7อำเภออยุธยาจมแล้วหมื่นหลัง

ผู้ว่าฯชัชชาติ สั่งเฝ้าระวังน้ำเขื่อนเจ้าพระยาบ่าล้นบ้านริมตลิ่งเมืองกรุง หลังเขื่อนเพิ่มระบายน้ำต่อเนื่อง อยุธยาน้ำท่วมขยายวง 7 อำเภออ่วม หมื่นบ้านจม ปภ.เร่งระบายน้ำ 11 จังหวัดยังมีน้ำท่วมขัง ลำชี-แม่มูนยังเอ่อเพิ่ม น้ำทะลักลงที่ลุ่มต่ำ กาฬสินธุ์-อุบลฯ เร่งอพยพครัวเรือนขึ้นที่ สูงอีก แม่น้ำน่าน-ยม ทะลักตลิ่ง วังทอง พิษณุโลก พนังกั้นแตกยาวนับ 10 เมตร เร่งอุดหวั่นน้ำบ่าเพิ่ม พิจิตรน้ำล้นตลิ่งอีก ฝนถล่มข้ามคืน เมืองโคราชจมครึ่งเมตร ทั้งถนน- รางรถไฟ-บ้านเรือน-ชุมชนกลางเมือง ปราจีนฯ อ่วม น้ำป่าทับลาน-เขาใหญ่บ่าลงแควพระปรงทะลักชุมชนครึ่งเมตร 80 ครัวเรือนถูกน้ำล้อมรอบ ผบ.ตร.-ต่อศักดิ์ สั่งเพิ่มกำลัง ตร.ปฏิบัติการพิเศษ ลงช่วยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม

เร่งระบายท่วมขัง11จว.
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-11 ต.ค. เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 35 จังหวัด 138 อำเภอ 515 ตำบล 2,506 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผล กระทบ 52,290 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 11 จังหวัด 45 อำเภอ 182 ตำบล 925 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,196 ครัวเรือน ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู เลย กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี โดยภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จ.กาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ปภ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

น้ำมาแล้ว – มวลน้ำจำนวนมากจากทางเหนือที่ถูกระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เอ่อล้นข้ามแนวเขื่อนริมฝั่งเข้าท่วมพื้นที่บนฝั่งบริเวณท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.

กทม.สั่งเฝ้าระวังน้ำเขื่อนบ่า
ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์น้ำเหนือยังไหลมาไม่มาก แต่กังวลน้ำในเขื่อนมากกว่า คิดว่าคงเป็นปัญหาเฉพาะจุด ส่งผลกระทบบางพื้นที่ในจ.สุโขทัย และจ.พิษณุโลก แต่พอไหลลงมาทำให้มีเวลาในการระบายน้ำ จึงไม่ค่อยมีผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ มาก แต่กทม.เฝ้าระวังอยู่ตลอด

ด้านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จนถึงเวลา 07.00 น.วันเดียวกันว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุด จุดวัดคลองบึงใหญ่-วัดทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี 50 ม.ม. จุดวัดสวนเบญจสิริ เขตคลองเตย 46.5 ม.ม. จุดวัดประตูระบายน้ำคลองประเวศ-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 45.5 ม.ม. จุดวัดคลองลำผักชี-ร.ร.ลำผักชี เขตหนองจอก 45.5 ม.ม. และ จุดวัดบึงมักกะสัน เขตราชเทวี 38 ม.ม.

คพ.กู้ 2 โรงกำจัดมูลฝอยจม
ด้านนางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วม ทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมือง (ทม.) สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สามารถดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยได้ตามปกติ แต่ที่น่าเป็นห่วงอีก 2 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โนนศิลาเลิง จ.กาฬสินธุ์ และอบต.ดงละคร จ.นครนายก สถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัว ไม่สามารถดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ได้ โดยอปท. ได้ก่อสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำ ติดตั้งตาข่ายดักขยะมูลฝอยเพื่อป้องกันขยะมูลฝอยไหลออกนอกพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และได้ประสานขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัด ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ใกล้เคียง

เสริมตร.ปพ.ช่วยพื้นที่ท่วม
ขณะที่พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการเพิ่มเติมให้ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (ปพ.) นำกำลังช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่างๆ พร้อมกับมูลนิธิเพชรเกษม นำสิ่งของอุปโภคบริโภคแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานจังหวัดที่ยังคงประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และพล.ต.ต.ศุภากรณ์ จันทาบุตร ผบก.ปฏิบัติการพิเศษ สั่งการกำลังตำรวจปพ. ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย เช่น จ.สุโขทัย ตำรวจ ปพ.ได้นำถุงยังชีพและ น้ำดื่ม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ที่มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

พล.ต.ท.อาชยนกล่าวว่า ในส่วนของ ผู้บัญชาการ และผู้บังคับการหน่วยงานต่างๆ บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ในพื้นที่ประสบภัย ได้สั่งการระดมกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ในทุกมิติ ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขนย้ายคนสิ่งของสู่พื้นที่ปลอดภัย การนำสิ่งของอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และหลังน้ำลดจะเป็นขั้นตอนของการช่วยฟื้นฟูต่อไป พร้อมคุมเข้มในหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ไม่ให้คนร้ายซ้ำเติมผู้ที่เดือดร้อน

พนังแตก – หลายหน่วยงานระดมเครื่องจักรเข้าซ่อมพนังดินกั้นแม่น้ำวังทองที่เกิดแตกเป็นทางยาวร่วม 10 เมตร เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.

พนังกั้นวังทองแตก
ส่วนสถานการณ์น้ำและฝนในพื้นที่ต่างๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กำลังเผชิญปัญหาระดับน้ำค่อนข้างสูงมาก และตลอดเส้นทางของ ต.วังพิกุล 15 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพนังดิน ที่ยกสูงเกือบ 3 เมตร ตลอดทั้ง 2 ฝั่ง และมีบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 2,500 ไร่ ที่จะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำของแม่น้ำวังทองได้หลากล้นตลิ่ง ปรากฏว่าพนังดินกั้นน้ำ บริเวณบ้านวังพิกุล หมู่ 2 ต.วังพิกุล เกิดแตกเป็นทางยาว 10 เมตร ทางหน่วยงานได้ระดมเครื่องจักรและแรงคน ช่วยกันกระสอบทรายบิ๊กแบ๊กมาวางขวางทางน้ำ เพื่อไม่ให้กระแสน้ำจากแม่น้ำวังทองทะลักเข้าพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 2,500 ไร่

นางพีระกานต์ ทองเชื้อ นายกอบต.วังพิกุล เปิดเผยว่า หากพนังดินกั้นน้ำแตกหรือเอา ไม่อยู่ จะทำให้ปริมาณน้ำจะทะลักจาก หมู่ 2 และไหลเข้า หมู่ 1 หมู่ 13 และหมู่ 8 ต.วังพิกุล อ.วังทอง และไหลไปท่วมอีกหลายหมู่บ้านใน ต.แม่ระกา อ.วังทอง จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกั้นน้ำไว้ให้ได้ พร้อมขอให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่เร่งสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงอื่นที่เป็นพนังดิน ป้องกันพนังกั้นแตกซ้ำอีก จนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดระดับและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ในพื้นที่ ต.วังพิกุล ทั้งสองฝั่งมีพนังกั้นน้ำยาว 15 กิโลเมตร ต้องเฝ้าระวังในจุดอื่นๆ ด้วย เพราะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ พร้อมรับน้ำตลอดเวลา และเป็นจุดสุดท้ายที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำน่านต่อไป

ลำน่านซัดแพจม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พิษณุโลก หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ระดับน้ำแม่น้ำน่าน ช่วงไหลผ่านตัวเมืองพิษณุโลก มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ระดับแม่น้ำน่านสูงขึ้น โดยที่สถานีระดับน้ำ N5A เวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ระดับน้ำอยู่ที่ 6.72 เมตร มวลน้ำที่ไหลผ่าน 693.80 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำที่รับได้ถึง 10.37 เมตร และระดับน้ำน่านที่ไหลผ่านสูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ 1 เมตร ส่งผลให้แพอาหารขนาดใหญ่ ชื่อ “แพน้ำน่าน” บริเวณริมแม่น้ำน่านหน้าวัดจันทร์ตะวันออก แต่ผู้ประกอบการได้หยุดกิจการไปก่อนหน้าแล้ว ถูกกระแสน้ำซัดจนแพแตกเสียหาย เนื่องจากไม่มีใครคอยปรับระดับแพตามระดับน้ำขึ้นน้ำลง ส่งผลให้แพแตกจมน้ำพังทั้งหลัง

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำตามสายหลัก ให้ระมัดวังระดับน้ำที่ยังสูงขึ้นอีก เนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ให้ได้มากที่สุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พิจิตรปักธงแดงน่าน-ยมล้น
ด้านนายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.ชลประทานพิจิตร ได้ลงพื้นที่ติดตั้งธงแดงบริเวณสะพานข้าม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แจ้งระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่ง ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่อาศัยติดแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ในพื้นที่จ.พิจิตร ให้เร่งอพยพเคลื่อนย้าย ทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงเป็นการเร่งด่วน และพร้อมรับมือสถานการณ์แม่น้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากระดับน้ำในแม่ยมและแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านหลายอำเภอของ จ.พิจิตร มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง เนื่องจากมีมวลน้ำเหนือก้อนใหญ่จากพื้นที่ภาคเหนือ และมวลน้ำสะสมจากเทือเขาวังทอง และเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลบ่าลงมาสมทบ ประกอบกับในพื้นที่มีมวลน้ำฝนสะสมเดิมค่อนข้างมาก โดยระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำยม Y-17 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำยม หน้าที่ว่าการอำเภอสามง่าม ต่ำกว่าตลิ่งเพียงไม่กี่ซ.ม. เช่นเดียวกับแม่น้ำน่าน บริเวณสถานีวัดน้ำ N-7A เชิงสะพานขาว อ.เมือง ระดับน้ำน่านต่ำกว่าตลิ่งเพียง 49 ซ.ม.เท่านั้น จึงได้ติดธงแดงเพื่อประกาศแจ้งเตือนประชาชน และให้รับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายเอกฉัตรกล่าวว่า สำหรับมวลน้ำยม รับมวลน้ำก้อนใหญ่จากพื้นที่ภาคเหนือด้านจ.สุโขทัย ผ่านจ.พิษณุโลก และมีมวลน้ำป่าด้านจ.กำแพงเพชร ไหลเข้ามาสมทบเพื่อไหลลงสู่แม่น้ำยม ส่วนแม่น้ำน่าน จ.พิจิตร จะรับมวลน้ำโดยตรงจากการระบายลงท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ดังนั้นขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่านพื้นที่เสี่ยงภัย ในพื้นที่ อ.เมือง ตะพานหิน และ อ.บางมูลนาก อ.สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และ อ.โพทะเล ให้ขนย้ายสิ่งของไปไว้ที่ปลอดภัย

อยุธยาท่วมขยายวง 7 อำเภอ
ขณะที่จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา คลองสาขาและแม่น้ำน้อย ระดับน้ำ เพิ่มขึ้นล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่ นอกแนวคันกั้นน้ำ ที่บริเวณหน้าวัดกษัตราธิราช อ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นกระแสน้ำไหลเชี่ยวแรง เหลืออีก 50 ซ.ม. จะเท่ากับพื้นตลิ่งชั้นนอกของบริเวณวัด

ส่วนที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 8 ซ.ม. เหลืออีก 60 ซ.ม. จะเท่ากับตลิ่งชั้นนอกของโบราณสถานวัด กรมศิลปากรติดตั้งแนวบัง เกอร์ป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบบอัตโนมัติ และเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า ไว้พร้อมแล้ว พร้อมกับติดตามการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และสภาพอาอากาศอย่างใกล้ชิด

ด้านปภ.พระนครศรีอยุธยา รายงานว่า พบระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพรยา คลองสาขา และแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10-15 ซ.ม. ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำนอกแนวคั้นน้ำแล้วจำนวน 7 อำเภอ 64 ตำบล 9,770 ครัวเรือน

ทั้งนี้ จังหวัดมีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ในทุ่งรับน้ำทั้งหมด 377,181 ไร่ พื้นที่ข้าวเก็บเกี่ยว ในทุ่งรับน้ำ 372,427 ไร่ มีนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่ง จำนวน 680 ไร่ และจะมีนาข้าวที่คาดว่าจะเสียหาย 677 ไร่ อยู่ในพื้นที่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางซ้าย

ร้อยเอ็ดน้ำชีเอ่อเพิ่ม
ที่จ.ร้อยเอ็ด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น และมหาสารคาม ไหลบ่าลงสู่ลำน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด เกิดล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาจมน้ำเสียหายสิ้นเชิงในพื้นที่อ.จังหาร หนักสุด ที่บ้านแก่งข่า หมู่ 8 ต.พระธาตุ หมู่บ้านจมน้ำทั้งหมดจำนวน 29 ครัวเรือน ซึ่งหมู่บ้านนี้ได้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นวงกว้าง โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนเส้นทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้านระยะทางกว่า 3 ก.ม. ระดับน้ำถนนสูงกว่า 2 เมตร ประชาชนต้องใช้เรือท้องแบนในการเดินทางเข้าออกภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้ น้ำยังได้ท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนซึ่งมีความลึกกว่า 4 เมตร ข้าวที่กำลังออกรวงเสียหายสิ้นเชิง กว่า 1,000 ไร่

ด้านนายเตชิต ทรงบุญศาสตร์ นายอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการสำรวจ พื้นที่ อ.กมลาไสย มี 8 ตำบล ได้รับผล กระทบจากภาวะน้ำท่วม 6 ตำบล หมู่บ้านที่พักอาศัยกว่า 100 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตร 2 หมื่นไร่ บ่อกุ้งบ่อปลา 222 ไร่

แม่มูนทะลักจมชุมชนลุ่มต่ำ
ขณะที่ จ.อุบลราชธานี น้ำจำนวนมากได้ไหลกัดเซาะแนวกระสอบทราย ซึ่งหน่วยงานทั้งทหาร ปภ.เทศบาลเมืองวารินชำราบ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี มาวาง เพื่อตั้งรับน้ำแม่น้ำมูนไม่ให้ไหลท่วมชุมชนลุ่มต่ำ อาทิ ชุมชนท่าก่อไผ่ ชุมชนหาดสวนสุข และชุมชนดีงาม แต่ไม่สามารถทานกระแสน้ำจากแม่น้ำมูนที่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวกระสอบทรายแตก น้ำจำนวนมากได้ไหลทะลักเข้าท่วมชุมชนชั้นในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้ชาวชุมชนที่มีบ้านชั้นเดียวต้องอพยพ ส่วนชาวบ้านที่มีบ้านสองชั้นต้องอพยพข้าวของขึ้นที่สูง

นายจีระชัย ไกรกังวาน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองวารินชำราบกล่าวว่า ขณะนี้แนวกระสอบทรายที่นำมาวางกั้นน้ำได้พังทลาย ทำให้น้ำไหลท่วมชุมชนสูงเกือบ 2 เมตร เนื่องจากแนวตลิ่งของเทศบาลเมืองวาริน ชำราบมีความสูง 7 เมตร แต่ระดับน้ำแม่น้ำมูนมีความสูงถึง 8 เมตรเศษ ทำให้ชาวชุมชนกว่า 681 ครอบครัว ถูกน้ำท่วมทั้งหมด และมีชาวชุมชนกว่า 195 ครอบครัว ต้องย้ายไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เทศบาลจัดให้ ส่วนแม่น้ำมูน วันเดียวกัน มีความสูง 8.04 เมตร

โคราชรางรถไฟจม
ที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนนสายบ้านบุตาโฮ-โนนกลาง ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นระยะทางยาวเกือบ 200 เมตร โดยระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 70 ซ.ม. รถเล็กสัญจรผ่านไม่ได้ น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือน 38 หลัง

ส่วนบริเวณหน้าสถานีรถไฟภูเขาลาด ต.บ้านใหม่ อ.เมือง ที่ทางรถไฟหลัก กระแสน้ำไหลแรงมากและน้ำเอ่อท่วมสันรางขึ้นมาอีก จำเป็นต้องเปิดทางระบายน้ำออกและ งดใช้ทาง 1 เพื่อไม่ให้ท่วมทั้ง 3 ราง จะทำให้ขบวนรถไฟทั้งภาคอีสานตอนบนและล่างเชื่อมต่อภาคกลางเป็นอัมพาตไม่สามารถวิ่งผ่านได้ รถทุกขบวนวิ่งผ่านทาง 2 ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 10 ก.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งมีการเฝ้าระวังป้องกันทางรถไฟขาด

นางมะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย นายกทต.บ้านใหม่ พร้อมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพ ระดมกำลังช่วยกันกรอกถุงทรายนำไปสร้างแนวเขื่อนกั้นมวลน้ำไม่ให้ไหลเข้าบ้าน รวมทั้งใช้รถกระบะยกสูงและเรือท้องแบนตระเวนไปแจกจ่ายอาหารน้ำดื่มและยารักษาโรคให้กับผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในบ้านพักถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถลุยผ่านกระแสน้ำท่วมสูง 40-50 ซ.ม. รวมทั้งอพยพผู้สูงวัยและผู้ป่วยออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย

ในเมืองท่วมครึ่งเมตร
นางมะลิวัลย์เปิดเผยว่า มีมวลน้ำฝนจาก อปท.ด้านทิศใต้ไหลมาเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมู่บ้านคุรุสภา ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่เป็น กลุ่มข้าราชการครูบำนาญ นักเรียนโรงเรียนศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา ซึ่งต้องกินนอนที่สถานศึกษา ทั้งนี้ความเสียหายใกล้เคียงน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 หรือ 13 ปี ที่ผ่านมา

ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ไหลลงลำน้ำชี อ.แก้งสนามนาง ไหลผ่านเข้ามาในพื้นที่ อ.สีดา ก่อนที่จะไหล เข้าท่วมถนน ทางเข้าหมู่บ้าน บ้านคู หมู่ 1 ต.สำพะเนียง อ.โนนแดง ทำให้ถนนทางเข้าหมู่บ้าน ถูกน้ำไหลเข้าท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. ระยะทางยาว 200 เมตร ทำให้รถเล็กวิ่งผ่านเข้าอออกหมู่บ้านไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอโนนแดง จึงได้นำป้ายมาติดแจ้งเตือนรถเล็กห้ามผ่าน เพราะระดับน้ำท่วมสูง ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีมวลน้ำเติมเข้าอ่างฯ เพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ 178.61 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 56.80 จากความจุระดับเก็บกักปกติ 314.49 ล้านลบ.ม.

ส่วนที่โรงเรียนโยธินนุกูล ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ตั้งอยู่หน้าค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้มีมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากหลายพื้นที่ อาทิ อ่างเก็บน้ำเถกิงพล ต.ปรุใหญ่, กองบิน 1 และสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว ทะลักไหลเข้าท่วมอาคารเรียน สนามกีฬา และบริเวณโดยรอบโรงเรียน บางจุดระดับน้ำลึกกว่า 50 ซ.ม. ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา น้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมห้องเรียน ชั้นที่ 1 อาคาร 2 จนทำให้อุปกรณ์การเรียนการสอนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

กบินทร์น้ำล้อมปิดชุมชน
ที่อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี มวลน้ำจาก จ.สระแก้ว และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และทับลาน ไหลมาสมทบกัน ทำให้น้ำบริเวณต้นน้ำบางปะกงที่มีน้ำ 2 แคว คือ แควพระปรง และหนุมาน ไหลมารวมกันส่งผลทำให้บริเวณชุมชนตลาดเก่า 100 ปี เขต ทต.กบินทร์น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูง 50 ซ.ม. ถึง 1 เมตร ถนนเข้าออกกลายเป็นคลองประชาชนกว่า 80 ครัวเรือน เดือดร้อน ต้องใช้เรือและเดินลุยน้ำเข้าออก เพื่อมาหาซื้ออาหารประทังชีวิต ล่าสุดอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว ระบายน้ำออกจากอ่างวันละ 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน

ส่วนที่หมู่บ้านนาอ้อม หมู่ 2 ต.กบินทร์ หลัง สภ.กบินทร์บุรี ถนนเข้าออก ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. หมู่บ้านดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีคนชรา คนพิการ เด็กเล็ก ติดอยู่ภายในไม่สามารถออกไปซื้ออาหารประทังชีวิตได้ รอการช่วยเหลือ อดมื้อ กินมื้อ ลูกหลานเข้าไปส่งอาหารไม่ได้ การสัญจรรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สัญจรผ่านไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน