กรมทรัพยากรธรณีและนักวิชาการค้นพบ ‘อัลลิเกเตอร์’ สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 230,000 ปี สัตว์ดึกดำบรรพ์คล้ายจระเข้ พบชิ้นส่วนกะโหลก กราม และกระดูก ในพื้นที่ของชาวบ้านที่นครราชสีมา ตั้งชื่อ ‘อัลลิเกเตอร์ มูนเอนซิส’ เนื่องจากพบใกล้แม่น้ำมูน ปัจจุบันเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คืออัลลิเกเตอร์อเมริกา และอัลลิเกอร์จีน เสี่ยงต่อการสูงพันธุ์ ส่วนที่พบในไทยสูญพันธุ์ไปแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายปรีชา สายทอง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า อัลลิเกเตอร์ มูนเอนซิส หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูน

นายฐิติพันธ์กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีรับแจ้งเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2548 ว่าพบซากดึกดำบรรพ์ โดยทีมสำรวจเข้าไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2548 ที่เก็บรักษาไว้ที่ว่าการอำเภอโนนสูง พบเป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน นายสมพร โนกลาง อยู่บ้านสี่เหลี่ยม ต.ใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ขุดบ่อเลี้ยงปลา พบเศษกระดูกแตกหักจน ไม่สามารถศึกษาได้อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนซากดึกดำบรรพ์เป็นกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น

รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่าพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทีมนักวิจัยศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบันอีก 2 ชนิด คืออัลลิเกเตอร์อเมริกา และอัลลิเกเตอร์จีน ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ ของโลกจากประเทศไทยที่ถูกค้นพบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอัลลิเกเตอร์ มูนเอนซิส หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูน โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูน

พันธุ์ใหม่ – กรมทรัพยากรธรณีแถลงผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ที่ได้รับการยืนยันเป็น อัลลิเกเตอร์ มูนเอนซิส หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูน อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกขุดพบบริเวณลุ่มน้ำมูน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ขณะที่ผศ.ดร.กันตภณกล่าวว่า อัลลิเกเตอร์มีลักษณะคล้ายจระเข้ แตกต่างที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี เมื่อปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ส่วนอัลลิเกเตอร์ จะเห็นเฉพาะฟันบน หรือแทบไม่เห็นเลย ปัจจุบันพบจระเข้มีหลายสายพันธุ์ และพบได้เกือบทั่วโลก ขณะที่อัลลิเกเตอร์เหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น คืออัลลิเกเตอร์อเมริกา พบเฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และอัลลิเกเตอร์จีนพบเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก ข้อมูลการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ระหว่างเอเชียและอเมริกา ยังคงเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด มีเส้นทางอพยพอย่างไร การค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์ในเอเชีย รวมถึงในไทย แสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก

ผศ.ดร.กันตภณกล่าวอีกว่า ลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือมีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก ลดจำนวนเบ้าฟัน และมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้น บ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืด จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาว 1-2 เมตร ลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีน แสดงให้เห็นว่าอัลลิเกเตอร์ทั้ง 2 ชนิด อาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยง ซีเกียง ลุ่มน้ำแม่โขง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงทิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้ง 2 ชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูนสูญพันธุ์ไปก่อน








Advertisement

ส่วนนายปรีชากล่าวเสริมว่า หากผู้ใดพบสิ่งที่ควรเชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ขอให้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 7 วัน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะกันพื้นที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์ และแจ้งให้กรมทรัพยากรธรณีทราบภายใน 7 วัน จากนั้นกรมทรัพยากรธรณีจะตรวจสอบภายใน 7 วัน ขอความร่วมมือผู้ที่พบซากดึกดำบรรพ์ไม่ควรขุดค้น หรือขนย้าย สิ่งที่ควรเชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ เพราะซากดึกดำบรรพ์อาจจะแตกหักเสียหายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน