สงขลาจ่อวิกฤต 3อำเภอภัยพิบัติ

6 จังหวัดใต้ระทมน้ำท่วม สงขลาวิกฤต ปภ.ประกาศพื้นที่ ภัยพิบัติ 3 อำเภอ สะเดา-ระโนด-สิงหนคร อีก 2 อำเภอ สทิงพระกับกระแสสินธุ์ แม้น้ำลด แต่ยังท่วมขัง ส่วนสุราษฎร์ธานี-พัทลุง-ระนอง-ชุมพร-นครศรีธรรมราช ยังมีน้ำท่วมขังหลังเกิด ฝนตกต่อเนื่องเกือบสัปดาห์แล้ว มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายรวมกว่า 3 หมื่นหลัง ส่วนเมืองแม่กลองน้ำทะเลหนุนสูง นักเรียนต้องลุยน้ำมากินข้าวเที่ยงในโรงอาหารกลางน้ำ ห่วงน.ร.ถูกไฟชอร์ต ผอ.โรงเรียนวอนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ ห่วงเด็กป่วยโรคมากับน้ำ

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้ระหว่าง วันที่ 16-20 พ.ย.เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พัทลุง ระนอง สงขลา ชุมพร และนครศรีธรรมราช รวม 34 อำเภอ 156 ตำบล 770 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 32,831 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นครราชสีมา และสงขลา รวม 19 อำเภอ 95 ตำบล 444 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,199 ครัวเรือน แยกเป็น

1.พัทลุง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน และ อ.เมือง รวม 17 ตำบล 65 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 452 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 2.นครศรีธรรมราช 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.หัวไทร อ.พระพรหม อ.นบพิตำ อ.จุฬาภรณ์ อ.ท่าศาลา อ.พิปูน อ.ทุ่งสง อ.นาบอน อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 51 ตำบล 273 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,946 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 3.สงขลา น้ำท่วม ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สิงหนคร อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.เมือง รวม 27 ตำบล 106 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,801 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกจังหวัด โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน ไลน์ไอดี@1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ รายงานจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จ.สงขลาว่า จ.สงขลาได้จัดทำประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย 3 อำเภอ 23 ตำบล 123 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.สะเดา 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน อ.ระโนด 12 ตำบล 77 หมู่บ้าน และ อ.สิงหนคร 8 ตำบล 35 หมู่บ้าน

รายงานข่าวระบุว่า จ.สงขลามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ย. จำนวน 6 อำเภอ 36 ตำบล 157 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,404 ครัวเรือน 12,724 คน บ้านเรือนเสียหาย 33 หลัง ปัจจุบันยังสถานการณ์ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ 21 ตำบล 75 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.ระโนด 12 ตำบล 51 หมู่บ้าน อ.สทิงพระ 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน อ.สิงหนคร 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน อ.กระแสสินธุ์ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน และ อ.เมือง 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน

ท่วมร.ร. – น้ำทะเลหนุนทะลักเข้าท่วมร.ร.วัดบางประจันต์ (หวังเจริญราษฎร์นุกูล) จ.สมุทรสงคราม เด็กนักเรียนต้องเดินลุยน้ำไปรับประทานอาหารกลางวันกลางน้ำ อีกทั้งต้องไล่เก็บภาชนะต่างๆ ที่ไหลไปตามน้ำเมื่อวันที่ 20 พ.ย.

ด้านจ.สมุทรสงคราม หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเอ่อท่วมทำให้ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะโรงเรียนวัดบางประจันต์ (หวังเจริญราษฎร์นุกูล) ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง ที่นักเรียนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะเวลากลางวันนักเรียนต้องเดินลุยน้ำมารับประทานอาหารกลางวัน ขณะที่เด็กโตต้องช่วยกันยกเก้าอี้ที่ใช้งานอื่นๆ เนื่องจากเก้าอี้ ไม่เพียงพอ มานั่งในโรงอาหาร ส่วนหม้อข้าวที่ใช้เก็บเศษอาหารปกติวางกับพื้น เมื่อน้ำท่วมต้องใช้เชือกผูกไว้ นอกจากนี้ ยังมีสุนัข ที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน เวลาจะกินอาหารชามข้าวก็ไหลไปตามน้ำต้องวิ่งลุยน้ำตามไปกิน ขณะที่หลังรับประทานอาหารนักเรียนก็ต้องเดินลุยน้ำไปกดตู้น้ำดื่ม ซึ่งเสี่ยงกับการถูกไฟดูดด้วย

นางณัฐธิดา สารตา ผอ.โรงเรียนวัด บางประจันต์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดบางประจันต์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 65 คน ครู 5 คน ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผอ.โรงเรียน ที่นี่ ก็มาเจอปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงท่วมโรงเรียน แม้ที่ผ่านมาผู้บริหารคนเดิมจะปรับปรุงแก้ไขช่วยเหลือนักเรียน เช่น ทำสะพานเดินข้ามน้ำท่วมเข้าอาคารเรียน แต่เนื่องจากน้ำที่หนุนสูงทำให้โรงอาหารที่เป็นสถานที่นักเรียน รับประทานอาหารกลางวันประสบปัญหา น้ำท่วมตลอดในช่วงปลายปีที่น้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้เป็นประจำทุกปีมานานหลายปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้นักเรียนได้รับความเดือดร้อน บางรายลื่นล้ม ชุดนักเรียนเปียก ต้องเดินลุยน้ำมานั่งรับประทานอาหาร เท้าก็ต้อง แช่น้ำสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผล ให้เกิดโรค เช่น มือเท้าปาก, โรคฉี่หนู เป็นต้น อีกทั้งเกรงว่าจะมีสัตว์ร้ายเข้ามาทำอันตรายนักเรียนอีกด้วย แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามา ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ จึงวิงวอนผู้มีจิตศรัทธา หรือหน่วยงานช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงเรียนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน