เพชรเกษม81หนักสุด สธ.เปิดศูนย์เฝ้าระวัง

‘กรมอนามัย’สั่งเปิดศูนย์เฝ้าระวัง-ประสานงาน ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ห่วงกรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าฝุ่นยังสูงเริ่มกระทบต่อสุขภาพไปอีกระยะ เตือนกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงท้อง คนทำงานกลางแจ้งสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 พ.ย. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบมีพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 29 พื้นที่ ค่ามาตรฐาน ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยค่าฝุ่นสูงสุดที่ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ วัดค่าฝุ่น 49.3 มคก./ลบ.ม., แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี 41.0 มคก./ลบ.ม., ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน 42.2 มคก./ลบ.ม., แขวงดินแดง เขตดินแดง 48.1 มคก./ลบ.ม., แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม 44.9 มคก./ลบ.ม., ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด 40.9 มคก./ลบ.ม.

ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 40.5 มคก./ลบ.ม., สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 44.3 มคก./ลบ.ม., ริมถนนวิภาวดีรังสิต 39.1 มคก./ลบ.ม., ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 40.4 มคก./ลบ.ม., ริมถนนตรีมิตร วงเวียน โอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ 38.4 มคก./ลบ.ม., ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง 44.1 มคก./ลบ.ม., ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 46.0 มคก./ลบ.ม., ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก 49.2 มคก./ลบ.ม., ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา 37.7 มคก./ลบ.ม., ริมถนนพหลโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร 37.8 มคก./ลบ.ม., ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ 39.8 มคก./ลบ.ม.

ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี 42.1 มคก./ลบ.ม., ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน 38.9 มคก./ลบ.ม., ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ 38.9 มคก./ลบ.ม., ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย 48.8 มคก./ลบ.ม., ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขต ทวีวัฒนา 41.5 มคก./ลบ.ม., ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ 40.4 มคก./ลบ.ม., ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน 43.6 มคก./ลบ.ม., แขวงคลองเตย เขตคลองเตย 37.6 มคก./ลบ.ม., ริมถนนพหลโยธินเขตบางเขน 37.8 มคก./ลบ.ม., ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 40.5 มคก./ลบ.ม., ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 42.1 มคก./ลบ.ม., และ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 41.8 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ค่าฝุ่นได้ลดลงจากวานนี้ (4 พ.ย.) จาก 74 พื้นที่ เหลือเกินมาตรฐาน 29 พื้นที่

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดย พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย จึงให้เจ้าหน้าที่กรมอนามัยเตรียมความพร้อมรับมือ สั่งการให้เปิดศูนย์เฝ้าระวังและประสานงานด้านการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และซักซ้อมความพร้อมในการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นพ.อรรถพลกล่าวอีกว่า พื้นที่ภาคกลางที่ได้รับผลกระทบคือ พื้นที่รับผิดชอบ ของศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ได้เร่งเฝ้าระวังสถานการณ์และสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ทราบถึงสถานการณ์และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในสถานที่สำคัญที่มีกลุ่มเสี่ยงได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเตรียมยกระดับการปฏิบัติการตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ ละวัน ภายใต้มาตรการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 เพื่อดูแลสุขภาพและสร้าง ความมั่นใจให้แก่ประชาชน

“ช่วงนี้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตา อักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึง ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้าง ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงควรดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และทำความสะอาดบ้านเรือน ให้สะอาดปราศจากฝุ่น” นพ.อรรถพลกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน