และถนนคอนกรีต 3 สาย วัด 1 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง และเสาไฟฟ้าแรงสูง 4 ต้น โดย อบต.ปากแควเข้าแก้ไขซ่อมแซมเพื่อให้ได้ใช้ก่อนชั่วคราวแล้ว

ขณะเดียวกัน แม่น้ำยมจากประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลองยม-น่าน ปริมาณน้ำที่ผันมาจากจุดนี้ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรตั้งแต่ ต.ในเมือง ต.คลองยาง อ.สวรรคโลก ซึ่งปริมาณน้ำที่ผันมามีปริมาณที่มากและไหลแรงก่อนที่มวลน้ำก้อนนี้จะไหลไปยังบริเวณคลองน้ำไหล อ.ศรีนคร ซึ่งจะผ่านจุดสะพานรถไฟ คลองน้ำไหล ที่มุ่งหน้าจากสถานีศรีนครไปยังสถานีสวรรคโลก มวลน้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไหลแรงจนท่วมสะพานทางรถไฟ ทำให้ต้องหยุดเดินรถขบวนท้องถิ่นที่ 405/406 ศิลาอาสน์-สวรรคโลก ไปก่อนจนกว่าระดับน้ำจะลดลง

ลำน่านล้น-พิจิตรปักธงเหลือง
ที่ จ.พิจิตร แม่น้ำยมอยู่ที่ระดับ 5.15 เมตร มีปริมาณน้ำ 301 ลูกบาศก์เมตร (บล.ม.) ต่อวินาที และเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 2 ซ.ม. จนบางจุดได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวกว่า 30 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านวังเทโพ ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ที่กำลัง ชูช่อออกรวง ต้องถูกน้ำที่ไหลหลากจาก จ.กำแพงเพชร และแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมจนมิดคอรวงข้าว ขณะที่บ้านเรือนกว่า 150 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.สามง่าม และ อ.โพธิ์ประทับช้าง 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ยังถูกน้ำท่วมขังนานเกือบ 1 สัปดาห์ และยังคงเฝ้าระวังมวลน้ำไหลมาจากจ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ที่จะไหลมาสมทบในพื้นที่จ.พิจิตร

ด้านนายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผวจ.พิจิตร รักษาราชการแทนผวจ.พิจิตร กล่าวว่า จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมชลประทาน ได้ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคงและพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก, ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

เร่งบังเกอร์ป้องวัดไชยฯ
ด้านนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบการติดตั้งแนวบังเกอร์สำเร็จรูปป้องกันน้ำท่วม โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรี อยุธยา ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เหลืออีก 1.30 เมตรจะถึงตลิ่งของวัด

โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.18, ม.4 พัน 11 รอ. และเจ้าหน้าที่ อส.ฝ่ายปกครองเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเร่งติดตั้งแนวบังเกอร์ความยาว 165 เมตร ตลอดแนวโบราณสถานวัดไชยฯ ด้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่มาจากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,449 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำเพิ่มมาก ขณะที่การ ติดตั้งแนวบังเกอร์ ใช้เวลาประมาณ 2 วันจะแล้วเสร็จ ส่วนในพื้นที่ของ อ.ผักไห่ และ อ.เสนา พี่น้องประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกันน้ำเริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว หากมีการระบายน้ำถึง 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผล กระทบ พื้นที่พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน พื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ จึงได้สั่งการให้ผู้นำท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน พร้อมกับดูแลให้ความช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองสาขาที่รับน้ำจากแม่น้ำ ส่วนประชาชนให้คอยฟังประชาสัมพันธ์การระบายน้ำคลองเขื่อนตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันอย่างทันท่วงที

แจ๊ดห่วง‘หนองเสือ’วิกฤต
ที่วัดนิเทศน์ราษฎร์ประดิษฐ์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย น.ส.พัชร์ชิสา พชิระธารีรัตน์ รองนายกอบจ. และนายสายเทพ จันบางพลี ส.อบจ.ปทุมธานี ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและรับทราบปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝน

จากนั้นพล.ต.ท.คำรณวิทย์และคณะได้ลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำประตูระบายน้ำปากคลอง 2 คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ต.หนองสามวัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี และตรวจการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และสำรวจเพื่อเตรียมการรับมวลน้ำที่ประตูระบายน้ำคลอง ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ ที่เริ่มมีระดับน้ำสูงขึ้น

น้ำสระบุรี-นครนายกบ่าคลอง 13
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า อ.หนองเสือประสบอุทกภัยค่อนข้างวิกฤต และมวลน้ำก็หลากมาทางอ.ลำลูกกา จึงไม่อยากให้ประชาชนประมาท โดยทางอบจ.ได้นำเครื่องมือหนัก เช่น รถแบ๊กโฮและเครื่องสูบน้ำ 20 ตัว นำมากระจายติดตั้งช่วยเหลือประชาชนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้จากการตรวจสอบพบว่ามีมวลน้ำมาจากจ.สระบุรี และ จ.นครนายก ไหลมารวมที่คลอง 13 จ.ปทุมธานี วิกฤตลามมาถึงลำลูกกาตอนนี้น้ำเต็มคลอง ส่วนปัญหาอีกอย่างคือ หญ้า ผักตบชวา ที่อยู่ในคลองขวางทางน้ำ ทำให้ระบายไม่ได้ เป็นอย่างนี้มายาวนาน แต่อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่อบจ. เราต้องไปขออนุญาตทางกรมชลประทานเพื่อเอาเครื่องมือมาทำ ส่วนกรมชลประทานก็อ้างว่าเขาก็จะใช้งบประมาณของเขาเอามาลง แต่ก็ไม่ลงสักที ซึ่งชาวบ้านรอไม่ได้

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 10 ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว แต่ไม่ได้ประกาศทั้งจังหวัด ต้องระวังอยู่ ติดตามสถานการณ์ไม่ให้ประมาท แต่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ถึงกับวิกฤต ตอนนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้เยอะแล้ว คิดว่าปีนี้คงจะไม่เหมือนปีที่แล้ว ส่วนสะพานไม้บริเวณหน้าวัดนิเทศน์ราษฎร์ประดิษฐ์ที่เก่าทรุดโทรม อายุนานกว่า 30 ปี เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อประชาชนที่ใช้สัญจร ต้องเร่งบูรณะให้ประชาชนใช้งานได้

พนังน้ำชีขาดเพิ่ม-2 พันไร่จม
ส่วนความคืบหน้าหลังระดับน้ำในลำน้ำชี เขตพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ไหลเอ่อท่วมสูง 2 ฝั่ง พื้นที่ อ.จัตุรัส อ.บ้านเขว้า อ.เมือง และ อ.เนินสง่า ส่งผลให้พนังกั้นน้ำแม่น้ำชีพื้นที่ ต.กะฮาด ติดกับ ต.บ้านค่าย อ.เมือง มีมวลน้ำเพิ่มสูง และที่บ้านเสี้ยวน้อย พนังเกิดพังทลายหลายจุดจนชาวบ้านต้องเร่งเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง วัว ควาย ขึ้นที่สูงไปอยู่ในที่ปลอดภัย หลังจากเมื่อวานนี้มวลน้ำได้ไหลทะลักท่วมสูงขึ้นในพื้นที่บ้านเสี้ยวน้อย วัดบ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านค่าย อ.เมือง มีบ้านเรือนของราษฎรในหมู่บ้านเสี้ยวน้อยที่มีอยู่กว่า 140 หลังคาเรือน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำชีที่แตกนั้นมาจากจุดเดิมที่เคยแตกเมื่อปี 2565 และยังพบพนังกั้นลำน้ำชี และมีจุดลำน้ำชีแตกอีกหลายจุด เกิดน้ำไหลทะลักเข้าพื้นที่การเกษตร ทุ่งนา ข้าวกว่า 2,000 ไร่

อุบลฯ สั่งรับน้ำเขื่อนบ่า
ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.อุบลราชธานี ได้เรียกประชุมหน่วยงานก่อนเดินทางไปดูการสูบน้ำออกจากชุมชนท่ากอไผ่ เทศบาลเมืองวารินชำราบ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ซึมผ่านพนังกั้นน้ำเข้ามาท่วมชุมชน กลับลงสู่แม่น้ำมูน เพื่อลดปริมาณน้ำท่วมชุมชนชั้นใน รวมทั้งน้ำดื่มให้ชาวชุมชน ก่อนไปเยี่ยม ชาวบ้านที่ชุมชนวังแดงที่อพยพมาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวสวนสาธารณะห้วยม่วง อ.เมือง

นายศุภศิษย์กล่าวว่า ระดับน้ำมูนเริ่มลดลงแล้ว แต่เขื่อนลำปาวมีการระบายน้ำลงมา ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี น้ำส่วนนี้จะมาเติมที่จังหวัดใน 2-3 วันข้างหน้า ถ้าในพื้นที่ไม่มีฝนจากพายุระดับน้ำน่าจะไม่สูงขึ้นไปกว่า ที่เป็นอยู่ขณะนี้ แล้วจะเริ่มทรงตัวแล้วลดระดับลง

ขณะนี้ จ.อุบลราชธานีมีพื้นที่น้ำท่วม รวม 9 อำเภอ 57 ตำบล 352 หมู่บ้าน 12,934 ครัวเรือน แต่ที่ต้องอพยพมี 2 อำเภอคือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ จำนวน 421 ครอบครัว กว่า 1,434 คน พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 8 หมื่นไร่ ส่วนระดับน้ำแม่มูนวันเดียวกันลดลงอีก 4 ซ.ม. ทำให้มีน้ำสูง 7.63 เมตร และน้ำล้นตลิ่ง 63 ซ.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน