‘ชี-มูน’ทะลักอีก ขอนแก่นอพยพ

ปภ.รายงานน้ำยังท่วมขัง 8 จังหวัด บ้านกว่า 1.6 หมื่นหลังเดือดร้อน เร่งช่วยสมุทรปราการ- พิษณุโลก อุตรดิตถ์-สุโขทัย-ขอนแก่น-เลย-กาฬสินธุ์-อุบลฯ สรุปตั้งแต่ 26 ก.ย. 30 จว.ถูกน้ำท่วม 110 อำเภอ 414 ตำบล 2,112 หมู่บ้าน 48,554 ครัวเรือน มหาดไทยจี้ทุกจังหวัดหาพื้นที่แก้มลิงรับน้ำทั้งรับน้ำบ่ากับเก็บกักน้ำใช้ยามแล้ง อ่างห้วยเตยน้ำล้นอ่างฉับพลันกลางดึกชาวบ้านโนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น อพยพหนีน้ำถึงเช้า 200 ครัวเรือน เกือบพันคน ผู้ว่าฯ เตือนขอนแก่นเป็นพื้นที่สีแดง ฝนยังตกหนักทุกพื้นที่ เมืองอุบลเร่งตั้งทราย 4 พันถุงกั้น แม่มูนล้นขึ้นอีก 15 ซ.ม. ป้องกันน้ำไหลบ่าท่วมชุมชนชั้นใน น้ำเขาจ.เลย ไหลบ่าท่วมหล่มเก่า เพชรบูรณ์ แม่น้ำยม ทะลักพิจิตรอีกวันละกว่า 10 ซ.ม. ชาวพิจิตรผวางูเห่าหนีน้ำท่วมเข้ามาอยู่ในบ้าน วางข่ายดักจับ

8 จังหวัดยังท่วม
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาทำให้ช่วงระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-9 ต.ค.เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี กาญจนบุรี ลพบุรี นครนายก สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ตราด สตูล และยะลา รวมจำนวน 110 อำเภอ 414 ตำบล 2,112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 48,554 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และสมุทรปราการ รวมจำนวน 23 อำเภอ 65 ตำบล 575 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 16,870 ครัวเรือน

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงในทุกจังหวัด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” ได้ที่ไลน์ @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอพ พลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”

เร่งหาแก้มลิงเก็บน้ำรับแล้ง
ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ได้ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ติดตามสถานการณ์น้ำกับปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีหลายกรม เนื่องจากได้รับรายงานว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี อย่างไรก็ตาม จะเร่งให้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ด้วย ซึ่งได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ให้รายงานเรื่องพื้นที่เรือกสวนไร่นาต่างๆ ว่าในพื้นที่ไหนสามารถเก็บกักน้ำได้ก็จะไปประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะได้จัดทำทางน้ำให้นำน้ำไปกักเก็บในพื้นที่เพื่อที่จะมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง

“ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามประคองสถานการณ์และทำงานเป็นทีม ต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายประสานระหว่างจังหวัดให้ทราบว่าการปล่อยน้ำจะต้องจำนวนเท่าใด ควรจะปล่อยหรือไม่ ซึ่งได้หารือกับปลัด มท. ซึ่งยังคงยืนยันว่าโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริยังคงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ และกำลังไปหาพื้นที่ในลักษณะแก้มลิงเพื่อเอาไว้เก็บกักน้ำ เพราะเป็นน้ำส่วนเกิน หากปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่มีการบริหารจัดการก็จะหายไป หากถึงช่วงหน้าแล้งน้ำก็จะขาด จึงต้องร่วมมือกัน” นายอนุทินกล่าว

แม่จันน้ำซัดสะพานขาด
ส่วนสถานการณ์น้ำและฝนในพื้นที่ต่างๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อ.แม่จัน จ.เชียงราย จากปริมาณฝนตกหนักในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลลงสู่แม่น้ำจัน ส่งผลให้ระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ใกล้แม่น้ำจัน ในพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 7 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน และหมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.แม่จัน โดยน้ำเข้าท่วมตั้งแต่ริมถนนสายแม่จัน-แม่อาย บริเวณแยกแม่อายที่เป็นที่ลุ่มและริมตลาดสดแม่จันภายในเขตเทศบาล ต.แม่จัน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าตึง และเทศบาล ต.แม่จัน ได้ระดมกำลัง เจ้าหน้าที่กำจัดวัชพืช โดยกิ่งไม้ใบไม้ที่ติดอยู่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำจันด้านหลังตลาดสดออก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลผ่านไปโดยเร็ว อย่างไรก็ตามช่วงที่ยังเร่งระบายก็ได้ทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งและถนนลึก 30 ซ.ม.

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ และปภ.เชียงราย ได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายสิ่งของไว้บนพื้นที่สูงและสำรวจความเสียหายทั้งหมด

นายทัต วังเมือง ปลัด อบต.ป่าตึง อ.แม่จัน กล่าวว่า น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในช่วงเวลากลางคืนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแต่ก็เข้าท่วมและลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพย์สินชาวบ้านไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนเส้นทางในบางหมู่บ้านมีดินโคลนก็ใช้รถแทรกเตอร์เข้าขุด ตักออก นอกจากนี้ยังมีสะพานเหล็กกว้าง 2 เมตร ของ อบต.ป่าตึง ซึ่งใช้ข้ามแม่น้ำจันพื้นที่หมู่บ้านห้วยยาโนถูกน้ำพัดขาดซึ่งจะรอให้น้ำแห้งและเข้าซ่อมแซมต่อไป

ด้านนายวุฒิชฑฌ์ แก้วใส ปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงนำเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) เดินทางไปตรวจดูสภาพสะพานเหล็กที่เสียหายดังกล่าวพบว่า ตัวสะพานเหล็กซึ่งออกแบบโค้งงอได้หักทำให้สะพานแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่หักออกถูกน้ำพัดห่างจากจุดสะพานเดิมประมาณ 10 เมตร

แม่ยมเอ่อเพิ่ม-ผวางูเห่าซุกบ้าน
ส่วนที่จ.พิจิตร น้ำในแม่น้ำยม ที่รับน้ำจาก จ.สุโขทัย และไหลผ่านอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปริมาณน้ำยังไหลลงมายังพื้นที่ จ.พิจิตรอย่างต่อเนื่อง น้ำมีสีขุ่นแดง ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ วาย 17 ที่ อ.สามง่าม ระดับน้ำอยู่ที่ 5.38 เมตร เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 11 ซ.ม. และยังคงล้นตลิ่งขยายพื้นที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ บ้านเรือนประชาชนบ้านย่านยาว หมู่ 8 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง กว่า 25 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเร่งเก็บของหนีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องนำข่ายมาดักสัตว์มีพิษ โดยเฉพาะงูเห่า ที่หนีน้ำท่วมเข้ามาในบริเวณ

นายรังสรรค์ กล่อมจิตต์ ชาวบ้านย่านยาว หมู่ 8 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เผยว่า น้ำยมได้เพิ่มระดับสูงขึ้นจนล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชั้นล่างของบ้าน ต้องเร่งเก็บของ พร้อมนำข่ายดักปลามากั้นบริเวณบ้าน เนื่องจากงูชอบหนีน้ำเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะงูเห่า ซึ่งปีนี้ได้จับได้แล้ว 1 ตัว แต่ปีที่ผ่านมา ดักจับได้กว่า 13 ตัว

สำหรับปัจจุบัน จ.พิจิตร ยังมีน้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้รับผลกระทบแม่น้ำยมล้นตลิ่งคือ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง ขณะที่น้ำฝนสะสมจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลท่วม 2 อำเภอ คือ อ.บางมูลนาก และ อ.วังทรายพูน ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ 7 ตำบล 27 หมู่บ้าน 630 หลังคาเรือน นาข้าว 580 ไร่

‘หล่มสัก’ จม – น้ำจากเทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์และแม่น้ำป่าสักทะลักท่วมบ้านเรือนในตัวอำเภอหล่มสักเอ่อล้นพนังกั้นเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขตเทศบาลหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หลายจุด ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เมื่อวันที่ 9 ต.ค.

น้ำเลยทะลักหล่มเก่า
ด้านจ.เพชรบูรณ์ หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้น้ำจากเทือกเขาจ.เลยไหลทะลักเข้าท่วมหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ศิลา อ.หล่มเก่า ประกอบกับน้ำจากฝั่งภูเขาเพชรบูรณ์ด้านทิศตะวันออกไหลลงมาสมทบ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ทำให้น้ำในแม่น้ำเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตอ.หล่มสักในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา กระทั่งเช้าวันเดียวกัน น้ำในแม่น้ำป่าสักได้เอ่อล้นพนังกั้นน้ำกำลังไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจในตัวเมืองเทศบาลหล่มสัก

นายชัชวาลย์ เบญจศิริวงศ์ รองผวจ.เพชรบูรณ์ นายชัยวิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ เทศบาลตำบยลตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก มีน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแล้วหลายแห่ง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่เพจของชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ได้แจ้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีทั้งหมด 11 แห่งว่ามี 5 แห่งที่ปริมาณน้ำเกินความจุประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่นปริมาณน้ำ ร้อยละ 111.56 อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้อ ร้อยละ 101.36 อ่างเก็บน้ำป่าแดง ร้อยละ 100.59 อ่างเก็บน้ำห้วยนา ร้อยละ 101.73 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ร้อยละ 102.11 พร้อมกันนี้จังหวัดได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ต่ำให้เก็บสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

เลยดินสไลด์ทับบ้าน
ที่อ.เชียงคาน จ.เลย เวลา 03.00 น. ได้เกิดเหตุดินถล่มทับบ้านในสวนยาง ของนางพอง พิมพ์คีรี บ้านเลขที่ 225 หมู่ 1 บ้านนาจาน ต.ปากตม อ.เชียงคาน ได้รับความเสียหาย ยกหลัง หนีตายกับลูกๆ หลานๆ โดยนางพองเล่านาทีระทึกว่า บ้านตนนั้นอยู่ริมเขา ประมาณตี 3 กว่า ตนได้ยินเสียงแปลกดังคืดๆ มีเสียงน้ำและต้นยางหัก มีเสียงน้ำหลาก จึงรีบปลุกคนในบ้านที่มี 4 คน ที่กำลังนอนมีเด็กน้อย 1 คน สักพักไม่กี่นาทีดินก็สไลด์ไหลลงมาทับหลังบ้านที่อยู่ห่างไปไม่กี่เมตร และทับบ้านจนหมดทั้งหลัง เหตุการณ์แบบนี้เพิ่งเกิดครั้งแรก ในรอบ 30 ปีที่อยู่ตรงนี้

ต่อมา นายบุญมี จันทสาน นายก อบต. ปากตม นายอำนาจ วรินทรา นักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ อพปร. กู้ภัยในพื้นที่กว่า 10 นาย ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเข้าไปขนของขนดิน สิ่งกีดขวางออกจากพื้นที่บ้าน และออกสำรวจพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนมอบถุงยังชีพชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัย

ส่วนที่อ.ท่าลี่ จ.เลย มวลน้ำป่าไหลจาก ภูหวดหลากเข้าหมู่บ้าน หมู่ 1 หมู่ 3 บ้านน้ำแคม 20 หลังคาเรือน ตั้งแต่ตี 4 จนถึงเช้าวันเดียวกัน ระดับน้ำสูง 20-30 ซ.ม.

อพยพ – เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปภ.เขต 6 ขอนแก่น ร่วมกับพม.ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ ช่วยอพยพผู้ป่วยติดเตียงออกมาอยู่ที่โรงเรียน หลังทะลักท่วมพื้นที่หมู่บ้านสูงประมาณ 1 เมตรและไหลเชี่ยว ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 ต.ค.

อ่างล้น-ขอนแก่นอพยพ
ด้านอ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น จากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักข้ามคืนจนถึงรุ่งเช้า ส่งผลให้น้ำท่วมอ่างเก็บน้ำห้วยเตย ล้นเข้าท่วมบ้านหนองกระหนวน หมู่ 4 ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด ราษฎรกว่า 180 ครัวเรือน ประมาณ 750 คนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านอยู่อาศัยฉับพลัน

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายเสกสม ลินดาพรประเสริฐ นายอำเภอบ้านแฮด และนายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ สส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย ได้เร่งอพยพประชาชนตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา จากบ้านหนองกระหนวน มาอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองกระหนวน หมู่ 4 ต.โนนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดที่ปลอดภัยที่ทางจังหวัดกำหนด โดยจะมีครัวมทบ.23 มาทำอาหารแจกให้กับ ทุกคนได้รับประทาน

นายไกรสรกล่าวว่า ปภ.ขอนแก่น ร่วมกับ ปภ.เขต 6 ได้นำรถยกสูงในพื้นที่กับเรือท้องแบนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่าง ต่อเนื่องทั้งคืน รวมทั้งการจัดระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุมและครบถ้วน ช่วงนี้จ.ขอนแก่น ยังคงมีฝนตกหนักลงมาในทุกพื้นที่ ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนมิตรภาพ ช่วงอ.มือง มุ่งหน้าไปอ.บ้านแฮด มีน้ำท่วมขังบนถนน ขอให้ประชาชนสัญจรไปมาด้วยความระมัดระวัง และขณะนี้จ.ขอนแก่น ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงฝนตกหนัก จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระมัดระวังภัยตลอดทั้งวัน เพราะมีหลายจุดเป็นพื้นที่เสี่ยง อ่างเก็บน้ำก็มีน้ำเต็มเกือบทุกอ่าง ขอให้ประชาชนระวังน้ำท่วมฉับพลัน

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปภ.เขต 6 ขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ นำรถปภ.ยกสูงขนาดใหญ่เข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงหลายราย อพยพออกมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองกระหนวน ท่ามกลางปริมาณน้ำที่ไหลทะลักท่วมในพื้นที่หมู่บ้านยังคงท่วมสูง 1 เมตร และไหลเชี่ยว โดยพบว่าถนนสายกลางหมู่บ้าน ด้านทิศใต้ถูกน้ำไหลกัดเซาะจนผิวถนนหลุดร่อนและขาดไปทางยาว 100 เมตร

ระดมทรายกั้นแม่มูนทะลัก
ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.อุบลราชธานี นำกำลังจิตอาสาพระราชทาน กำลังทหารจาก มทบ.22 และชลประทานที่ 7 นำกระสอบทรายกว่า 4,000 ใบ เสริมแนวกั้นน้ำแม่น้ำมูนที่ไหลซึมผ่านผนังชั้นในของชุมชนท่ากอไผ่ เทศบาลเมืองวารินชำราบ เนื่องจากมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างหนัก ทำให้แม่น้ำมูนเอ่อสูงขึ้นจากเดิมอีก 15 ซ.ม. และมีแนวโน้มไหลท่วมชุมชนชั้นใน ถ้าปล่อยให้น้ำไหลท่วมฝ่าแนวกั้นกระสอบทราย จะทำให้เกิดน้ำท่วมชุมชนหลายแห่ง จึงต้องเสริมกระสอบทราย แล้วใช้เครื่องสูบน้ำกลับลงแม่น้ำมูน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลท่วมพื้นที่ชั้นใน

นายศุภศิษย์กล่าวว่า ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีฝนตกจากอิทธิพลของร่องมรสุม ทำให้มีน้ำในพื้นที่และน้ำจากด้านเหนือหนุนให้แม่น้ำมูนปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีระดับน้ำขณะนี้สูง 7.92 เมตร

เมื่อระดับน้ำสูง 8 เมตร แล้วให้น้ำไหลผ่านแนวกระสอบทราย ก็จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่เป็นวงกว้าง จึงต้องเร่งจำกัดวงและจัดการจราจรน้ำ เพราะน้ำที่แม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่างจากแม่น้ำมูนกว่า 3 เมตร น้ำจากแม่น้ำมูนยังระบายลงแม่น้ำโขงได้ดี และเปิดพื้นที่ไว้รองรับมวลน้ำจากเขื่อนลำปาว ที่ปล่อยออกมา และไหลมาตามแม่น้ำชี จะเดินมาถึง จ.อุบลราชธานี ในอีก 1-2 วันข้างหน้าด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน