แรงงานโวปีหน้าปรับขึ้น2หน

บอร์ดไตรภาคีเคาะแล้วขึ้นค่าจ้างหลังนายกฯ ไม่เห็นด้วยว่าน้อยไป โดยยังยืนยันมติค่าแรงขั้นต่ำแบบเดิมวันละ 2-16 บาทไปก่อนทั่วประเทศ ปลัดแรงงานไฟเขียว รื้อสูตรคำนวณใหม่ ให้เพิ่มค่าจ้างเป็นรายอาชีพพร้อมใช้ในปีหน้า แถมขึ้นค่าแรงเป็นปีละ 2 ครั้งด้วย รมว.พิพัฒน์เล็งพื้นที่ที่เศรษฐกิจดีก็ให้ขึ้นค่าแรงไปตามรายได้ตามด้วย

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2 หลังจากที่ประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เพื่อหารือกับคณะกรรมการในประเด็นที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง สั่งการให้มีการทบทวนมติค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้จะต้องพูดคุยกันถึงเรื่องการทบทวนมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่าจะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ หากจะต้องโหวตก็จะต้องใช้คะแนน 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน ที่มาจากทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการกระทรวงแรงงาน เมื่อถามว่ากรณีนี้ถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวสั้นๆ ว่า ใช่

เมื่อถามถึงจุดยืนฝ่ายนายจ้าง นายอรรถยุทธกล่าวว่า จุดยืนของฝ่ายนายจ้างก็เป็นไปตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนจะปรับสูตรการคำนวณค่าจ้างหรือไม่นั้น ก็ต้องเป็นการพูดคุยกันในที่ประชุม

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ระหว่างคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 กำลังประชุมหารือถึงมติค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า ตามที่ตนได้ตั้งข้อสังเกตถึงการคำนวณอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เอาค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563-2564 ที่มีการระบาดของ โควิด-19 มารวมอยู่ในการคำนวณค่าเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงปีดังกล่าวนั้น เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำมาก ดังนั้น การเอา 2 ปีนั้นมาคำนวณก็ทำให้อัตราค่าเฉลี่ยต่ำลง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง วันเดียวกันนี้จึงมีการประชุมหารือของไตรภาคีอีกครั้ง ซึ่งจะต้องหารือกันถึงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

“โดยเฉพาะที่ผ่านมามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมรายจังหวัด แต่การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในรายจังหวัดให้ถึงวันละ 400 บาท คงจะมีผลกระทบกับบางภาคธุรกิจ ผมจึงได้ให้นโยบายผ่านปลัดกระทรวงว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะมีช่องทางลงไปในรายละเอียดถึงระดับอาชีพ ที่สามารถแยกออกไปและสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้สูงขึ้น ผมมองว่าส่วนนี้ควรนำมาพิจารณา ไม่ใช่การพิจารณาขึ้นรายจังหวัด แต่ให้พิจารณาเป็นรายอำเภอ หรือรายเทศบาล ซึ่งจะเป็นการลงรายละเอียดมากขึ้น เพราะในบางธุรกิจในบางพื้นที่อาจจะไม่ได้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การประกาศค่าจ้างภาพรวม อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ดังนั้น ถ้าจะยุติธรรมที่สุดคือ อาจเลือกประกาศรายอาชีพ ฉะนั้นวันนี้ผมได้ให้ข้อคิดกับปลัดกระทรวงในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง แต่ผมในฐานะการเมืองไม่มีสิทธิแทรกแซงหรือชี้นำไตรภาคี แต่สามารถแนะนำฝ่ายข้าราชการได้ ว่าให้คงหลักการในอดีตไว้ แต่ให้ลงในรายละเอียด แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่ข้อสรุปของไตรภาคี” นายพิพัฒน์กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นการรื้อโครงสร้างของคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพหรือไม่ นายพิพัฒน์กล่าวว่า วันนี้เรามีเวลาน้อย ฉะนั้นอาจจะยกมาเป็นบางจังหวัด เช่น จังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี หรือรายอำเภอ ไปจนถึงรายอาชีพ








Advertisement

“เป็นอีกมิติหนึ่งของกระทรวงแรงงานในยุคที่ผมเข้ามาทำงาน และยุคของท่านนายกฯ เศรษฐาที่ได้ให้นโยบายมา เราก็คงต้องมารื้อระบบว่า ต่อไปเราคงไม่ประกาศเหมาทั้งจังหวัด แต่อาจจะลงลึกในรายอำเภอ เทศบาลหรือรายอาชีพ เช่นวันนี้ประเทศไทยอัดฉีดการท่องเที่ยว ฉะนั้นสาขาการท่องเที่ยวและบันเทิง ค่าแรงก็ควรจะขึ้นเป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่ และตามที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศเปิดสถานบริการได้ถึงเวลา ตี 4 ใน 4 จังหวัด ดังนั้น ภาคบริการท่องเที่ยวควรจะขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำได้มากกว่าสาขาอื่นหรือไม่ เราจะต้องหาข้อมูลและศึกษาว่าเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นการประกาศปรับในกลางปีหรือปี 2568 ต่อไปได้” นายพิพัฒน์กล่าว

จากนั้น เวลา 12.00 น. นายไพโรจน์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 10/2566 หลังจากที่มีการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธ.ค. ส่วนข้อสังเกตจากรมว.แรงงาน นั้น ทางคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบเรื่องนี้โดยจะนำไปพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งวันที่ 17 ม.ค.2566 ตนจะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นช่วงใดก็จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ด้วย

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ที่คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ปรับขึ้นตามมติเดิมนั้นอยู่ในอัตรา 2-16 บาท โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นมาที่สุดเพิ่มวันละ 16 บาท เป็นวันละ 370 บาท รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นครปฐม และสมุทรสาคร เพิ่มวันละ 10 บาท เป็นวันละ 363 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เพิ่มขึ้น 2 บาท จากวันละ 328 บาทเป็นวันละ 330 บาท ซึ่งหากผ่านการเห็นชอบจากครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า มาตรการหนี้ทั้งระบบ มีข้อสั่งการจากนายเศรษฐาว่า ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ออกระเบียบในการหักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดของข้าราชการ ให้มีเงินคงเหลือในการดำรงไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งเป็นแนวทางที่ประกาศใช้แล้วของกระทรวงศึกษาธิการ โดยยืนยันว่า กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีเงินเดือนประจำ

ทั้งนี้ ให้ประธานคณะกรรมการกำกับแก้ไขหนี้สิน ประสานกับเจ้าหนี้เงินกู้ เพื่อสวัสดิการแก่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ ซึ่งดำเนินการแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.โดยประชุมกับส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยได้ข้อสรุป เคาะเพดานดอกเบี้ย กับกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ไม่เกิน 4.75% กำหนดการชำระหนี้ได้ถึง 75 ปี นอกจากนี้ สหกรณ์ยังสามารถจัดเงินกู้พิเศษได้ด้วย ซึ่งจะเป็นกลไกในการแก้ไข และยืดระยะเวลา ลดภาระรายเดือนของพี่น้องข้าราชการ

สำหรับในระยะต่อไป จะประสานกับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ซึ่งได้หารือในเบื้องต้น และให้ความร่วมมือในเรื่องของกรอบ และอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มข้าราชการที่จะเข้าไปอยู่ในธนาคารเหล่านี้ ในอัตรา 4.75% เช่นเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะกำหนดเงื่อนไขในเรื่องของกรอบระยะเวลา โดยคาดว่าจะใช้กรอบใกล้เคียงกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะแก้ไขกลุ่มข้าราชการครู ตำรวจ ซึ่งจำนวนดังกล่าวมีทั้งสิ้น 3.1 ล้านกว่าราย โดยเป็นหนี้ของครูประมาณ 900,000 ราย และส่วนที่เหลือคือ ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ส่วนราชการ อื่นๆ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน