โต้โพล-อ้างประชาชนแห่ค้าน รองอ้วนเชื่อกฤษฎีกาไม่ยื้อ‘กู้’ ทร.ถาม‘อสส.’ตอบ3ข้อสงสัยหาทางออกปมซื้อ‘เรือดำน้ำ’

นายกฯ ‘เศรษฐา’ ฟิตไม่มีพัก เร่งสางงานต่อทันทีหลังกลับจากเอเปค เรียกเลขาฯ สภาพัฒน์ ผอ.สำนักงบฯ รัฐมนตรีเข้าพบ เผยจีดีพีโตแค่ 1.5% เลวร้ายกว่าที่คิดเยอะ ย้ำสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เชื่อนิด้าโพลชี้เสียงส่วนใหญ่ค้านแจก 1 หมื่น ลั่น ไม่เสียสมาธิ ไม่เสียกำลังใจ ‘ภูมิธรรม’ ยันก่อนปีใหม่ได้ข้อสรุปแนวทางประชามติ ‘นิกร’ เปิดเวทีอีสาน รับฟังการทำประชามติ หนุนส.ส.ร.ยกร่าง กองทัพเรือยื่นถาม อัยการสูงสุด 3 ข้อ ใครมีอำนาจเคาะเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ เล็งทางออกซื้อเรือผิวน้ำทดแทน

เศรษฐาเรียกรมต.พบ-เร่งสางงาน
เวลา 08.30 น. วันที่ 20 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ เชิญสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณมาหารือ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ขึ้นหารือกับนายกฯ ต่อ

จากนั้นเวลา 10.30 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ มาเข้าพบ คาดรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือ คนไทยจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมมอบนโยบาย ให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการ ต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังโรดโชว์ระหว่างการประชุมเอเปค ที่สหรัฐ อเมริกา

ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นพบนายกฯ ด้วย คาดรายงานความพร้อมงานประเพณีลอยกระทง จ.สุโขทัย ตามโครงการ “Thailand Winter Festivals” ที่นายกฯ จะเดินทางไปร่วมงานในวันที่ 27 พ.ย.นี้ และเวลา 11.50 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ได้เข้าพบนายกฯ

ถกแก้หนี้สิน – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเข้าไปติดตามงานและร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยรวมทั้งหมด ที่กระทรวงการคลัง โดยเตรียมแถลงใหญ่วันที่ 28 พ.ย.นี้

ห่วงจีดีพี-ไตรมาส3เลวร้ายกว่าที่คิด
เวลา 13.35 น. ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ามอบนโยบายและติดตามงานที่กระทรวงการคลัง กรณีเรียกเลขาฯ สภาพัฒน์ และผอ.สำนักงบประมาณ เข้าพบได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจหรือไม่ว่า ใช่ ตามที่เสนอไป ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าตัวเลขออกมาเท่าไร

เมื่อถามว่าไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วงใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นห่วงอย่างมาก เท่าที่สอบถาม เลขาฯสภาพัฒน์ ตัวเลขจีดีพีออกมา 1.5% ในไตรมาส 3 เลขาฯ สภาพัฒน์ก็บอกตกใจเพราะนึกว่าจะเห็นเลข 2 เมื่อถามว่าเลขาฯ สภาพัฒน์ระบุหรือไม่ติดปัญหาอุปสรรคอะไร นายกฯ กล่าวว่า มีเหตุผลหลายอย่างทั้งเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน และเรื่องการผลิต ของโรงงาน ทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ เมื่อถามว่าจะส่งผลถึงไตรมาสแรกปีหน้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างส่งผลหมดแต่อย่าเพิ่งข้ามไปไตรมาสแรก เพราะไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ก็ยังเหลืออีกครึ่งไตรมาส ก็ต้องพยายามทำให้ตัวเลขดีขึ้น








Advertisement

ย้ำวิกฤต-เงินดิจิทัลจำเป็น
เมื่อถามว่าที่บอกจะดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราพูดกันเยอะแล้วและทราบว่าขั้นตอนต่อไปเป็นอย่างไร ตัวเลขก็บ่งบอกชัดเจน ขอให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจุดยืนของตนชัดเจน วิกฤตและจำเป็น เมื่อถามว่ามาประชุมที่กระทรวงการคลัง จะหารือกันเรื่องแหล่งเงินกู้โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เอาเรื่องหนี้ก่อน เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต พูดชัดเจนแล้วเรื่องแหล่งเงินกู้ก็ชัดเจนแล้วว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.

โต้นิด้าโพล-ปชช.ค้านแจก1หมื่น
นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กรณี “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ เรื่อง “OK ไหม กับนายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” และการออก พ.ร.บ.กู้เงิน พบส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่า ตนดูคร่าวๆ ไม่ใช่เรื่องนั้นอย่างเดียว ที่เห็นด้วย ก็มี อยากให้แจกก็มี คิดว่าเป็นการสะท้อนความคิดเห็น และเราแถลงไปแล้ว เรื่องอยู่ในมือ กฤษฎีกา วันนี้ได้คุยกันถึงตัวเลขเศรษฐกิจ 1.5% เพื่อนบ้านต่ำสุด 3.3% อินโดนีเซีย เวียดนาม คู่แข่งสำคัญของเราที่จะแย่งแหล่งทุน ตัวเลข 5% กว่าทั้งนั้น มากกว่า 2-3 เท่าในบางประเทศ เป็นการตีความว่าวิกฤตจำเป็นหรือเปล่า แต่สำหรับตนเห็นว่าจำเป็น และยังเป็น อย่างนั้นอยู่

ไม่เสียสมาธิ-ไม่เสียกำลังใจ
เมื่อถามว่าหลังจากนายกฯ แถลงความชัดเจนเงื่อนไขเงินดิจิทัล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมเสียงสะท้อนอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า ตอนนี้ยังรวบรวมต่อ เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องทำกันไป เมื่อถามว่าห่วงหรือไม่กว่า พ.ร.บ.กู้เงินจะออกอาจมีเสียงสะท้อนมากขึ้น ทำให้เสียสมาธิเดินหน้าหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตำแหน่งผู้นำประเทศอยู่ในความรับผิดชอบที่สูง มีหลายภาคส่วน ที่ต้องดูแล แก้ไขปัญหา เสียสมาธิ เสียกำลังใจ คงไม่มีสิทธิ์ คงเป็นข้ออ้างไม่ได้ที่จะไม่ทำงาน ไม่ต้องห่วง ไม่เสียกำลังใจ ไม่เสียสมาธิ

เมื่อถามว่า จีดีพี 1.5% ที่นายกฯ บอกว่ารู้สึกตกใจแต่ระหว่างนำเงินดิจิทัลออกไปสนับสนุนเศรษฐกิจ จะมีเทคนิคบริหารเศรษฐกิจ อย่างไรที่เร็วกว่านี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ดิจิทัล วอลเล็ตเป็นนโยบายหนึ่งที่เป็นนโยบายใหญ่ และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งระบบ เป็นอีกนโยบายหนึ่งเหมือนกัน บางอย่างที่ทำได้ทันทีคือการแก้ไขปัญหา หนี้สิน เราต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

จีดีพี 1.5% สัญญาณเร่งด่วน
เมื่อถามว่านายกฯ จะให้ความมั่นใจ กับประชาชนอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า เรายังทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ อย่างที่บอกเราก็ตกใจกับตัวเลขที่ออกมาขนาดนี้ คาดจะได้ 2% แต่มา 1.5% หายไป 0.5% ถือว่าสูงมาก ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกความเร่งด่วน และความจำเป็นหรือเปล่า คิดว่าตนพูดพอแล้ว เยอะแล้วตรงนี้ เมื่อถามว่า e-Refund กับดิจิทัลวอลเล็ต ประชาชนเลือกได้หนึ่งสิทธิ์ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ใช่ ใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งสองอย่างก็ได้หมด

เมื่อถามว่า ที่พูดว่าเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คิด ขณะที่ก่อนหน้านั้นบอกว่าเศรษฐกิจวิกฤต แปลว่าตอนนี้หนักกว่าที่คิดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าเป็นการคอนเฟิร์ม เป็นการยืนยัน มากกว่าว่าสิ่งที่เราคิดคืออย่างนั้น เมื่อถามว่าคิดว่าไม่เกินความสามารถนายกฯ ใช่หรือไม่ นายเศรษฐายิ้มพร้อมกล่าวว่า สวัสดี ยกมือไหว้ และเดินขึ้นรถทันที

เปิด 5 คำร้องยื่นล้มแจกเงินดิจิทัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการยื่น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต สร้างความเสียหายและสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังระยะยาว และกรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านเพื่อใช้ในโครงการแจกดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง 2560 มาตรา 53 หรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งยื่นให้ผู้ตรวจการฯ ตรวจสอบ 5 คำร้อง ประกอบด้วย

1.วันที่ 28 เม.ย. นายสนธิญา สวัสดี กรณีพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (3)

2.วันที่ 9 ต.ค. นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นกรณีครม.กำหนดนโยบายแจกเงินดิจิทัล ขัดรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

3.วันที่ 18 ต.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และคณะ ร้อง 2 ประเด็น ขอให้พิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 เสนอแนะนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการจะสร้างความเสียหาย สร้างภาระแก่งบประมาณ กระทบระบบการเงินการคลัง และขอให้เสนอความเห็นต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 23 (2) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยกรณีนายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 (2) และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 6 และมาตรา 9 และขอให้ระงับการดำเนินโครงการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

4.วันที่ 25 ต.ค. ผู้ร้อง (ไม่ระบุชื่อ) ขอให้พิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะต่อนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โครงการสร้างความเสียหาย เป็นภาระแก่งบประมาณ กระทบต่อระบบการเงินการคลัง

5. วันที่ 13 พ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำ องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 หรือไม่

ถกผู้ส่งออกข้าวเร่งFTA-หาตลาดใหม่
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีตข้อความผ่าน X ถึงการเชิญผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ มาหารือเกี่ยวกับการส่งออกข้าว ที่ทำเนียบว่า “เนื่องจาก ปัญหาเรื่องข้าวเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ วันนี้ได้เชิญผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เพื่อสอบถามถึงปัญหา และแนวทางเสนอแนะให้รัฐบาล เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกและเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ผลผลิตต่อไร่ที่ยัง ต่ำกว่าคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกัน รวมไปถึงพันธุ์ข้าว บางพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวง เกษตรฯ ทั้งๆ ที่เป็นพันธุ์ข้าวที่ดี ผมจึงสั่งการให้มีการเร่งรัดติดตาม และเร่งจัดทำ FTA รวมไปถึงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ตลาดข้าว ของไทย มีการเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว”

ภูมิธรรมแจงพรบ.กู้ยังอยู่กฤษฎีกา
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ตอนนี้ อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา จริงๆ แล้ว กฤษฎีกาไม่ได้จะมาคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็อยากให้เราช่วยกันดูให้รอบคอบ รัฐบาลก็เห็นด้วยจึงส่งให้กฤษฎีกาช่วยดู ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการและคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

เมื่อถามว่าในการประชุมครม. 21 พ.ย. จะรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบ คงต้องดูว่า จะมีอะไรบ้าง พูดไปแล้วไม่เข้าที่ประชุม จะกลายเป็นผิดอีก เมื่อถามกฤษฎีกาจะส่งรายงานกลับมาช่วงปีใหม่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทางกฤษฎีกายืนยันจะทำให้เร็วที่สุด คิดว่าไม่มีใครจะดึงเรื่องให้ช้า พยายามทำข้อสรุป ให้ชัดเจนเพื่อพิจารณาต่อไปได้ เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่หน่วยงานภาครัฐเห็นด้วยแม้รัฐบาลจะทำร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน หรือต้องบันทึกไว้ในที่ประชุมว่าหน่วยงานใดไม่เห็นด้วย จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดอะไรมากเกินไป ส่วนนี้เป็นนโยบาย รัฐบาล สภาก็รับผิดชอบแล้ว

วิกฤตหรือไม่ให้ถามพ่อค้าแม่ค้า
เมื่อถามว่าการที่มีผู้บริหารเอกชนชั้นนำออกมาหนุนเรื่องนี้ ตอกย้ำสิ่งที่รัฐบาลทำ ว่ากำลังกู้วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนที่นายกฯ บอก นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี วันนี้สะท้อนหลายภาคส่วนและหลายมิติ ยังมีความเห็นที่เหมือนหรือแตกต่างกันอยู่ เช่น ช่วงเช้าได้รับรายงานจากคนที่ไปเที่ยวเชียงใหม่ไปเจอไกด์ หรือเวลาขึ้นรถหลายคนก็บอกว่าอยากได้ วัตถุประสงค์ไม่ใช่อยู่ๆ ไปแจกเงินแต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศ วิกฤตหรือไม่วิกฤตบางทีก็พูดได้เพราะเป็นทัศนะบุคคล อยู่กับสถานะทางวิชาชีพ สถานะทางการเงิน แต่ถ้าคนขายของไม่ได้ คนไม่มีกำลังซื้อ ไปถามพ่อค้าแม่ค้าตอนนี้ก็บอกว่าแย่

ประเทศเราซบเซามาตลอด ตัวเลขทางวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตจริงก็เป็น ส่วนหนึ่ง อยากรู้ว่าวันนี้วิกฤตหรือไม่ให้ไปเดินตลาด ทุกประเทศวันนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็รออยู่ จริงๆ กู้หรือไม่กู้ไม่ใช่สาระสำคัญ กู้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทำได้ ปีก่อนๆ ก็กู้มหาศาล ไม่เห็นใครมีปัญหา เราจะกู้เพื่อให้ประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจกลับมีปัญหา ควรใจกว้าง สอดรับความเป็นจริง ของสังคม

ก่อนปีใหม่สรุปแนวทางประชามติ
นายภูมิธรรม ในฐานะประฐานะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า 24 พ.ย.นี้ จะประชุม คณะกรรมการชุดใหญ่ ส่วนการทำงาน ของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญต้องรอคณะอนุกรรมการสรุปมา จากนั้นจึงจะนำมาประมวลผลเพื่อ พูดคุยกันวันที่ 24 พ.ย. อยากให้รอความชัดเจน วันนั้น

ส่วนจะเคาะว่าจะแก้ส่วนใด ทำประชามติกี่ครั้ง รวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายจะจบในวันที่ 24 พ.ย.นี้เลยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ยืนยัน ไปแล้วว่าภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ น่าจะจบกระบวนการทุกอย่าง และสามารถรวบรวมข้อสรุปเสนอให้ ครม.ได้พิจารณา ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 พร้อมย้ำว่าจะพยายาม ให้จบภายในเดือน ม.ค.

ฟังความเห็น – นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 20 พ.ย.

นิกรฟังความภาคอีสาน
ที่ จ.สกลนคร นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ลงพื้นที่ อ.วานรนิวาส รับฟังความคิดเห็นผู้แทนประชาชนในพื้นที่ชนบทของประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางการทําประชามติ โดยมีนายกนก วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชาธิปไตย ร่วมเป็นวิทยากร

โดยมีคําถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของประชาชนที่เกี่ยวกับแนวทาง การทําประชามติ ได้แก่ 1.ต้องการให้จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่ 2.เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาใดที่จําเป็นต้องแก้ไข 3.การจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าสมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ 4.หากจัดทําประชามติเรื่องการจัดทํารัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ จะไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไม่

หนุนตั้งสสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นายนิกรให้สัมภาษณ์ว่า มีประชาชนจากหลากหลายอาชีพ เกษตรกร อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน นักธุรกิจรายย่อย ตัวแทนผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณมาร่วม ได้รับเสียงสะท้อนว่าต้องอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้นเพราะประชาชนยังรู้สึกว่าไกลตัว ต้องทำให้ รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญมีผลกระทบอย่างไร และจากให้ทดลองตอบคำถามส่วนใหญ่เห็นด้วย ที่จะให้มีส.ส.ร. มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่สะท้อนคือเหมืองโพแทช ซึ่งอธิบายไปว่ารัฐธรรมนูญจะตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เพราะเกี่ยวกับความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องทรัพยากร ธรรมชาติในพื้นที่ เช่น อาจต้องแสดงความ คิดเห็นด้วยการทำประชามติในเรื่องนั้นๆ

ประชาชนยังสะท้อนด้วยว่าหากมีการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญจะออกมาใช้สิทธิออกเสียง ขอย้ำว่ารัฐบาลจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ เพิ่มเติมในเชิงลึกและเชิงกว้างให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาชนมีส่วนร่วมและมีความจำเป็น ต้องมาร่วมออกเสียงทำประชามติ

จี้ก้าวไกล – กลุ่มสมาชิกพรรคก้าวไกล ประมาณ 10 คน เดินทางไปที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ของสส.พรรคในช่วงที่ผ่านมา โดยเตรียมลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 20 พ.ย.

อ้างสมาชิกจี้ก้าวไกลฟันคนทำเสียชื่อ
วันเดียวกัน ที่พรรคก้าวไกล กลุ่มอ้าง เป็นสมาชิกพรรค นำโดยนายสะอาด คงอิ่ม ในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกล พร้อมคณะประมาณ 10 คน นำส้มช้ำใกล้เน่า และเอกสารมอบให้เจ้าหน้าที่พรรคที่เป็นตัวแทนผู้บริหารลงมารับข้อเรียกร้อง ที่เรียกร้องให้จัดการกับสมาชิก และ สส.ที่มีพฤติกรรมทำให้ภาพลักษณ์ พรรคเสื่อมเสีย เช่น การเมาแล้วขับ คุกคามทางเพศ ส่อทุจริตเรียกรับผลประโยชน์

นายสะอาดกล่าวว่า ปัญหาการคุกคาม ทางเพศ การแทรกแซงเรื่องการแปรอักษรของโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ทำให้ตนอึดอัดใจ ยืนยันไม่ได้มาโจมตีพรรคแต่ต้องการให้พรรครักษาความดีและคุณภาพ วันนี้ยังไม่ใช่การลาออกแต่มาเรียกร้อง ต้องการทำให้พรรคแสดงจุดยืน ที่ชัดเจนกับสิ่งที่ทำ ไม่อยากให้ปลาไม่กี่ตัวทำลายปลาหลายๆ ตัว วันนี้ศรัทธาก็ยังไม่หมด ศรัทธามีอยู่ แต่อยากให้แก้ไขสิ่งที่เสียให้ดี

เมื่อผู้สื่อข่าวขอให้แสดงหลักฐานการเป็นสมาชิก นายสะอาดกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะสมัคร ผ่านโซเชี่ยล และเป็นหัวคะแนนจากโลกออนไลน์ “ถ้าจะมาถามถึงว่าเป็นสมาชิก ผมไม่ได้เป็นสมาชิกก็ได้ แต่ผมเลือกพรรคก้าวไกล เลือกตั้งแต่อนาคตใหม่ เรียกว่าไม่ได้เป็นสมาชิกเหรอ” ผู้สื่อข่าวพยายามอธิบายว่าในแง่กฎหมายต้องมีชื่ออยู่ในสมาชิกรรค แต่หากเป็นผู้เลือกตั้งจะเป็นแค่ผู้สนับสนุน กลุ่มที่มายืนยันครั้งหน้าจะนำหลักฐานมาด้วย และวันนี้ยังไม่มีการลาออกจากสมาชิกพรรคแต่เป็นมาตรการขั้นแรก หากพูดคุยแล้วพรรคมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นก็จะไม่ลาออกจากสมาชิกพรรค แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะลาออก

พริษฐ์พร้อมรับฟังทุกความเห็น
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า หากมีสมาชิกพรรคกังวล มีข้อท้วงติงมา เราก็ยินดีรับฟังทุกเสียง การประชุมสามัญประจำปีคาดช่วงเม.ย. ถึง พ.ค. 2567 ผู้บริหารพรรคให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อกก.บห.ชุดนี้จะหมดวาระลง ก็จะเลือก ชุดใหม่ โดยเปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมหาตัวแทน ประจำอำเภอที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนี้ เข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อถามว่า แกนนำและหัวหน้าพรรค มีแนวทางฟื้นฟูศรัทธาพรรคอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูที่ดีที่สุดคือการฟื้นฟูด้วยการกระทำ ที่ผ่านมาเราอาจไม่สามารถป้องกัน หรือรับมือกับปัญหาได้ดีเท่าที่ควร เราสามารถประกาศมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่น่าจะเป็นบทพิสูจน์ในการเรียกความเชื่อมั่นได้ดีที่สุดคือ การพิสูจน์ ด้วยการกระทำ

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมองเป็นกระบวนการดิสเครดิตหรือไม่ เนื่องจากมีโพสต์และ ทวีตข้อความซ้ำๆ นายพริษฐ์กล่าวว่า เมื่อมีความเห็นเข้ามาว่าไม่ว่าเจตนาจะเป็นอย่างไรตนยินดีรับฟัง ถ้าพรรคการเมืองจะเข้าไปบริหารประเทศ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกเสียงก็มีความหมาย ขอไม่ให้ความเห็นว่าเจตนาแต่ละข้อเสนอแนะ หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างไร สิ่งที่ตนให้ความสำคัญมากที่สุดคือตัวเนื้อหาสาระของคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น และหากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นสะท้อน ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เราก็พร้อมที่จะรับฟัง และปรับปรุงแก้ไข

ทร.เล็งซื้อเรือผิวน้ำแทนเรือดำน้ำ
ที่บก.ทร. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องเรือดำน้ำว่า ปี 2564 จีนมีหนังสือแจ้งมาว่าไม่น่าจะได้แล้ว ขอให้ช่วยกันหาทางออก ทาง พล.ร.อ.เชิงเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.คนก่อน ให้กรมอู่ทหารเรือ ไปตรวจสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิต ทดสอบทุกมิติ ทดลองเครื่องวิ่ง 200 ชั่วโมงไม่หยุด ผลที่ออกมาจึงมีรายงานถึงอดีต ผบ.ทร.ว่าเครื่องยนต์น่าจะโอเค เป็นที่มา ของการเซ็นหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม ขออนุญาตเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ถือเป็นทางออกที่ทร.ทำได้ดีที่สุด

ต้องกราบขอบคุณนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ช่วยเจรจากับเยอรมันและจีน ซึ่งก็ยังเป็น คำตอบเดิม จึงมาถึงขั้นตอนถ้าเรือดำน้ำมาถึงทางตันจะเสนอเรืออะไรดี ตนขอไปว่าขอให้เงินจำนวนนี้เป็นเงินของ ทร.ซื้ออาวุธให้ทร. เรือที่น่าจะเหมาะสมคือเรือผิวน้ำ อย่าพึ่ง ไปพูดถึงเรือฟริเกต หรือเรือ OPV หรืออะไร ตนจะขอรับผิดชอบคิดให้

รอคำตอบอสส. 3 ข้อ
การจะซื้อเรือลำหนึ่งมีปัจจัยเป็นองค์ประกอบ มากมาย ยังต้องเจรจาอีกหลายขั้นตอน ขณะนี้ กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือถึงกรม พระธรรมนูญ สอบถามไปว่าการจะแก้ไขสัญญาใครเป็นผู้อนุมัติ ครม. หรือสภา รวมถึง ขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ทร.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดสอบถาม 3 ประเด็น 1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2.การจะเปลี่ยนเรือ ดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะบอกว่าเปลี่ยนได้ 3.การอนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร อยากให้รอคำตอบจากอัยการสูงสุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วันหลังจากส่งหนังสือไป จากนั้นกระทรวงกลาโหม ทร.จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าอย่างไร ยอมรับเป็นเรื่องยาก หากง่ายคงเสร็จไป แต่จะต้องจบในยุคของตน เพราะจะสิ้นสุดสัญญาแล้ว ต้องทำอะไรให้ชัดเจน

“ผมเข้าใจคนที่จะเซ็นอนุมัติเพราะความเป็นห่วง เราจะพยายามทำทุกอย่างให้มันผ่านไปด้วยดี คนเซ็นก็ไม่มีความกังวล ยอมรับว่าผมก็ใจร้อนเช่นกัน และขอให้อานุภาพกรมหลวง เสด็จเตี่ย ช่วยดลบันดาลให้เรือลำนี้จบลงด้วยดี” ผบ.ทร.กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน