เริ่มแล้วสปก.เป็นโฉนด แก้หนี้10วันพุ่ง4.4พันล. ‘ชวน’กรีด‘ต่อ’-กก.บห.อย่าใช้ประชาธิปัตย์หากิน สภาจัดเสวนาวันรธน.คึก

ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ยังวุ่นไม่ยุติ ปลัดแรงงานรุดหารือด่วน ‘พิพัฒน์’ เคาะใหม่หรือชงเข้าครม.วันอังคารนี้ หลังนายกฯ ฉุนตัวเลขต่ำแค่ 2-16 บาท กก.ด้านแรงงาน เตือนคิดให้ดีหากล้มมติบอร์ดไตรภาคี แนะนายกฯ หาทางคุมราคาสินค้าด้วย ด้านที่ปรึกษา คสรท.เห็นด้วยกับนายกฯ ควรปรับขึ้น 400 บาท ยันไม่ใช่การแทรกแซง ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร มีผลบังคับใช้แล้ว ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อได้ ‘ชวน’กรีด กรรมการชุด‘เสี่ยต่อ’ อย่าใช้ประชาธิปัตย์หากิน ด้าน‘ชัยชนะ’ ฉะพวกทิ้งปชป. รักพรรคจริงหรือไม่ มท.เปิดยอดลงทะเบียนหนี้ครบ 10 วัน พุ่ง 8.45 หมื่นราย หนี้รวมกว่า 4.46 พันล้าน

นายกฯปลุกดันรธน.ฉบับปชช.
วันที่ 10 ธ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่าน X ว่า 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วันรัฐธรรมนูญ – นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำ สว.วางพานพุ่มดอกไม้เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 7 เนื่องในโอกาสวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.

รัฐสภาคึก-วันฉลองรัฐธรรมนูญ
ที่รัฐสภา จัดพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ และงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจําปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นำสว. วางพานประดับพุ่มดอกไม้ จากนั้นเป็นผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา สำนักเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร ขณะที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกฯ เป็นตัวแทนวางพานประดับพุ่มดอกไม้ ขณะที่พรรคการเมือง ได้ส่งตัวแทนวางพานประดับพุ่มดอกไม้ รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐสภาจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยจัดนิทรรศการ และการแสดงดนตรีสด รวมถึงการจัดกิจกรรมรวมร้านเด่นร้านดัง จัดจำหน่ายอาหารจากร้านค้าในพื้นที่เขตดุสิตและชุมชนข้างเคียง และองค์กรเครือข่าย อาทิ สำนักพิมพ์มติชน ร้านค้าสวัสดิการสำนักงานฯ ไอลอว์ สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดสภากาแฟ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พบพูดคุยกับนักการเมือง

ชวนย้ำคนและพรรคต้องไม่โกง
จากนั้นเวลา 13.30 น. ที่ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษ “ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 90 ปี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทำให้คนที่รังเกียจการเมือง แต่รู้ว่าการเมืองมีประโยชน์ต่อธุรกิจเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป คนเข้ามามีอำนาจ บันดาลได้ สามารถรู้ว่างบประมาณปีนี้มีเท่าไหร่ ถ้ายิ่งเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างจะรู้ได้เลยว่ามีเท่าไหร่ ยืนยันว่า ตนเข้ามาในระบบไม่ใช้เงิน ตนรับไม่ได้ และรณรงค์เพราะตนเห็นความจริงว่า การเมืองของเราถ้าใช้เงินต้องโกง

“ไม่มีหรอก ลงทุน 50 ล้านแล้วเอาคืนเดือนละแสน ตัวเองไม่โกง พรรคก็ต้องโกง อย่าไปคิดว่าต้องเป็นรัฐบาลแล้วโกง ฝ่ายค้านก็โกงได้ เพราะมีการประสานผลประโยชน์กัน ดังนั้น รัฐธรรมนูญสำคัญก็จริง แต่คนก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ดีแต่คำพูด ไม่ใช่ดี แต่บอกว่าปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่ดีแต่บอกว่าทำให้การเมืองซื่อสัตย์ กฎหมายดีคนก็ต้องดีด้วย ผมหวังว่าทุกคนจะได้มีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงสืบไป” นายชวนกล่าว








Advertisement

แนะห้ามนิรโทษคนยึดอำนาจ
จากนั้นมีการเสวนา “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” โดยนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เราต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยกำหนดว่า การรัฐประหารเป็นกบฏ มีความผิดร้ายแรง จะนิรโทษกรรมไม่ได้ บทบัญญัติเช่นนี้ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยที่สำคัญที่สุด

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่บอกว่าจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ถือเป็นกรณีพิเศษที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่การ เขียนแบบนี้อาจทำให้มีปัญหาได้ เพราะรัฐธรรมนูญยึดโยงกันทั้งฉบับ สมมติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บอกว่าไม่จำเป็นต้องมี สว.แล้ว หรือจะเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น ก็ต้องแก้ในหมวด 2 ดังนั้น ให้ยึดเฉพาะหลักการใหญ่คือรูปแบบของรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแค่นั้นก็กว้างพอสมควร แต่ถ้าไปลงว่าจะแก้อะไรไม่ได้เลยในหมวด 1 หมวด 2 เขียนไปเขียนมาอาจมีปัญหาได้

สภากาแฟ – รัฐสภาจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 มีร้านดังออกบูธ พร้อมจัดสภากาแฟ โดยมีนักการเมืองมาร่วมพูดคุยกับประชาชน อาทิ นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และนายศุภณัฐ มีนชัยอนันต์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ลานประชาชน รัฐสภา

วงเสวนาแก้รธน.คึก-ชูตั้งสสร.
เมื่อเวลา 18.00 น. มีเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติฯ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่มไอลอว์ ทั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราตั้งเป้าไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน หากไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เท่ากับเราย่ำอยู่กับที่ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต้องยกเลิกหรือแก้มาตรา 256 เพราะเราติดกับดักมาตรานี้ และเราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามให้มีการรัฐประหาร หากใครทำรัฐประหาร ไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม เพื่อทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย

ด้านนายชัยธวัชกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ส.ส.ร. ต้องมาจากประชาชน ทั้งนี้ พรรคต้อง การให้ทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง แม้จะเสีย ทั้งเงินและเวลาแต่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควร ตอบโจทย์การเมืองในปัจจุบัน นอกจากนี้ต้องแก้ไขกลไกในการตรวจสอบนักการเมืองไม่ให้ฉ้อฉล เพราะปัจจุบันองค์กรที่ตรวจสอบคนอื่นกลายเป็นใช้อำนาจ ฉ้อฉลเอง

ย้ำคำถามประชามติต้องชัดเจน
ส่วนนายยิ่งชีพกล่าวว่า ยอมรับว่า กังวลกับคำถามทำประชามติ เกรงว่าจะยิ่งทำให้มีเงื่อนไจ จึงขอเสนอคำถามทำประชามติ และ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากไหนก็ไม่ทราบ ซึ่งเป็นจุดที่ประกาศชัดแล้วว่าประชาชนต้องการการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งทั้งฉบับใหม่ 100% อย่างไรก็ตาม ตนไม่ติดใจ ถ้าคิดว่าทำประชามติ 3 ครั้งมันเยอะ ไม่ต้องทำครั้งที่ 1 ให้เสนอร่างเข้าสู่สภาฯเลย มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอ และพรรค ก้าวไกลก็จะเสนอ รวมถึงประชาชนจะเสนอเข้ามาด้วย

ด้านนายพริษฐ์กล่าวว่า ส.ส.ร.ควรมีตัวแทนจากทุกกลุ่ม เพื่อป้องกันการแทรกแซง หรือถูกควบคุมจากฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง และเห็นว่าเราต้องตั้งโจทย์ใหญ่ 2 ข้อในการออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอำนาจและที่มาของสว. คณะรัฐมนตรีหรือคุณสมบัตินายกฯ ควรจะเป็นสส.หรือไม่

อนุประชามติรับฟังครบ 4 ภาคแล้ว
นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 4 ภาคครบแล้ว ซึ่งได้รับคำตอบภาพรวมค่อนข้างดี โดยประชาชนอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอยากให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น ซึ่งข้อมูลได้ครบแล้วจากภาคประชาชน ที่สำคัญคือ ข้อมูลความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นคนที่จะต้องลงคะแนนในรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำจดหมายถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว พร้อมส่งคำถามไปให้รัฐสภา เพื่อให้รับทราบถึงเนื้อหาการทำประชามติ และต้องการรับฟังว่าสมาชิกรัฐสภาต้องการทำประชามติก่อนดำเนินการใดๆ หรือไม่

ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการชุดของตนจะประชุมเพื่อสรุปงาน เพราะถือว่าเสร็จภารกิจในห้วงนี้แล้ว ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดใหญ่ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ว่าจะหาข้อสรุปอย่างไรให้ได้ก่อนสิ้นปี

ผู้สื่อข่าวถามว่าการประชุมชุดใหญ่ ในวันที่ 25 ธ.ค.จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาในแนวทางใด นายนิกรกล่าวว่า ต้องรอความเห็นของสมาชิกรัฐสภา

‘ชวน’เผยคนหนุนปชป.แห่ลาออก
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลังได้กรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)ชุดใหม่ ว่า ยังไม่รู้ว่ามีคนลาออกกี่คน ยอมรับว่าเสียดายบุคคลเหล่านั้น และไม่คาดคิดว่านายสาธิต ปิตุเตชะจะลาออก เพราะรู้ว่าจะไม่มาประชุมโดยให้เหตุผลว่าเขาล็อกไว้หมดแล้ว ตนจึงขอร้องให้มาประชุม เขายอมมาแต่มาแล้วลาออก เสียดายคนที่เป็นกำลังสำคัญ ผู้ที่ไม่เกี่ยวกับสส.หลายคน ก็แจ้งลาออก คนที่เคยสนับสนุนพรรคก็ส่งไลน์มาขอลาออก ตนเข้าใจและเห็นใจคนที่ห่วงใย

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ มีการล็อบบี้ไว้ก่อนใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า คงเป็นอย่างนั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส. ที่เป็นผู้ใหญ่ พูดตรงไปตรงมาในที่ประชุมว่า การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ แล้วแต่เลขาธิการพรรคสั่งมาเพราะเลขาฯ ดูแลมา 4 ปี และเมื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ยอมผิดคำพูด มาเป็นหัวหน้าพรรคเอง จึงได้พูดว่า อย่าให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ ความคิดที่ดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ไปร่วมกับเขาไม่ควรเกิดขึ้น

เตือนกก.บห.อย่าใช้พรรคหากิน
นายชวนกล่าวว่า ที่เป็นห่วงคือ อุดมการณ์ของพรรคที่ประกาศมา 78 ปี คือเรื่องการเมืองบริสุทธิ์ และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่ย้ำตลอดมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการยอมรับเป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่เพราะอยู่มานาน หากอยู่นานแล้วโคตรโกง โกงทั้งโคตร หัวหน้าพรรคติดคุก ก็ไม่มีใครยอมรับเป็นสถาบันการเมือง แต่คนรุ่นก่อน หัวหน้าพรรคทุกคนทำหน้าที่ด้วยความซื่อตรง สุจริต จึงทำให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้น ต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในที่ประชุม จึงขอฝาก กก.บห. ที่พะวงเรื่องพวกนี้ให้ช่วยกันดูแล เพราะผ่านมามีข่าวลือเรื่องที่พรรคเข้าไปดูแลในรัฐบาลมีอยู่ไม่น้อย

นายชวนกล่าวว่า ทุกคนเป็นห่วงว่า ต่อจากนี้พรรคจะตกต่ำมากกว่านี้หรือไม่ เพราะเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้สส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ในอนาคตจะดีหรือชั่วอย่างไร ไม่ควรต่ำกว่า 3 คน ผลครั้งนี้ก็มาจาก กก.บห.ชุดที่แล้ว จึงต้องฝากว่าขอให้ยึดอุดมการณ์พรรคเอาไว้ ถึงแม้จะไว้วางใจได้ไม่เต็มที่ก็ตาม ขอฝากกก.บห.บางคนที่ยังอยู่พรรคอยู่ รักและหวงพรรคอยู่ ให้ช่วยกันดูแล อย่าให้เขาเอาพรรคไปหากิน

เสียดายเดียร์-ไม่คิด‘มาร์ค’ไขก๊อก
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะวางบทบาทในพรรคต่อจากนี้อย่างไร นายชวนกล่าวว่า จะช่วยประคับประคอง สนับสนุนสิ่งดีๆ ให้พรรค การที่ตัดสินใจสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะคิดว่าสถานการณ์เป็นช่วงเวลาที่จำเป็น ต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับ และนายอภิสิทธิ์ไม่ด้อยไปกว่าใคร มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถที่จะนำพรรคในช่วงเวลาแบบนี้ให้พัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้ แต่ตนไม่คิดว่านายอภิสิทธิ์จะลาออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งวางมือ เพราะยังมีเวลาอยู่

เช่นเดียวกับน.ส.วทันยา บุนนาค ที่เสียดายและชื่นชมในความพยายาม แต่เมื่อเห็นโพยที่ล็อกไว้ จึงรู้สึกว่าทำไมไปกลัว หัวหน้าพรรคควรได้มาด้วยการแข่งขัน ไม่ใช่ได้มาตามโพย ซึ่งคนดีๆ เราอยากเอาไว้ และอยากเห็นคนใหม่ที่จะเข้ามา อยากเห็นน.ส.วทันยาอยู่ต่อไป เพราะอายุยังน้อย ยังมีอนาคต

ลั่นหนี้บุญคุณ-ไม่ทิ้งปชป.
เมื่อถามย้ำว่ากก.บห.ที่มาตามโพย จะทำให้อึดอัดในการร่วมงานหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ตนป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้มีสถานะมากไปกว่านี้ มีสิทธิในฐานะสมาชิกคนหนึ่งที่จะให้ความเห็นในทางเป็นประโยชน์ เมื่อเห็นมีการฝืนมติพรรค ทั้งที่เวลา 77 ปีของพรรค ไม่เคยมีมาก่อนที่สมาชิกจะไปฝืนมติพรรคกลางสภา ไปรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ทั้งที่คนเสนอไม่ให้รับคือตัวเขาเองคือพล.ต.ต.สุรินทร์ ที่เสนอในที่ประชุมพรรค ว่าไม่ควรรับนายเศรษฐา เพราะเราไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่คนเหล่านี้กลับคำตัวเอง กก.บห.ชุดต่อไปจึงต้องพิจารณาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันที่จะยังอยู่กับพรรคใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า “ผมไม่ไปไหน ยังไงผมก็ต้องอยู่ เพราะเป็นหนี้บุญคุณพรรค ถ้าไม่อยู่ที่พรรคก็ยาก พรรคนี้ให้โอกาส โดยไม่สนใจว่าฐานะ ตระกูลมาอย่างไร ถ้าแสดงตัวว่าคนนี้ดีพอเป็นหัวหน้าพรรคได้ เขาก็เลือก นี่คือสิ่งที่ผ่านมา ดังนั้นบุญคุณอันนี้ใช้ไม่หมดผมต้องตอบแทนบุญคุณในช่วงปลายชีวิตการเมือง”

ชัยชนะยินดีสอบไลน์หลุด
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีมีไลน์กลุ่มประธานสาขาพรรคและตัวแทนสาขาพรรคที่เป็นโหวตเตอร์หลุดว่อนโซเชี่ยล ไม่ให้ยกมือยกเว้นข้อบังคับให้น.ส.วทันยา ว่า กรณีดังกล่าว ต้องดูว่าผู้ที่กระทำนั้นเป็นใคร หากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ร้องเรียนมา ยินดีตรวจสอบและพิจารณาให้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่ามองว่าเป็นการล็อบบี้กันก่อนโหวตหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า มองกันได้แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ต้องว่ากัน แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นมาอย่างไร ส่วนที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลังจากได้หัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น อยากถามว่าคนที่ลาออกนั้นรักพรรคจริงหรือไม่ หากเรารักองค์กร ใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เราก็พร้อมทำงานให้ เชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะอยู่ ในการตัดสินใจเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่อยู่แล้ว

ย้ำปชป.ไม่ใช่พรรคอะไหล่
เมื่อถามว่าเป็นงานหนักของกก.บห.ชุดใหม่หรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ตนในฐานะกก.บห.ชุดใหม่ พร้อมรับฟังทุกเสียง ทุกปัญหา รวมถึงทุกคำวิจารณ์ คำแนะนำนำไปสู่การแก้ปัญหา เพื่อให้พรรคมีเอกภาพ และกลับมาเป็นพรรคหลักได้เหมือนเดิม ตนคิดว่านายเฉลิมชัยมาเพื่อแก้วิกฤต พวกเราขอร้องท่านมา ท่านก็รับฟังทุกปัญหา และได้แถลงชัดเจนว่า ประชาธิปัตย์รับฟังทุกเสียง เราไม่ใช่พรรคอะไหล่ และเราจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง ส่วนเรื่องนโยบายพรรค ต้องยอมรับว่าการเมืองขณะนี้ การแข่งขันกันทางความคิด เราต้องพร้อมรับฟังปัญหาของประชาชน

เมื่อถามว่านายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตสส.ระยองระบุว่าคนไม่มีสัจจะ จะไม่สามารถนำพรรคได้ในสถานการณ์เช่นนี้ นายชัยชนะกล่าวว่า เป็นเรื่องของนายสาธิตที่มีสิทธิ์จะพูดว่ากล่าวได้ เราก็ยอมรับในคำพูดของทุกคน และตนคงไม่ไปโต้เถียงใคร วันนี้เป็นเวลาเริ่มต้นการทำงานที่จะฟื้นฟูพรรค สิ่งที่สำคัญเหนือคำพูดคือ ผลการเลือกตั้งข้างหน้าว่า กก.บห. จะนำพาให้ได้ที่นั่งมากกว่าเดิมหรือไม่

ร่วมรบ.หรือไม่-เป็นเรื่องอนาคต
เมื่อถามว่าหากสมาชิกพรรคหลายคนต่อต้าน จะนำไปสู่สถานการณ์พรรคแตกหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ใครต่อต้าน สมาชิกทั้ง 25 คนที่มีอยู่ตอนนี้ เสียง 23 คนรับได้ ส่วนตัวแทนสาขาพรรค เสียงส่วนใหญ่ก็เลือกมาแล้วคนที่ลาออก รักพรรคหรือรักตัวเอง หากรักพรรคต้องทำงานได้กับทุกคนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค

เมื่อถามว่าพร้อมทำงานเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวพร้อมพลิกขั้วไปร่วมรัฐบาล นายชัยชนะกล่าวว่า ตอนที่ 16 สส.โหวตนายเศรษฐา เป็น นายกฯ เพื่อหาทางออกให้ประเทศและ เราเป็นฝ่ายค้าน เราไม่ได้บอกว่าโหวต เพื่อเป็นรัฐบาล และหลังจากวันโหวตนายกฯ ต้องดูว่าตน ทำงานตรวจสอบและออกไปอภิปรายนายเศรษฐาหรือไม่ ขณะนี้เราเป็นฝ่ายค้านอยู่ ส่วนที่มีข่าวจะไปร่วมรัฐบาลนั้น ใครพูด มีจุดประสงค์ดีกับพรรคหรือไม่ที่พูดเช่นนี้ อย่าไปคาดหวังอนาคตว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะนั่นเป็นเรื่องอนาคต แต่นาทีนี้ เราเป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ปลัดแรงงานถกรมต.ปมค่าจ้าง
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) ที่มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 2-16 บาทว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ เราต้องหารือกันในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ก่อนว่าจะทบทวนหรือไม่ ทั้งนี้ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดนั้น จะมีสูตรของการคำนวณอยู่ จุดเริ่มต้นมาจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด เสนอมายังคณะกรรมการวิชาการกลั่นกรอง ก่อนจะมาสรุปตัวเลขสุดท้ายในคณะกรรมการไตรภาคี

อย่างไรก็ตาม จากกรณีข้อท้วงติง ตนจะปรึกษาหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่าจะนำเสนอมติคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้หรือไม่ รวมถึงจะหารือนอกรอบกับคณะกรรมการไตรภาคี ว่าจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

กก.ลูกจ้างเตือนคิดให้ดีก่อนล้มมติ
ด้านวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า นายกฯ มีสิทธิวิจารณ์และออกความเห็น ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็คงไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป เพราะคาดหวังตามสิ่งที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ แต่จะปรับให้ถึงวันละ 400 บาทในตอนนี้ ทำได้หรือไม่ ก็ต้องดูเหตุผลว่าโละมติได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่บัญญัติไว้ว่า “คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างโดยอิสระ” ซึ่งควรปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงจากภาคส่วนอื่น

ดังนั้น ถ้าหากทำได้ ต้องถามต่อว่าใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ทบทวน เมื่อกรรมการมีมติ รมว.แรงงาน ก็ลงนามเสนอครม หากเข้า ครม.แล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งต้องตอบคำถามว่า การที่ ครม.ให้นำกลับมาทบทวนใหม่นั้น ครม.มีอำนาจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตนคงตอบไม่ได้ ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายว่าทำได้มากน้อยอย่างไร

ชี้ต่างด้าว 5 ล้านคนได้ประโยชน์
นายวีรสุขกล่าวว่า หากคณะกรรมการแต่ละฝ่ายมีคุณธรรม จริยธรรมพอที่จะรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็ต้องเจอกันครึ่งทาง แต่ 400 บาทต่อวันนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ต้องย้ำว่า คำว่าค่าแรงขั้นต่ำ เป็นค่าแรงแรกเข้าของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเรายังมีค่าจ้างมาตรฐานตามฝีมือแรงงานอีกเป็นร้อยสาขาอาชีพ สิ่งสำคัญที่อยากสื่อสารให้สังคมรับรู้คือ ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะมีแรงงานไทยเฉลี่ยที่ 5 แสนคน แต่อีก 5 ล้านกว่าคนเป็นแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้

นายวีรสุขกล่าวว่า ขณะที่มูลค่าสินค้าต่างๆ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แล้วคนไทยกว่า 70 ล้านคนจะต้องมารับภาระตรงนี้

ทางที่ดีหากนายกฯ จะพูดเรื่องค่าแรง ควรเอาเวลาไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาสินค้า ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพลดลง เพื่อให้ประชากรที่มีรายได้เท่านี้อยู่ได้ และผู้ประกอบการก็สามารถดำรงกิจการต่อไป

คสรท.หนุนนายกฯปรับขึ้น 400
ส่วนนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายกฯ ที่ออกมาทักท้วงเรื่องนี้ เพราะผลการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามซัพพอร์ตกลุ่มนายทุนในทุกๆ ด้าน แต่กลับกดค่าจ้างของลูกจ้าง เลยเกิดความ ไม่สมดุล ไม่ยุติธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งควร ได้ค่าแรงสูงกว่านี้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกๆ พื้นที่ ทั้งนี้ การที่นายกฯ ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซง เพราะขนาดกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สำรวจและพิจารณาตัวเลขก่อนเสนอเข้ามา ถามว่ามีสัดส่วนของลูกจ้าง เข้าร่วมอยู่มากน้อยแค่ไหน

นายชาลีกล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะเป็นนั้น คิดว่าควรทำตามที่รัฐบาลพูดเอาไว้ก็ได้คือ 400 บาททั้งประเทศ ซึ่งพอกล้อมแกล้มไปได้ ดีกว่าเพิ่มเพียง 12 บาท ซึ่งการเพิ่มเป็น 400 บาทนี้ ไม่ถือว่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด ในอดีตเราก็มีประสบการณ์ จากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้นได้ เพราะเกิดการ จ้างงานมีรายได้ ตัวเลข จีดีพี ภายในจังหวัดดีขึ้น แต่ตอนนี้จีดีพีระดับจังหวัดดีแค่ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดให้มีค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ นี่เป็นหลักการ ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้ได้ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

มีผลแล้วเปลี่ยนสปก.เป็นโฉนด
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) 2 ฉบับ คือ ระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอด ทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และระเบียบ คปก.ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับ ที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 ธ.ค.2566 มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป

โดยหลังจากการประชุม คปก. ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 ซึ่ง ส.ป.ก.ได้นำร่างระเบียบ คปก. เกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ เสนอต่อที่ประชุมเป็นที่เรียบร้อย และมีมติให้ ส.ป.ก. นำระเบียบ คปก. ฉบับสมบูรณ์เสนอต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นอกจากนั้นยังมีมติสำคัญ คือ 1.มีการแก้ไขปรับปรุงชื่อเอกสารจากเดิม โฉนดเพื่อเกษตรกรรม เป็น โฉนดเพื่อการเกษตร และใช้ ครุฑสีเขียว

2.การกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ จะต้องเป็นแปลงที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีฐานข้อมูลรายแปลงตรงกันกับระบบจัดที่ดินออนไลน์ และไม่มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ มีการเปิดให้ยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2566 โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขกว่า 1.6 ล้านราย

ตีตราครุฑเขียวใช้ประกันสินเชื่อได้
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. เผยว่า หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ร.อ.ธรรมนัส ขอให้ ส.ป.ก. เร่งรัดออกโฉนดให้เสร็จ ตามกำหนดการจะแจกโฉนดเพื่อการเกษตรฉบับแรกพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 15 ม.ค.2567

นอกจากนั้น ส.ป.ก.ยังร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้รับโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเอกสารสิทธิเดิม และขยายเพดานวงเงินกู้แก่เกษตรกร กรณีใช้โฉนด เพื่อการเกษตรค้าประกัน

ลงทะเบียนหนี้10วัน8.4หมื่นราย
วันที่ 10 ธ.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเข้าสู่วันที่สิบ ว่าจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวม 84,507 ราย เพิ่มขึ้นจากวานนี้ (9 ธ.ค.) 1,754 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 76,911 ราย และการลงทะเบียนที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,596 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 54,952 ราย มีมูลหนี้รวม 4,463.863 ล้านบาท

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1.กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 5,440 ราย เจ้าหนี้ 4,250 ราย มูลหนี้ 369.263 ล้านบาท 2.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,548 ราย เจ้าหนี้ 2,629 ราย มูลหนี้ 186.258 ล้านบาท 3.สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,440 ราย เจ้าหนี้ 2,262 ราย มูลหนี้ 200.216 ล้านบาท 4.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,321 ราย เจ้าหนี้ 1,934 ราย มูลหนี้ 220.160 ล้านบาท 5.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,124 ราย เจ้าหนี้ 1,467 ราย มูลหนี้ 130.933 ล้านบาท

จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 112 ราย เจ้าหนี้ 72 ราย มูลหนี้ 4.517 ล้านบาท 2.ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 171 ราย เจ้าหนี้ 117 ราย มูลหนี้ 12.730 ล้านบาท 3.สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 240 ราย เจ้าหนี้ 163 ราย มูลหนี้ 7.201 ล้านบาท 4.ตราด มีผู้ลงทะเบียน 259 ราย เจ้าหนี้ 126 ราย มูลหนี้ 6.995 ล้านบาท และ 5.สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 307 ราย เจ้าหนี้ 186 ราย มูลหนี้ 11.802 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 31 มี.ค.2567 ควบคู่กับการบูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยจะเชิญเจ้าหนี้นอกระบบมาพูดคุยเพื่อพิสูจน์ความจริงและเข้าสู่ขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ขณะนี้ก็มีหลายอำเภอเริ่มดำเนินการแล้ว โดยผลการเจรจาไกล่เกลี่ยได้ข้อสรุปคือการงดเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

พัชรวาทตั้งศูนย์แก้ปัญหาช้างป่า
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาช้างป่า ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่ารวมกันมากกว่า 4,013-4,422 ตัว ต่างกระจายกันอยู่ในป่าอนุรักษ์ 69 แห่ง เพราะการขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าสู่พื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและมนุษย์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงต้องการหาแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่มักจะมีการบุกเข้ามายังพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหลายครั้งหลายพื้นที่ อาทิ ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รวมถึงที่ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

น.ส.เกณิกากล่าวต่อว่า พล.ต.อ.พัชรวาทจึงต้องการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมสั่งตั้งศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่พื้นที่ ในการป้องกันช้างป่าออกมาทำลายพืชผลเกษตร ทำลายบ้านเรือนประชาชนเสียหาย หรือทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า สร้างคูกันช้างป่ารอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จัดทำทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และโป่งเทียมในพื้นที่อีกด้วย หลังจากนี้จะเร่งรัดของบกลางสำหรับจัดจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาเป็นชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า รวมถึงจัดสร้างสถานที่ควบคุมพฤติกรรมช้างป่า และจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้จะสำรวจประชากรช้างป่า ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาจากต่างประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกอีกด้วย

ปฐมฤกษ์รถไฟส่งสินค้าเกษตร
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 10 ธ.ค. ที่สถานีไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อส่งสินค้าเกษตรไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย และสหภาพยุโรป มีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญ สินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นางวรรณภรณ์ เกตุทัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน สำหรับขบวนรถไฟเที่ยวนี้จะนำสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยังนครเฉิงตู เพื่อช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางราง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และ GML ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ครบวงจร มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบยกระดับ

นายธรรมนัสกล่าวว่า ขบวนรถไฟนี้เป็นขบวนรถนำร่องสินค้าเกษตรไปสู่นคร เฉิงตู ก่อนนำไปสู่กลุ่มประเทศยุโรปต่อไป ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญใน การหาตลาดภาคการเกษตร ซึ่งสินค้าเกษตรช่วงแรกก็จะเป็นข้าวและยางพารา ต่อไปก็จะเพิ่มสินค้าและขยายตลาดมากกว่านี้ โดยกลางเดือนมกราคมนี้ ผู้แทนการค้าจะเดินทางไปที่ประเทศจีน เพื่อลงนามพิธีสารในการส่งสินค้าเกษตรหลายตัว ทั้งนี้จะมีการมอบหมายให้ผอ.อ.ต.ก.หาตลาดเพื่อกระจายสินค้าการเกษตรให้มากกว่านี้ และจะส่งออกสินค้าผ่านระบบรางที่จะใช้ระยะเวลาสั้นและประหยัดกว่าการขนส่งทางอื่น เป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้วย การขนส่งจากมาบตาพุดไปจนถึงหนองคายจะใช้เวลาแค่ครึ่งวัน และไปเฉิงตูใช้เวลาประมาณ 4 วัน ถ้าไปด้วยเรือก็จะใช้เวลานานกว่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน