อ้าง‘สลากพลัส’ตร.ชี้ระบาดหนัก

ตร.ไซเบอร์เตือนภัยระบาดหนัก เพจปลอมขายลอตเตอรี่ออนไลน์แอบอ้างผู้จำหน่ายเจ้าดังหลังหนุ่มราชบุรีตกเป็นเหยื่อ โดนหลอกให้ซื้อ 90 ใบ ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว รวมเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาท แต่พอติดต่อขอขึ้นเงินกลับให้โอนค่าธรรมเนียม ระหว่างพูดคุยพบพิรุธ เชื่อถูกหลอกแน่นอน ขณะที่ ‘นอท กองสลากพลัส’ จี้หยุดแอบอ้าง พร้อมตั้งเงินนำจับ 3 แสนบาท

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดเผยว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้เสียหายถูกรางวัลจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ แต่ไม่ได้รับเงินรางวัล เนื่องจากภายหลังพบว่าถูกหลอกลวงให้ซื้อลอตเตอรี่ผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอมของมิจฉาชีพ โดยปลอมเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายลอตเตอรี่ออนไลน์ที่มีชื่อเสียง แห่งหนึ่ง ใช้ชื่อเหมือน หรือใกล้เคียงกับเพจจริง แอบอ้างใช้สัญลักษณ์บริษัท หรือหน่วยงานนั้นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเพจปลอมหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์ เพจหน่วยงานราชการปลอม เพจบริษัทห้างร้านปลอม เพจสถาบันการเงินปลอม เพจที่พักปลอม เป็นต้น

โฆษกบช.สอท.กล่าวว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 25 ต.ค.2566 มีประชาชนถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ สูงเป็นลำดับ 1 จำนวน 140,836 เรื่อง หรือ 40.27 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด ความเสียหายรวม 2,041 ล้านบาท พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้ 1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง 2.หากจะซื้อสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง บัญชีถูกสร้างขึ้นมานานแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนชื่อที่น่าสงสัย และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้ 3.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่ หากไม่ได้อยู่ในประเทศอาจจะเป็นมิจฉาชีพ

โฆษกบช.สอท.กล่าวว่า 4.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบชื่อบัญชี และหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์กูเกิ้ล และแบล็กลิสต์เซลเลอร์ เป็นต้น ในกรณีนี้ควรโอนเงินชำระค่าสลากฯ ผ่านบัญชีบริษัทเท่านั้น หากเป็นชื่อบุคคลธรรมดาให้สันนิษฐานว่าเป็นบัญชีม้าของมิจฉาชีพ 5.หากมีการให้โอนเงินไปเพิ่มเติม โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าใดๆ ก็ตาม ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพเช่นกัน 6.ช่วยกันกดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ 7.หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายธนพล บุญเลิศ อายุ 54 ปี ชาวบ้าน ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี แจ้งความตำรวจสภ.โพธาราม โดยระบุว่าซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ ผ่านเพจลอตเตอรี่พลัส แล้วถูกรางวัลเลขท้ายจำนวน 90 ใบ รวมเป็นเงิน 340,000 บาท แต่ไม่ได้รับเงิน ซึ่งเพจดังกล่าวนำรูปนายพันธ์ธวัช นาควิสิทธิ์ หรือนอท กองสลากพลัส เจ้าของลอตเตอรี่พลัส จากนั้นจึงทักไปหาเจ้าของเพจตามที่อ้างเพื่อขอขึ้นเงินรางวัล ก่อนอ้างให้โอนเงินค่าธรรมเนียม 35,000 บาท จึงบอกให้หักค่าธรรมเนียมจากยอดที่ถูกรางวัล พร้อมส่งหมายเลขบัญชีไปให้ แต่ทางนั้นบอกว่าระบบหักจากยอดที่ถูกไม่ได้ ต้องโอนเข้าไปก่อน ผ่านไปจึงสงสัยว่าถูกหลอก จึงเข้าแจ้งความตำรวจ

ต่อมานายพันธ์ธวัช หรือนอท กองสลากพลัส โพสต์ในเพจกองสลากพลัสให้กลุ่มมิจฉาชีพหยุดแอบอ้าง พร้อมตั้งรางวัลนำจับ 300,000 บาท แก่ผู้แจ้งเบาะแสจับกุมมิจฉาชีพที่แอบอ้างเพจกองสลากพลัสไปหลอกลวงประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน