นายกนำคณะทูตร่วมมรดกโลกวัฒนธรรม

นายกฯ นำคณะทูตร่วมฉลองสงกรานต์ไทยมรดกโลก ประชาชนร่วมใจใส่ชุดไทย จัดใหญ่ลานคนเมือง กทม. ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ ในชุด “นางมโหธรเทวี” ร่วมขบวนตำนานนางสงกรานต์ เศรษฐาประกาศเจตนารมณ์รักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เขตบางกะปิ กทม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาวิชาการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง ตอนหนึ่งว่า คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ใน วิถีการเมืองก็ไปด้อยค่าต่างๆ นานา เชื่อว่าทุกคนทราบซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร หลายเรื่องในไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ สงกรานต์ก็เพิ่งได้รับการยกย่องจาก ยูเนสโกเป็นมรดกโลกเชิงวัฒนธรรม ปีหน้าจะจัดสงกรานต์ทั้งเดือน แต่ไม่จำเป็นต้องสาดน้ำกันทั้งเดือน ถ้าใครอยากจะสาดก็สาด เชื่อว่าคนที่มีสติดีคงจะทราบว่าสงกรานต์ทั้งเดือนนั้นคืออะไร เหมือนตรุษจีนที่จัดงานหลายวัน

“ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทยเป็นสิ่งที่ดีงาม ต่างชาติอยากทราบ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ มีอีกหลายอย่างที่สนับสนุนทางการท่องเที่ยว อย่างมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง ที่มีคำว่าไทย อยู่หากไม่นับเรื่องอาหารการกิน มวยไทยถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” นายเศรษฐากล่าว

สงกรานต์ไทย – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แสดงความเคารพและรดน้ำขอพรนายสุรเดช วันทยา ครูคนแรก สมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ระหว่างเป็นประธานเปิดงานฉลองสงกรานต์ไทยเป็นมรดกโลก พร้อมชม ขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ที่ลานคนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.

ต่อมาเวลา 17.45 น. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสที่ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะทูตานุทูต ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ประชาชนจาก 77 จังหวัด อาทิ ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท ตราด เข้าร่วม โดยบรรยากาศเป็นอย่างคึกคัก โดยประชาชนได้ร่วมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าชุดไทย มาร่วมฉลองด้วย

นายเศรษฐากล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสห ประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย ประเพณีปีใหม่ไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้ 1.ประเทศ ไทยจะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ ประเพณีสงกรานต์ ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน

2.ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน

และ 3.ประเทศไทยจะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ด้านนายเสริมศักดิ์กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนสงกรานต์กับยูเนสโก ว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 เห็นชอบให้ดำเนินการเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO นับเป็นความยินดีและภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ในโอกาสที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

นายเสริมศักดิ์กล่าวอีกว่า สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทย ที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่างๆ เป็นต้น

นายเสริมศักดิ์กล่าวด้วยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงได้จัดงานฉลองสงกรานต์มรดกภูมิ ปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติขึ้น เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศชาติ นอกจากนี้ การจัดงานฉลอง สงกรานต์ฯ ยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้ ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเข้าใจและยอมรับในระบบสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอีกด้วย

จากนั้นนายกฯ คณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยงานภาคี ได้สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ พร้อมรับชมขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) 8 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศ แผ่นดินไทย ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” (นางสงกรานต์ประจำปี 2567) ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย มือขวาถือจักรเป็นอาวุธ ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง ต่อด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง และปิดท้ายด้วยขบวนธงตราสัญลักษณ์

นอกจากนี้ ภายในงานฉลองสงกรานต์ ณ ลานคนเมือง ยังมีสินค้าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของกระทรวงวัฒนธรรม กว่า 30 ร้านค้า และร้านจำหน่ายอาหาร ขนมไทย จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ให้ได้ชมและชิม พร้อมด้วยการแสดงดนตรี โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์

ทั้งนี้ เมื่อมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว รัฐภาคีจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ ต้องเสนอรายงานสถานะของรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทุก 6 ปี ประกอบด้วย 7 ประเด็น ดังนี้ 1.ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมและวัฒนธรรมของมรดกภูมิ ปัญญาทางวัฒนธรรม บทบาทของผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2.สถานการณ์ดำรงอยู่และความเสี่ยงในปัจจุบันของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 3.ความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ หลังจาก ที่ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

4.มาตรการที่ดำเนินการที่ส่งเสริมและสนับสนุนอันเนื่องมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 5.การมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 6.หน่วยงานและองค์กรชุมชนที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และ 7.การเปิดโอกาสให้ชุมชน กลุ่มต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในกระบวนการจัดทำรายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน