‘สมศักดิ์’ รับลูก นายกฯ สั่งแก้น้ำท่วม เผยแผนรับมือฝนกระหน่ำภาคใต้ ตั้งศูนย์ส่วนหน้า ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บูรณาการข้อมูลทุกหน่วยเพื่อเตรียมรับมือ อุตุฯ เตือนช่วงนี้ฝนหนักที่ชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีฯ ขณะผู้ว่าฯ เมืองคอนสั่งตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์แล้ว หลังมีฝนหนักต่อเนื่อง จนมีน้ำป่าจากพรหมคีรีไหลลงคลอง

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ภาคใต้ ว่า จากการคาดการณ์ฝนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – เมษายน 2567 พบว่า ในช่วงเดือนพ.ย. 2566 ถึงก.พ. 2567 มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณฝน ตกจำนวนมาก คือพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันภาคใต้มีปริมาณน้ำใช้การรวม 3,620 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 66 โดยแยกเป็นอ่างเก็บน้ำ รัชชประภา มีปริมาณน้ำ 3,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71, อ่างเก็บน้ำบางลาง มีปริมาณน้ำ 565 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ ขณะนี้สทนช.ได้วางมาตรการรับมือฤดูฝน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันทุกวัน นอกจากนี้ยังตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็น รูปธรรม ด้วยการทำฝาย และธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงสามารถช่วยช่วงน้ำแล้งได้อีกด้วย

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์น้ำเริ่มวิกฤต จะตั้งศูนย์ส่วนหน้า ตามที่ตนได้มีนโยบายบูรณการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยให้มีหน้าที่บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก จะได้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้ทัน นอกจากนี้ยังต้องติดตามและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในการดำเนินการจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวันเพื่อสรุปข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมถึงประกอบการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำ และติดตามและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงานอย่าง ใกล้ชิดต่อไป

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกประกาศฉบับที่ 8 (56/2566) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีผล กระทบช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลง มาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 13 พ.ย. 2566 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. 2566 บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดังนี้

จังหวัดที่มีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช จังหวัดที่มีฝนหนักบางแห่ง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก และฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม คลื่นลมบริเวณอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง มากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง








Advertisement

จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่ง ตะวันออกอย่างใกล้ชิด

สะเดาจม – สภาพน้ำท่วมบ้านเรือนในอ.สะเดา จ.สงขลา ระดับน้ำสูงสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านกว่า 400 ครัวเรือน ขณะที่หลายพื้นที่ในภาคใต้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง จนท.เตือนให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นไว้ที่สูง เมื่อวันที่ 13 พ.ย.

รายงานจากสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.สงขลา แจ้งว่า จากฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 11-12 พ.ย. จนเกิดน้ำป่าจากเทือกเขาน้ำค้างชายแดนไทย-มาเลเซีย ไหลบ่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านน้ำลัด หมู่ 2 ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร เกือบทั้งหมู่บ้านประมาณ 400 ครัวเรือน และที่หนักสุดคือบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ลำคลองประมาณ 50 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ น้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและท่วมถนนภายในหมู่บ้าน มัสยิดและโรงเรียนพื้นที่การเกษตรเช่นสวนยางและสวนผลไม้ของชาวบ้าน กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถนนในหมู่บ้านสามารถสัญจรไปมาได้แล้ว ยังน้ำยังท่วมขังในที่ลุ่มต่ำบ้าง ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอยู่

โดย ปภ.สงขลาคาดว่า มวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านน้ำลัด จะไหลต่อไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น ต.ปริก และ ต.ท่าโพธิ์ ซึ่งมีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว มวลน้ำได้ไหลลงคลองอู่ตะเภาทำให้พื้นที่รองรับมวลน้ำจากสำนักแต้วเช่น ต.ปริก ต.ท่าโพธิ์ ได้รับผลกระทบน้อยแต่อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนที่อยู่ที่ลุ่มและใกล้ เชิงเขาต้องระมัดระวังในหน้ามรสุม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.นครศรีธรรมราช ว่า ฝนที่เริ่มตกหนักในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มและแม่น้ำลำคลองสูงขึ้น ในขณะริมทะเลพื้นที่ ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ฝนตกและลม พัดแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คลื่นลมแรงขึ้น ชาวประมงขนาดเล็กได้นำเรือเข้าหลบคลื่น ในพื้นที่คลองสาขาต่างๆ ขณะที่ระดับน้ำในคลองเริ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังชุมชนปากนคร อ.เมือง เริ่มมีน้ำทะเลหนุนสูง แต่ถือว่ายังไม่รุนแรง ล่าสุดช่วงบ่ายที่ผ่านมามีฝนที่ตกหนักบริเวณบนเทือกเขาหลวง ทำให้ลำห้วยวังปลาแงะ ท้องที่ อ.พรหมคีรี มีน้ำป่าสีขุ่นไหลบ่าลงคลอง ขณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศให้ประชาชนที่อยู่ใกล้คลองหรือพื้นที่ลุมต่ำเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันเนื่องจากจนถึงขณะนี้ฝนยังตกต่อเนื่อง

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผวจ.นครศรีธรรมราช สั่งการให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่ราบลุ่ม รวมทั้งทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ ขนอม, สิชล, นบพิตำ, ลานสกา, ท่าศาลา, ปากพนัง, ชะอวด และหัวไทร นอกจากนี้ยังประชุมหารือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันทีที่มีสถานการณ์ เบื้องต้นตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์จ.นครศรีธรรมราช ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว และเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน