เออบีซาแทนพบปนเปื้อน!

อย.-อภ.สั่งเรียกคืนยาลดความดัน ‘เออบีซาแทน’ พบบางรุ่นการผลิตใช้วัตถุดิบปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็ง จาก 5 ผู้ผลิต รวม 42 รุ่นการผลิต กว่า 8 พันกล่องกระจายไปยังร.พ.รัฐ-เอกชนกว่า 20 แห่ง แนะรีบเช็กรุ่นผลิตข้างกล่อง-นำไปเปลี่ยนตัวยาที่โรงพยาบาล เตือนอย่าหยุดยาหากไปเปลี่ยนไม่ทันให้รับประทานต่อไปก่อน ไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะเพียงเป็นการแจ้งเตือนจากต่างประเทศว่าอาจเข้าข่ายเท่านั้น

เรียกคืนยาความดัน
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยาลดความดัน “เออบีซาแทน” (Irbesartan) บางรุ่นการผลิตที่มีการใช้วัตถุดิบปนเปื้อนสาร AZBT ที่อาจก่อมะเร็ง โดยมียาจาก 5 ผู้ผลิต รวม 42 รุ่นการผลิต ซึ่งหนึ่ง ในนั้นมียาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม 3 รุ่นการผลิต ว่า อภ.ก็ได้รับแจ้งจาก อย. ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่า มียารักษาความดันที่ต้องเรียกคืน คือ IRBESARTAN GPO (300 MG) เลขทะเบียน 1A 31/56 (NG) รุ่นการผลิต A650197 วันที่ผลิต 4/2/2022 วันหมดอายุ 4/2/2024 , รุ่นการผลิต A650681 วันที่ผลิต 2/11/2022 วันหมดอายุ 2/112024 และรุ่น การผลิต A660341 วันที่ผลิต 28/4/2023 วันหมดอายุ 28/4/2025

“โดยยาเหล่านี้จะส่งกระจายไปยังสถานพยาบาลรัฐ 6 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 13 แห่ง โดย รุ่นการผลิต A650197 กระจายหมดแล้วประมาณ 4,500 กล่อง รุ่นการผลิต A660341 ผลิตประมาณ 4,657 กล่อง ยังอยู่ที่ อภ. ประมาณ 3,400 กล่อง และรุ่นการผลิต A650681 ผลิต 4,620 กล่อง เหลืออยู่ที่ อภ. 215 กล่อง อภ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้ยา และคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นลำดับแรก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ข้อมูลจาก อย. ซึ่งเฝ้าระวังเกี่ยวกับสารที่อาจจะเกิดอันตรายและแจ้งให้ทราบ ก็เริ่มกระบวนการแจ้งและเรียกคืนยาโดยทันที พร้อมเฝ้าระวังผลข้างเคียงเต็มรูปแบบ ส่วนที่ยังไม่ได้ส่งออกก็มีการบล็อกเอาไว้ที่ อภ.แล้ว” พญ.มิ่งขวัญกล่าว

ถามว่าส่วนที่มีการกระจายไปยัง ร.พ.ต่างๆ มีข้อมูลหรือไม่ว่า มีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแล้วมากน้อยแค่ไหน พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า เราตรวจสอบหมดเลยว่า 3 ล็อตนี้ไปอยู่ที่ใครบ้าง มีการจำหน่ายไปแล้วหรือยัง จำนวนเท่าไร ตอนนี้เรารู้ว่า ยากระจายไปที่สถานพยาบาลไหนบ้าง ส่วนรายละเอียดว่าจ่ายให้กับผู้ป่วยรายใดบ้างนั้นยังต้องรอการตรวจสอบ

สารก่อมะเร็งจากจีน-อินเดีย
เมื่อถามว่า อภ.จะมีการตรวจสอบซ้ำเพื่อหาต้นตอของปัญหาหรือไม่ พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า คิดว่า ปัญหาอยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นยา น่าจะมีการซื้อร่วมจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทใกล้ๆ กัน โดยเป็นสารกลุ่มไนโตซามีน ซึ่งเดิมจะไม่มีตัว AZBT อยู่ในรายการที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ทาง อย.น่าจะเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ยาอยู่ตลอด และทราบว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ก็เลยเฝ้าระวังและเพิ่มการตรวจสอบสาร AZBT นี้เพิ่มเติมในประเทศไทย พอตรวจก็เจอว่าน่าจะมีในบางล็อตการผลิต ทั้งนี้วัตถุดิบที่นำมาทำยานั้น เป็นการนำเข้ามาจากจีนและอินเดีย

เมื่อถามว่า อภ.จะมีการทบทวนการนำเข้าวัตถุดิบตัวนี้หรือไม่ พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีการตรวจและทบทวนเรื่องการนำเข้ายา หรือวัตถุดิบที่จะนำมาทำยาเป็นปกติ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ตอนแรก ยากลุ่มนี้จะมีสารที่บังคับตรวจอยู่ 3 ตัว ซึ่งเราก็ตรวจตามมาตรฐาน และเมื่อมีการกำหนดให้ตรวจเพิ่มขึ้น 1 รายการ คือ AZBT เราก็จะตรวจเพิ่มขึ้นมาอีก

รีบเช็กยาในมือ
วันเดียวกัน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) เผยว่า สำหรับประชาชนที่กังวลกับการเรียกคืนยาดังกล่าว แนะนำว่าเราต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้ก่อน โดยให้ตรวจสอบก่อนว่ายาความดันที่ตนเองใช้อยู่คือยี่ห้ออะไร รุ่น การผลิตอะไร โดยให้เช็กข้อมูลกับลิสต์ที่ อย.ประกาศออกมา หรือหากไม่มั่นใจก็ให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาเพื่อให้ช่วยตรวจสอบดูได้ หากยาที่รับประทานอยู่ไม่ใช่ล็อตที่ถูกเรียกคืนก็ไม่ต้องกังวลอะไร สามารถใช้ยานั้นต่อไปได้ แต่หากเป็นยาที่ถูกเรียกคืนส่วนใหญ่การเรียกคืนมักจะแจ้งไปยังร.พ.หรือร้านยาที่จำหน่ายเรียกคืนกลับไป เพราะฉะนั้น หากเราได้รับยาล็อตที่มีการเรียกคืนจริงมาจากร.พ.หรือร้านยา ก็มีสิทธิที่จะไปคืนได้ และรับยาตัวใหม่

“การเปลี่ยนยานั้นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นยายี่ห้อเดียวกันที่เป็นคนละรุ่นการผลิต หรือหากไม่มั่นใจจริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนยี่ห้อ ซึ่งปัจจุบันยาความดันมีหลากหลาย การเปลี่ยนยี่ห้อยาก็ไม่น่าจะกระทบหรือมีปัญหาต่อการควบคุมความดัน แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเปลี่ยนไปใช้ยานอกหรือยาราคาแพงขึ้นแต่อย่างใด เพราะยาชื่อสามัญในประเทศหลายยี่ห้อก็มีการ ตรวจชีวสมมูลแล้วคือ ยาดูดซึมเข้าสู่เลือดได้ปริมาณยาที่เข้มข้นถึงมาตรฐานตามที่กำหนด และผ่านการขึ้นทะเบียน อย.แล้ว อีกทั้งการรับประทานยาสม่ำเสมอก็จะช่วยควบคุมสภาพความเข้มข้นของเลือดได้” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

เมื่อถามถึงประชาชนที่หากรับประทานยาล็อตที่มีการปนเปื้อนจริงจะเกิดผลกระทบระยะสั้นหรือระยะยาว หรือต้องเฝ้าระวังอาการใดหรือไม่ ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า โดยทั่วไปสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบจะมีปริมาณไม่มาก เมื่อผลิตเป็นยาและเผลอกินเข้าไปปริมาณที่รับก็จะไม่ได้มาก อย่างไรก็ตาม ที่กังวลคือยากลุ่มลดความดันนั้นต้องกิน ทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีญาติที่เป็นมะเร็ง ก็อาจไม่ต้องกังวลหรือตกใจจนเกินไป ที่สำคัญคือผู้ป่วยที่มีความดันแกว่งหรือสูงไม่ควรหยุดยาทันที ก็ให้ปรึกษาแพทย์ในการเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ รวมถึงหากมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว หากใช้ยาแล้ว มีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรได้ว่ามีอาการอะไร ถ้ามีอาการที่รุนแรงผิดปกติไปก็จะมีการบันทึกส่งถึง อย. หรือประชาชนก็สามารถแจ้งผ่านอินเตอร์เน็ตถึง อย.ได้เช่นกัน เพื่อรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา

เผยเป็นสารไม่บังคับตรวจ
ถามถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่าที่ผ่านมายากลุ่มลดความดันมีการบังคับตรวจสาร 3 ตัว แต่ไม่มี AZBT ที่เป็นสารอาจก่อมะเร็งมาก่อน ซึ่งการเรียกคืนครั้งนี้มาจากสารดังกล่าว ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า สมัยก่อนมาตรฐานเกี่ยวกับกลุ่มสารอาจก่อมะเร็งพวกนี้ไม่ได้มีมากนัก เพิ่งมีมากขึ้นในระยะหลัง ที่เริ่มกังวลเจอตัวนั้นตัวนี้ ตอนขึ้นทะเบียนยา ที่ผ่านมาก็อาจจะไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องตรวจ ซึ่งทางสหภาพยุโรป (อียู) หรือประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ เมื่อมีข้อกังวลในสารเหล่านี้มากขึ้นเขาก็เพิ่มการตรวจมากขึ้นแล้วประกาศออกมา ซึ่งก็มองได้สองมุมคือ ทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยและมั่นใจ เพราะลดปัจจัยเสี่ยงจากการปนเปื้อนลง แต่ในเชิงฝ่ายผลิตโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาก็อาจไม่เคยตรวจ เมื่อมีการสั่งตรวจก็จะเพิ่มต้นทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตยาชื่อสามัญ

“การเรียกคืนยาจากการตรวจเจอสารดังกล่าวในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่า อย.มีการประกาศเป็นมาตรฐานแล้วหรือไม่ว่าให้ตรวจสารตัวนี้ ก่อนมาขึ้นทะเบียนยา อย่างไรก็ตาม หากจะให้มีการตรวจสารตัวนี้เพิ่มขึ้น อย.ก็ต้องมาพิจารณาว่าที่ผ่านมาการประกาศเพียง 3 ตัวเพียงพอหรือไม่ จะเพิ่มการตรวจกี่ตัว เพราะต้องยอมรับว่าการตรวจสารกลุ่มอาจก่อมะเร็งก็จะมีมาเรื่อยๆ หากต้องเพิ่มการตรวจ อย.ก็ต้องออกประกาศให้ชัดเจน ต้องแก้ไขทะเบียนเพิ่มประเด็นว่าให้มีการตรวจสารต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนมาขึ้นทะเบียน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าต่างประเทศเพิ่มเติมการตรวจสารต่างๆ แล้วเราจะเพิ่มเป็นมาตรฐานการตรวจได้ทันที ก็ต้องพิจารณาว่าแล็บของไทยตรวจได้แล้วหรือยัง” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

อย.แนะให้เปลี่ยนตัวยา
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีประกาศเรียกคืนยาลดความดัน “เออบีซาแทน (Irbesartan)” จาก 5 ผู้ผลิต 42 รุ่น เนื่องจากพบการปนเปื้อนสาร AZBT ที่อาจมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา ว่า โดยปกติ อย.มีระบบเฝ้าระวังยาและอาหาร อย่างกรณีนี้ พบว่ามีการประกาศเตือนในต่างประเทศ อย.ก็ต้องมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกใบอนุญาตไปในประเทศไทย ว่ามีสินค้าตามที่ประกาศเตือนหรือไม่ หากมีเราก็จะประกาศแจ้งเตือนให้กับประชาชนรับทราบเพื่อเรียกคืนสินค้า แต่ถ้าไม่มีเราก็จะประกาศว่าตรวจไม่พบในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบสินค้าอยู่ต่อเนื่อง สำหรับยาลดความดันที่ได้ประกาศเตือน ก็เกิดจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาเออบีซาแทน จากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากพบการปนเปื้อนสาร AZBT ที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา เมื่อรับทราบข้อมูลก็ประกาศเตือนในไทย

นพ.ณรงค์กล่าวว่า เมื่อ อย.ทราบข้อมูลและตรวจสอบดังกล่าว ตามขั้นตอนจึงรีบแจ้งไปยังผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต รวมถึงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร.พ.ต่างๆ ซึ่งในระบบเครือข่ายเภสัชกรรม จะทราบข้อมูลในระบบยาอยู่แล้ว ทำให้สามารถตามได้ว่า ยาไปอยู่จุดไหนบ้าง ในส่วนของการประสานติดต่อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับยาที่อยู่ใน 42 รุ่นการผลิต มีการติดตามโดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลก็จะต้องติดต่อไปยังผู้ป่วย รายนั้นๆ ที่ได้รับยาเพื่อเรียกมาเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นแทน ขณะเดียวกันประชาชนที่ใช้ยา ลดความดัน หากพบว่าอยู่ในรุ่นการผลิตที่แจ้งเตือน ให้นำส่งยาดังกล่าวกับทาง ร.พ.หรือร้านขายยาเพื่อแลกเปลี่ยนยา แต่ขอย้ำว่า อย่าหยุดยา เพราะผู้ป่วยบางคนหากหยุดยาไปอาจได้รับผลกระทบต่ออาการที่เป็นอยู่ได้ ให้ทานไปก่อนและจึงนำไปเปลี่ยนยา

เตือนอย่าหยุดยาให้แลกคืน
เมื่อถามว่าผู้ป่วยอาจกังวลถึงผลกระทบต่อการใช้ยาในรุ่นที่ อย.แจ้งเตือน นพ.ณรงค์กล่าวว่า การแจ้งเตือน สืบเนื่องจากข้อมูลต่างประเทศว่า อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็ง แต่ข้อมูลก็ยังไม่ได้ชัด อีกทั้งการทานยาที่จะก่อปัญหาได้ต้องมีปริมาณมาก แต่ระหว่างนี้หากพบว่า ยาที่กินอยู่ในล็อตดังกล่าวก็ขออย่าเพิ่งหยุดทาน เพราะโรคความดันโลหิตจำเป็นต้องทานทุกวัน จากนั้นค่อยไปคืนและแลกเปลี่ยนยาใหม่กลับมา ขณะนี้ อย.กำลังจัดทำระบบเพื่อให้ประชาชนสอบถามข้อมูลต่างๆ รวมทั้งกรณีการใช้ยาด้วย โดยจะทำเป็นแช็ตบอทตอบคำถาม และจะมีสายด่วนเฉพาะขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

เมื่อถามย้ำว่ามีข้อมูลในต่างประเทศหรือว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวไปจะเกิดอันตรายอย่างไร นพ.ณรงค์กล่าวว่า ที่ต่างประเทศมีการประกาศเตือนออกมา แต่ยังไม่ได้มีข้อมูลชี้ชัดว่า มีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อ อย.รับทราบข้อมูลมา ก็ต้องรีบประกาศเตือนและเรียกคืนยาล็อตนั้นๆ

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ป่วยไปซื้อมากินเอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า ผู้ป่วยก็ต้องตรวจสอบว่ายาที่ตนเองมีในตอนนี้เป็น 1 ใน 42 ล็อตการผลิตที่ อย.ประกาศหรือไม่ แนะนำว่าให้มาพบเภสัชกรในสถานพยาบาลดีกว่าการไปหาซื้อยากินเอง เพราะผู้ป่วยบางคนรู้ข่าวดังกล่าว อาจจะหยุดกินยาทันที ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หรือไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นก็ต้องมาพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยารักษาโรคความดันอยู่นั้นขอให้ตรวจสอบรายการยาว่าที่ตัวเองได้รับใบนั้นอยู่ในรายการที่ถูกอย.เรียกคืนหรือไม่ หากเป็นรายการยาเดียวกันขอให้นำยาตัวนั้นไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ที่ท่านรับยาดังกล่าวมาเพื่อปรึกษาแพทย์และขอเปลี่ยนยาตัวใหม่

ย้อนรอยประวัติเรียกยาคืน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีการเรียกคืนยาลดความดันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยประกาศแจ้งเตือนต่อสาธารณชน ในการเรียกคืนยาความดันโลหิต “วาลซาร์แทน” ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โดยเรื่องเกิดขึ้นจากการที่บริษัทผลิตยาวาลซาร์แทนในยุโรป

ตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง “ไนโตรซามีน” ในวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นในการผลิตยาวาลซาร์แทน ซึ่งสารตั้งต้นดังกล่าวผลิตโดยบริษัทในประเทศจีน จึงมีการระงับยาทันที และแจ้งเตือน อย.ทั่วโลกที่มีการ นำเข้าวัตถุดิบจากบริษัทดังกล่าวมาผลิตยา วาลซาร์แทน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเหตุการณ์ในปีนั้นมีบริษัทผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบที่มีการปนเปื้อน 2 บริษัท รวม 5 ตำรับยา ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งผู้ผลิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561

แม้จะปนเปื้อนแค่บางล็อต แต่ครั้งนั้น อย.ได้สั่งเรียกคืนยาทั้งหมด โดยให้ผู้ป่วยนำยาไปเปลี่ยนคืนที่ ร.พ. ซึ่งข้อมูลจากปี 2560 มียาความดันจาก 2 บริษัทนี้รวม 6 ล้านเม็ด และมีผู้ป่วยความดันโลหิตประมาณ 2 หมื่นคนทุกสิทธิการรักษาและทุก รงพ.ทั้งรัฐและเอกชน ที่ใช้ยาตัวนี้ หลังจากเรียกเก็บคืน ก็จะมีการทำลายยาต่อไป

ต่อมาวันที่ 26 ส.ค. 2561 อย.ได้มีการประกาศเรียกคืนยาวาลซาร์แทนอีก 2 ตำรับ หลัง อย.สหรัฐ แถลงเรียกคืน โดยพบวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาจากอินเดีย ตรวจสอบมีการปนเปื้อน N-Nitrosodimethylamine (NDMA) อยู่ในระดับมากเกินระดับที่ยอมรับได้ คล้ายกับกรณีวัตถุดิบผลิตยาจากจีนที่ปนเปื้อน ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มี.ค. 2562 อย. เรียกคืนยาความดัน “ลอซาร์แทน” อีก 2 ตำรับ รวม 142 รุ่นการผลิต หลังสหรัฐ และแคนาดาได้เรียกคืนยา เนื่องจากพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบสารตั้งต้นผลิตยา ในกลุ่มไนโตรซามีน คือ NMBA เช่นกัน

สำหรับข้อแนะนำถึงประชาชนในครั้งนั้นยังมีความคล้ายคลึงในครั้งนี้ โดยขอให้ผู้ป่วยอย่าเพิ่งหยุดยาเอง หากยังไม่สามารถมาเปลี่ยนยาได้ โดยขอให้รับประทานยานั้นไปก่อน เพราะยังไม่พบข้อมูลว่า ก่อให้เกิดมะเร็งใน ผู้ป่วย แต่หากหยุดยาเลยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและมีภาวะหัวใจร่วมด้วย หากหยุดยาเพียง 7-10 วัน อาจจะหัวใจวายถึงแก่ชีวิตได้ จึงอยากให้กังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นจากการหยุดยามากกว่ากังวลเรื่องมะเร็ง ที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดและอาจต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปี เพราะยานี้มีผลไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป โดยขอให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำปรึกษาและเปลี่ยนยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน