ร่วมเวทีสุดยอดอาซียน-เจแปนก้าวไกลเอาคืน‘สภาล่ม’-วิปรบ.โวยศาลนัดชี้คดีศักดิ์สยาม7มค.67
‘เศรษฐา’บินถึงญี่ปุ่นเข้าร่วมเวทีสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น นำบิ๊ก‘โตโยต้า-ฮอนด้า’ช่วยเจรจาลงทุนในไทย นักธุรกิจญี่ปุ่นแห่เข้าฟังข้อมูล ขณะที่สภาล่มตั้งแต่นัดแรก ‘โรม’ เหน็บเพื่อไทยหน้าที่ใครต้องรักษาองค์ประชุม ‘อิ๊ง’กำชับลูกพรรคอย่าโดดร่ม วิปรัฐบาลโวยโดนเอาคืน 19 ธ.ค.ถก แก้เกม กมธ.ตำรวจขู่หลังปีใหม่บุกพิสูจน์‘ทักษิณ’รักษาตัวอยู่ร.พ.ตำรวจจริงหรือไม่ ‘พีระพันธุ์’ มึนรองโฆษกพรรค‘เก็ต-ชินภัสร์’ไขก๊อกพ้นสมาชิก รทสช. แถมเคลมคำพูดมาตีกิน ศาลรธน.นัดฟังคำวินิจฉัยคดี ‘ศักดิ์สยาม’ ถือหุ้น บุรีเจริญ 17 ม.ค.67

‘นิด’หนีบ 2 บิ๊กค่ายรถไปญี่ปุ่น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. ที่ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมคณะ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. ที่กรุงโตเกียว

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นว่า เป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรก มีเรื่องต้องพูดคุยกันเยอะและจะพบปะกับนายฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา เจ้าชายอับดุล มาทีน มกุฎราชกุมารลำดับที่ 4 ของราชวงศ์บรูไนที่จะอภิเษกสมรสเดือนหน้า ตนเดินทางล่วงหน้าก่อน 2 วัน ไปเจรจาเรื่องการค้าญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นเรื่องยานยนต์ จะเจอรายใหญ่หลายราย เช่น พานาโซนิค และมีอีกหลายนัด พยายามให้บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นมาพบมากขึ้น

มีนักธุรกิจไทยไปด้วยแต่เดินทางไปเอง คือ นายพรวุฒิ สารสิน ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะไปช่วยเจรจาให้ และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เดินทางไปด้วย ยังมีอีกหลายคนที่จะไปช่วยเจรจาเพื่อนำผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำให้เกิดความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ และมีแสงสว่างมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า แสงสว่างมีอยู่แล้ว แต่ความหนักใจ การแบกความหวังปากท้องของประชาชน 68 ล้านคน เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

นายเศรษฐาทวีตย้ำด้วยว่า การเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกเป้าหมายคือดึงดูดการค้าการลงทุน ตั้งใจจะไปพูดคุยกับนักธุรกิจรายใหญ่หลายราย เช่น Panasonic และธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Mitsui Suzuki Mazda Honda Nissan ซึ่งจะสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์อีวี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนสูงสุดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จึงจะพูดคุยเพื่อให้การค้าการลงทุนเข้มแข็งมากขึ้น และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งสองประเทศสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งทางการค้าการลงทุน

ถึงญี่ปุ่น – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พร้อมคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว ฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุม สุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ โดยมี รมช.ต่างประเทศญี่ปุ่นให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ตั้งเป้าไทยเป็นฮับสนง.ใหญ่

เวลา 17.10 น.(ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐาเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮานาดะ) มีนายโคมูระ มาซาฮิโร รมช.การต่างประเทศญี่ปุ่น นางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อุปทูตรักษาการชั่วคราวสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ต้อนรับ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ว่า การไปญี่ปุ่นครั้งนี้บีโอไอเตรียม 3 ภารกิจหลักให้นายกฯ คือการร่วมสัมมนากับภาคการค้าการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เป็นงานใหญ่ที่สุดหลังมีโควิด-19 มีนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 500 คน นายเศรษฐาจะกล่าวถึงทิศทางและมาตรการด้านเศรษฐกิจ จะสื่อสารให้เห็นถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ว่ามุ่งเน้นใน 5 สาขาหลัก คืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ อุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทต่างๆ เพราะญี่ปุ่นลงทุนในไทยมานาน 40-50 ปี มีฐานการผลิตในประเทศไทย

สิ่งที่เราอยากเชิญชวนให้มาลงทุน มากกว่าการเป็นฐานการผลิต คือการวิจัยและพัฒนาและการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย โดยช่วง 4 ปี จากนี้ตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัทให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคในไทย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตราและต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆ ต่อไป ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะพูดเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์และ รับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน

นักธุรกิจญี่ปุ่นแห่ขอคุย

ส่วนที่ 2 จะพบปะกับ 7 บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จะพูดคุยถึงแผนการลงทุน และสื่อสารมาตรการในการสนับสนุนของรัฐบาลไทย เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเขาอยากให้เราสนับสนุนการทำรถยนต์อีวี รถไฮบริดจ์ และอีโคคาร์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาในอนาคต ทั้งเรื่องพลังงานสะอาด และการประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ

พร้อมกันนี้ยังจะพบกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิค ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีและแบตเตอรี่ระดับโลก คูโบต้า ผู้ผลิตเครื่องมือการเกษตรรายใหญ่ในประเทศไทย และบริษัท มิตซุย ที่มีความสนใจเรื่องพลังงานและเคมี ซึ่งการพบบริษัทพานาโซนิค ที่ลงทุนในไทยมายาวนาน และปัจจุบันมีโครงงานในไทยกว่า 10 แห่งนั้น เขาเพิ่มการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี และระบบกักเก็บพลังงานรายใหญ่ของโลก เราอยากเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนคูโบต้า อยากให้มาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ ว่าจะทำอย่างไรในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดที่ไทยยังต้องนำเข้าอยู่

ส่วนที่ 3 นายเศรษฐา นายสุริยะ และบีโอไอ จะนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ต่อบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ลงชื่อเข้าร่วมแล้วกว่า 40 คน อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับการสร้างท่าเรือ การเดินเรือ การประกันภัย การธนาคาร เป็นต้น โดยจะร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ การพูดคุยกับบรรดาบริษัทเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างทีโออาร์ในอนาคตด้วย

นายกฯย้ำ 314 เสียงเหนียวแน่น

ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นว่า ช่วงนั่งรถมาขึ้นเครื่อง ส่งข้อมูลฝากฝังและส่งข้อความถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และคณะทำงานที่อยู่ที่นี่ทั้งหมด ได้ส่งข้อความถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ ฝากการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องการเมืองเป็นห่วงอะไรหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่มีครับ 314 เสียง” ต่อข้อถามว่ายังเหนียวแน่นดี ไม่มีอะไรใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีๆ ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ต้องเพิ่มเติม นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่มีครับ เราพูดจากันด้วยดี ทุกๆ ท่านช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ ทุกท่านทราบดีว่าความคาดหวังของพี่น้องประชาชนคืออะไร เรามีปัญหาเยอะในตอนนี้ ไม่มีเวลามาเล่นการเมืองหรอกครับ” เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเสริมทัพเพิ่มไหม นายเศรษฐากล่าวว่า 314 เสียงครับ

‘เก็ต’ลาออก-ขย่มรทสช.

วันเดียวกัน นายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อดีตผู้สมัครสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เขต 1 เชียงใหม่ เขียนจดหมายลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 10 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนเเปลงไปในทุกมิติ ตนสัมผัสได้ว่าคนไทยต้องการความเปลี่ยนแปลง ประชาชนไม่ต้องการการเมืองเดิมๆ นักการเมืองรุ่นเก่าเดิมๆ ชุดความคิดเดิมๆ อีกต่อไป

“ผมอยู่สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติมา 10 เดือน บินไปเข้าประชุมพรรคจากเชียงใหม่ทุกสัปดาห์ ทุ่มเทพลังกายและพลังใจทํางานกับพรรคมาตลอด ผมจึงกล้าพูดได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนระบบภายใน เเละยังทํางานเเบบเดิม”

ผู้บริหารพรรคในอุดมคติของผมต้องกล้าชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เข้าถึงง่าย ฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรค ใจถึง ทํางานเชิงรุก ทำงานมีระบบ และกล้าเปลี่ยนแปลง หากฝ่ายอนุรักษ์ไม่ปฏิรูปตัวเอง ฝ่ายอนุรักษ์จะไม่มีพื้นที่เหลือในอนาคต

ส่วนสถาบันกษัตริย์ยังคงต้องมีอยู่ จุดยืนข้อนี้ของผมชัดเจน เเต่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องมีมากกว่าปกป้องสถาบันและห้ามเเตะ 112 ไปวันๆ ผมจึงตัดสินใจลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอยุติบทบาทรองโฆษกพรรค ณ บัดนี้

‘พีระพันธุ์’งง-เคลมคำพูดมาตีกิน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมวพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจสิ่งที่นายชินภัสร์โพสต์ เป็นสิ่งที่ตนพูดในที่ประชุมพรรคเมื่อ 12 ธ.ค. ว่าพรรคไม่เดินแบบนั้น ต้องเดินแบบไหน ซึ่งนายชินภัสร์ก็นั่งฟัง ช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้เจอกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ซึ่งคุยกับนายชินภัสร์เมื่อ 13 ธ.ค. ก็ไม่ได้มีอะไร ก็แปลกใจ สิ่งที่นายชินภัสร์สื่อสารคือสิ่งที่ตนพูดในห้องประชุมว่าเวลานี้ประชาชนเบื่อการเมืองแบบนี้ การเมืองที่มีแต่การเมือง ประชาชนต้องการนักการเมืองที่ทำงาน ฉะนั้นการเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติต้องทำงาน จะทำงานในสภาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงพื้นที่พบประชาชน

“พรรครวมไทยสร้างชาติต้องไม่เป็นพรรคการเมืองเพื่อการเมือง ต้องเป็นพรรคที่ทำงานเพื่อประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคอนุรักษนิยมก้าวหน้า อะไรที่จำเป็นต้องปรับ แต่อะไรที่เป็นเสาหลักของประเทศเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราต้องเก็บในสิ่งที่ดี รักษาสิ่งที่เป็นแบบไทย อะไรต้องปรับเปลี่ยนให้ประเทศเดินหน้า สังคมเดินหน้า ประชาชนอยู่แล้วมีความสุข ต้องเปลี่ยนหมด กฎเกณฑ์กติกาใช้ไม่ได้ต้องรื้อทิ้ง”นายพีระพันธุ์กล่าว

โฆษกเชื่อยังไม่เข้าใจงาน

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยไทยสร้างชาติ กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ตนได้พูดคุยกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งทุกคนไม่ทราบเรื่อง สำหรับเหตุผลส่วนตัวในการลาออกทางพรรคเคารพการตัดสินใจและคิดว่าความเห็นที่ให้มานั้น บางส่วนเราคงต้องนำมาพิจารณาว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ยืนยันว่าพรรคมีการสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นายชินภัสร์ ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับพรรคอาจเกิดความรู้สึกว่าในช่วงปิดสมัยประชุมสภาพรรคไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ สส.ได้ลงพื้นที่

“ช่วงปิดสมัยประชุมสภา กิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมืองของพรรคอาจจะน้อย คุณชินภัสร์ อาจยังไม่เข้าใจว่างานทางการเมืองมีทั้งช่วงเปิดสมัยประชุม และปิดประชุม จึงเข้าใจหรือเห็นว่าในช่วงที่ปิดสมัยประชุมไม่มีอะไรเกิดขึ้นจึงคิดว่าพรรคไม่มีอะไรทำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้คิดว่าสามารถทำความเข้าใจได้ ให้คุณชินภัสร์ ได้มีโอกาสทบทวน และคงจะได้มีการพูดคุยกัน หากมีความเข้าใจแล้วอาจจะกลับมาร่วมงานกันใหม่ได้ แต่วันนี้อาจเป็นเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในบทบาทหน้าที่ของการทำงานทางการเมือง”นายอัครเดชกล่าว

สภาล่มตั้งแต่นัดแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 แต่มีปัญหาสภาล่มระหว่างการลงมติว่าจะรับหลักการของร่างข้อบังคับการประชุมสภา (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล(ก.ก.) เสนอ ซึ่งเป็นร่างแก้ไขเพื่อปรับปรุงการทำงานของสภาที่สำคัญ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเปิดเผยรายงานหรือรายละเอียดของการประชุม, ให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 5,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาพิจารณาได้, กำหนดสัดส่วนประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบต้องสังกัดพรรคฝ่ายค้าน เป็นต้น

ในการอภิปราย สส.พรรครัฐบาล ไม่เห็นด้วย แต่พรรคก้าวไกลพยายามประนีประนอม โดยเสนอญัตติขอให้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวให้ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแทนการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ แต่ในที่สุดมีการลงมติจะรับหลักการหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้แสดงตน 332 คน ส่วนการลงมติ มีผู้ลงมติเพียง 228 คน เห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 223 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในสมัยสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา เคยวินิจฉัย องค์ประชุมว่าการลงมติเพื่อรับหลักการหรือ ไม่ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และไม่สามารถใช้เสียงข้างมากได้ จึงสั่งปิดการประชุม และนำมาลงมติใหม่อีกครั้งวันที่ 14 ธ.ค.

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการสนับสนุนวาระดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นสส.พรรค ก้าวไกล แต่กลับไม่พบการลงมติ

ปัดตก-แก้กฎประชุมฉบับก.ก.

เวลา 13.30 น.วันที่ 14 ธ.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาร่าง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นวาระการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ซึ่งค้างจากการประชุมสภา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. เนื่องจากต้องปิดประชุมสภา ด้วยเหตุที่ผู้ลงมติมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีของสภา และถือว่าเป็นการประชุมล่ม โดยมีผู้ลงชื่อเป็นองค์ประชุมจำนวน 364 คน และลงมติเสียงไม่หลักการ 233 เสียงรับหลักการ 158 เสียง ถือว่าร่างข้อบังคับดังกล่าวต้องตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการพิจารณาร่างข้อบังคับดังกล่าวถือเป็นร่างกฎหมายของสภา ที่เข้าสู่วาระการพิจารณาสภา ชุดที่ 26 เป็นฉบับแรก และต้องตกไปด้วยมติข้างมากของที่ประชุมสภา

‘โรม’เหน็บพท.หน้าที่ใคร

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสภาล่มระหว่างการลงมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับแก้ไขว่า ต้องดูคำชี้แจงของพรรคเพื่อไทย (พท.)ในอดีต ที่เคยพูดเอาไว้ว่าองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้ววันนี้ใครเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่

วันแรกของการเปิดประชุมสภา หากเปรียบวันแรกของการเปิดเทอมก็คือวันแรกที่นักเรียนต้องมาเรียนครบ แต่กลับมาไม่ถึง 250 คนหรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งแปลว่าอะไร เราไม่ได้ตั้งใจจะให้ล่ม ตั้งใจว่าหักเสียงรัฐบาล 250 เสียง เราตั้งใจว่าจะเติม แต่เราต้องการให้ประชาชนตรวจสอบว่า สส.รัฐบาลมากันครบหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลที่อยากมาเป็น สส.กันนักหนาสุดท้ายอยู่ทำหน้าที่หรือไม่ ฝ่ายค้านต้องการปกป้องภาพลักษณ์สภา แต่หากเป็นการปกป้องแล้วแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาก็ไม่มีประโยชน์

นายกฯไม่ยุ่ง-‘อิ๊ง’กำชับลูกพรรค

ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสภาล่มตั้งแต่เปิดสมัยประชุมวันแรกได้กำชับสส.ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเข้าใจว่าทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองดี ตนคงไม่ไปก้าวก่ายเพราะอยู่ฝ่ายบริหาร

ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องกำชับ สส.ในเรื่องนี้ เพราะการประชุมสภามีความสำคัญทุกครั้ง การไปร่วมคือการให้ความสำคัญ และคิดว่าสส.หลายคนไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว ทุกคนที่เป็นสส.ที่ถูกเลือกจากพี่น้องประชาชนต้องทราบอยู่แล้วว่าการประชุมสภามีความสำคัญ

วิปรบ.โวยก้าวไกลเอาคืน

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ดูแล้วเป็นการแก้เผ็ดของพรรคก้าวไกลที่คงไม่พอใจสส.รัฐบาลไม่ลงมติโหวตเลื่อนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้พรรค ก้าวไกลในช่วงเช้าวันที่ 13 ธ.ค. จึงมาเอาคืนในการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ตอนนับองค์ประชุมก็ช่วยแสดงตนให้ แต่ไม่ยอมกดคะแนนตอนลงมติ ถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลจะต้องนำไปแก้ไข ในการประชุม วิปรัฐบาล วันที่ 19 ธ.ค.โดยจะนำเรื่องสภาล่มมาหารือในที่ประชุม เพื่อวางมาตรการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเหตุสภาล่มขึ้นมาอีก

ส่วนที่รัฐบาลมีสส. 314 เสียง แต่ยังปล่อยให้สภาล่มได้นั้น นายครูมานิตย์กล่าวว่า อยากให้มองวิกฤตเป็นโอกาส เรื่องที่เกิดขึ้นถือว่า พรรคก้าวไกลส่งสัญญาณเตือนมาแล้ว เราต้องเตรียมรับมือหลังจากนี้ให้ดี ตอนนี้ก้าวไกลมีเขี้ยวเล็บมากขึ้น ไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไป เขาเรียนรู้การใช้วิชาการเมืองแล้ว ไม่ได้มีแค่หลักวิชาการอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้วิชาการเมืองมาจากแกนนำเพื่อไทยที่ใช้ในสมัยที่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องระวังตัวมากขึ้น ไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

กมธ.ตร.ผิดหวังราชทัณฑ์

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังการประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียน ให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และพักรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ โดยมีนายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ และพล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นพ.(สบ.7) โรงพยาบาลตำรวจ เข้าชี้แจงว่า กมธ.และตนตั้งคำถามกับกรมราชทัณฑ์ ถึงขั้นตอนการรับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการวินิจฉัย ก่อนส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจอย่างไร มี โรงพยาบาลใดบ้างที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับกรมราชทัณฑ์ งบประมาณที่ใช้ในการรักษานักโทษ มีอะไรบ้าง ทำไมการเดินทางไปเรือนจำของนักโทษชายทักษิณ จึงไม่ใช้รถของเรือนจำ แต่น่าผิดหวังเราไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างจากกรมราชทัณฑ์

นายชัยชนะกล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่ต้องกักตัว ตัดผม ต้องอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ดังนั้น กมธ.การตำรวจและผู้ร้องเห็นว่า ในเมื่อผู้เข้ามาชี้แจงไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างชัดเจนต่อตัวผู้ร้อง และสังคมไทยได้ กมธ.การตำรวจ จึงจะจัดทำหนังสือเชิญ และขอเอกสารจาก นายทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก่อน แล้วจะเรียกเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.การตำรวจอีกครั้ง “เมื่อได้รับคำชี้แจงเป็นที่ประจักษ์แล้ว หลังปีใหม่ก่อนวันเด็กเราจะไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่านายทักษิณพักรักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ถือเป็นของขวัญวันเด็ก

สู่เวทีโลก – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมงานสัมมนาติดปีกผู้ประกอบการไทยด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ เอ็กซ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ กทม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

‘อิ๊ง’อยากให้พ่อพ้นโทษเร็ว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิจารณ์หลังกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบใหม่ เรื่องการจำคุกนอกเรือนจำจะทำให้นายทักษิณ รวมระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจซึ่งเกิน 100 วัน นับเป็นวันจำคุกว่า ระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2560 คิดว่ากฎนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อใคร และยังไม่ทราบว่าคุณพ่อเข้าข่ายหรือไม่ พูดจริงๆ ว่ายังไม่ทราบ

“ส่วนตัวมองว่าออกยิ่งเร็วยิ่งดี นี่เป็นความรู้สึกของลูก แต่เรื่องอื่นขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม กรมราชทัณฑ์และคุณหมอ เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือให้กำลังใจกันเองในครอบครัว เพราะคุณพ่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมาย และขอให้ท่านมีกำลังใจ ออกมาอย่างแข็งแรงและสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ในแง่เป็นที่ปรึกษาตนเองและใครก็ตามที่ยังเคารพรักท่านอยู่ ให้มีความรู้ ใช้ความรู้ ความสามารถของท่านให้ประเทศชาตินี้ไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีวันถอยหลัง นี่คือสิ่งที่ตั้งใจและอยากให้มันเป็น” น.ส.แพทองธารกล่าว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นายทักษิณ จะได้ประโยชน์หรือไม่ว่า ตนไม่ได้ศึกษา เพราะต้องทำหน้าที่อื่น เมื่อถามว่า ในฐานะรองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม มองอย่างไร นายสมศักดิ์กล่าวว่า เอาเรื่องอื่นดีกว่า เรื่องนี้มันผ่านไปแล้ว และต้องให้เกียรติกระทรวงยุติธรรม

ศาลนัดชี้คดี ‘ศักดิ์สยาม’

เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มการไต่สวนพยานบุคคล 6 ปาก ในคดีที่ สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 54 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นการกระทำต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

ศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งการไต่สวนพยานในวันนี้ ศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่เข้าร่วมรับฟังการไต่สวน

ในวันนี้นายศักดิ์สยามได้มาร่วมไต่สวนตนเองตั้งแต่เวลา 08.30 น. และมี นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้ร้อง เข้าร่วมฟังการไต่สวนด้วย ซึ่งใช้้เวลาในการไต่สวนนานกว่า 5 ชั่วโมง

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารภายหลังการไต่สวนพยานเสร็จว่า ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ น.ส.วรางสิริ ระกิติ น.ส.ฐิติมา เกลาพิมาย และน.ส.อัญชลี ปรุดรัมย์ โดยตอบข้อ ซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน