เร่งสำรวจพื้นที่เสียหาย ยัน2เขื่อนใหญ่ปลอดภัย

แผ่นดินไหวอีกแล้ว ขนาด 4.0 เมืองกาญจน์ สะเทือนกลางดึก จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ลึกใต้ดิน 6 ก.ม. จังหวัดสั่งตรวจสอบความเสียหายด่วน กฟผ.ยันไม่กระทบ 2 เขื่อนใหญ่ ด้านนักท่องเที่ยวยังมาเที่ยวสะพานมอญคึกคักเป็นปกติ หมอชลน่านเผยเจออีก 2 ร.พ.ที่เชียงใหม่ อาคารร้าวจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ขณะที่อาคาร ร.พ.ทั้ง 15 แห่งสามารถเปิดได้ตามปกติแล้ว เหลือเพียงที่สกลนคร ยังรอผลตรวจทางเทคนิค

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องแผ่นดินไหวที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 เวลา 03.07 น. เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.0 จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ละติจูด 15.185 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.404 องศาตะวันออก ความลึก 6 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ จ.กาญจนบุรี หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบโดยด่วนต่อไป

ขณะที่พี่น้องประชาชนชาวอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน ต้องตกใจตื่นขึ้นมา เนื่องจากอยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงดังลั่น อีกทั้งบ้านเรือนก็สั่นสะเทือนไปทั่ว จากการตรวจสอบการรายงานแผ่นดินไหวของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว พบสาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์

นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการจังหวัด กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีหนังสือในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ด่วนที่สุดที่ กจ (กอปภ.จ.)0021/319 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 จาก ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/อำนวยการจังหวัด ถึงผู้รับปฏิบัติ หัวหน้าส่วนราชการ, ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี, ผู้อำนวยการอำเภอ ทุกอำเภอ, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และผู้อำนวยการ ท้องถิ่นทุกแห่ง ให้ดำเนินการดังนี้

1.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

2.ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน โดยประสานและบูรณาการหน่วยงานเครือข่าย จิตอาสา ภาคเอกชน ชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดความตื่นตระหนกรวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการ 3.สำรวจความเสียหาย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโบราณสถาน อาคารสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน ว่ามีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยเพียงใดในการใช้งานอาคาร และให้ความช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด และ 4. ทั้งนี้ สามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM ตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรีทราบทันที ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-3451-5998 โทรสาร 0-3451-6795 เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

ด้านนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของสถานที่ราชการ และบ้านเรือนของประชาชน เพื่อรายงานให้อำเภอทราบ นอกจากนั้น ได้ประสานผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี ให้ตรวจสอบอาคารหากพบเห็นความเสียหายก็ให้แจ้งมา เพื่อจะได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีทราบ แต่จนถึงขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีรายงานความเสียหายเข้ามาแต่อย่างใด








Advertisement

ส่วนนายชวลิต กันคำ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) เปิดเผยว่า เครื่องวัดอัตราเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหว เขื่อนวชิราลงกรณวัดได้ ค่าสูงสุด 0.00608 g แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและดูแลอย่างดี ตลอดเวลา

วันเดียวกัน นายกฤษฏิ์ กมลวัฒน์ หัวหน้าแผนกวิศวกรรมบำรุงรักษาเขื่อนและแผ่นดินไหว ได้รายงานสรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโครงข่าย กฟผ. ระบุว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวห่างจากเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 48 ก.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 116 ก.ม. เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ไปทางทิศใต้ 237 ก.ม. มีรายงานความรู้สึกสั่นไหว บริเวณ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนแม่จาง เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. ข้อมูลจากเครื่องมือตรวจวัดของ กฟผ.อัตราเร่งของพื้นดินสูงสุด เครื่องมือวัดอัตราเร่งฯ ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนวชิรา ลงกรณ มีค่าสูงสุด 0.00608 g เขื่อนศรีนครินทร์ มีค่าสูงสุด 0.00070 g เขื่อนภูมิพล มีค่าสูงสุด 0.00054 g โดยเขื่อนออกแบบให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวที่ 0.1 g ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://dsrms.egat.co.th/ หรือ http://www.earthquake.tmd.go.th/inside.php

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแต่อย่างใด โดยประชาชนยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนนักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวตามปกติเช่นกัน แต่เพื่อความไม่ประมาท เจ้าหน้าที่จะได้สำรวจตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างสะพานไม้ อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญอย่างละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้นายอ่องมอน พ่อค้าขายของที่ระลึก บริเวณเชิงสะพานไม้ฯ ฝั่งชุมชนชาวมอญบ้านวังกะ เล่าถึงวินาทีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวให้ฟังว่า ช่วงเกิดเหตุตนเองและสมาชิกในครอบครัวกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน แต่ก็ต้องตกใจตื่นขึ้นมาเมื่อได้ยินเสียงสุนัขเห่าพร้อมๆ กับเสียงดังของหลังคาบ้าน ตนจึงเปิดไฟลุกออกมานอกบ้าน พบว่าลูกมะตาดที่ปลูกไว้ข้างบ้านร่วงหล่นลงมาหลายลูก แต่มั่นใจว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ส่งผล กระทบต่อความแข็งแรงของสะพานฯ อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบทางโลกออนไลน์นั้น เบื้องต้นพบว่าประชาชนชาวอำเภอสังขละบุรีออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อแจ้งให้ครอบครัว รวมทั้งเพื่อนและสมาชิกได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางรายแจ้งว่า “แผ่นดินไหวแรงมาก” ที่บ้านสะเหน่พ่องแรงมากๆๆ ค่ะ” ใช่ๆ เหมือนมีหมาไปวิ่งไล่กันบนหลังคาบ้านสัก 10 ตัว” และ “หนูก็ว่าทำไมหลังคาบ้านสั่น ตกใจตื่นเลยค่ะ” เป็นต้น ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายของบ้านเรือนหรือทรัพย์ของประชาชน

น.ส.นาตยา นุ่มวัฒนะ แม่ค้าขายหมูตลาดสดเทศบาลตำบลวังกะ อ.สังขละบุรี เล่าว่า ขณะเกิดเหตุตนพร้อมด้วยสามีและคนงาน กำลังจัดเตรียมเนื้อหมูเพื่อจะนำไปขายที่ตลาด อยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงดังเหมือนมีสุนัขวิ่งไล่กันอยู่บนหลังคาอาคารตลาดสด และรู้สึกได้ว่ามีเสียงดังลั่นเคลื่อนผ่านไปตามใต้พื้นถนนอีกด้วย ขณะนั้นพ่อค้าแม่ค้าทุกคนที่อยู่ในตลาดต่างก็รู้สึกตกใจกันเป็นอย่างมาก ต่างพากันวิ่งออกมาจากตัวอาคารเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย

ส่วนแม่ค้าขายผักรายหนึ่งเล่าว่า ขณะนั้นตนกำลังขนผักลงมาจากรถเพื่อนำไปขาย ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงดังมาจากหลังคาอาคารตลาดสด อีกทั้งใต้พื้นดินมีแรงสั่นสะเทือนเคลื่อนตัวผ่านไปอีกด้วย ครั้งแรกก็รู้สึกตกใจเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอตั้งสติได้จึงคิดได้ว่าเหตุการณ์ ดังกล่าวน่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหว

รายงานว่า สำหรับอำเภอสังขละบุรี เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 – เกิดแผ่นดินไหวความแรงขนาด 4.8 มีจุดศูนย์กลางที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ความลึกประมาณ 4 ก.ม. และวันที่ 20 ส.ค. 2558 – กาญจนบุรี – เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือน แต่ไม่พบความเสียหาย

วันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบจำนวน 14 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และสกลนคร และเมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 18 พ.ย. ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า มีสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่คือโรงพยาบาล (ร.พ.) สันกำแพง อาคารมีรอยแตกร้าว ฝ้าเพดานตกลงมา 1 จุด ส่วนบ้านพัก เจ้าหน้าที่ อาคารบริการอื่นๆ ทุกหลังอยู่ในสภาพปกติ และร.พ.ไชยปราการ อาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่ามีรอยร้าวบนผนังหลายจุด เบื้องต้นศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่แจ้งว่าไม่มีผลต่อโครงสร้าง สถานบริการทั้ง 2 แห่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ โดยในวันนี้จะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย อีกครั้ง

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินโครงสร้างอาคาร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ส่งทีม MSERT เข้าตรวจสอบสถานพยาบาลทั้งหมดแล้ว สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ 15 แห่ง เหลือเพียง ร.พ.สกลนคร ที่ยังคงปิดให้บริการบางส่วน และได้ย้ายจุดบริการออกมาชั่วคราว เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจเรื่องของโครงสร้างอาคาร โดยทีมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทีมวิศวกรอาสา ได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย เบื้องต้นรอยร้าวไม่มีผลต่อโครงสร้างอาคาร แต่ยังต้องรอผลทางเทคนิค ก่อนที่จะประกาศให้เปิดใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน