การทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เช่นการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นต้น จะต้องประกอบด้วยองค์คุณ 3 ประการ คือ

1.ปัจจัยวัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์

2.เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์

3.พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์

ความบริสุทธิ์ของปัจจัยวัตถุ สิ่งของที่นำมาทำบุญ มีลักษณะ ดังนี้

1.เงินที่จับจ่ายใช้สอยซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้น ต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีพ เกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนโดยตรง

2.สิ่งของที่นำมาทำบุญนั้นเป็นของบริสุทธิ์ คือ ไม่ได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ฆ่าสัตว์มาทำบุญ เป็นต้น

3.วัตถุสิ่งของที่นำมาทำบุญนั้น เป็นของมีคุณภาพดี และเป็นส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งของที่มีอยู่ เช่น ข้าวสุกที่นำมาใส่บาตรนั้น เป็นข้าวปากหม้อ แกงเป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกมาจากหม้อ เป็นต้น

4.วัตถุสิ่งของนั้นสมควรแก่สมณบริโภค ไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร

เจตนา คือ ความตั้งใจของผู้ทำบุญ ต้องบริสุทธิ์ในกาลทั้ง 3 คือ

1.ความตั้งในก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่มีความเสียดาย

2.ความตั้งในขณะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปลาบปลื้มปีติยินดีในการทำบุญนั้น

3.ความตั้งใจหลังจากทำบุญไปแล้ว หวนระลึกถึงการทำบุญที่ล่วงมาแล้ว มีความปีติโสมนัสในบุญกุศลนั้น ไม่มีความเสียดาย

ผู้ที่ทำบุญด้วยความตั้งใจอันบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาลดังกล่าวแล้ว ต่อไปในอนาคตเมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ย่อมจะมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่เกิดจนตลอดอายุขัย

ถ้าความตั้งใจก่อนจะทำบุญไม่บริสุทธิ์ เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ เบื้องต้นแห่งชีวิต คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 25 ปี จะมีแต่ความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน จะหาความสุขได้ยาก จะเริ่มมีความสุขความเจริญตั้งแต่อายุ 26 ปี เป็นต้นไปจนตลอดอายุขัย ถ้าความตั้งใจขณะทำบุญไม่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก เดือดร้อนตั้งแต่อายุ 26 ปี จนถึงอายุ 50 ปี จะเริ่มมีความสุขตั้งแต่อายุ 51 ปี เป็นต้นไปจนตลอดอายุขัย

ถ้าความตั้งใจหลังจากทำบุญไปแล้วไม่บริสุทธิ์ คือ นึกเสียดายจะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ตั้งแต่อายุ 51 เป็นต้นไป จนถึงอายุ 75 ปี หลังจากนั้นจึงจะมีความสุขจนตลอดอายุขัย

ผู้ที่ทำบุญให้ทานแล้ว นึกเสียดายในภายหลัง เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ แม้จะเป็นคนร่ำรวย แต่ก็เป็นคนขี้เหนียว เพราะโทษที่เกิดจากการทำบุญให้ทานแล้วนึกเสียดายในภายหลัง

พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ พระอริยบุคคล หรือพระภิกษุสามเณรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ หรือเป็นผู้กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ

เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้จะทำบุญในพระพุทธศาสนาจึงนิยมพิจารณาเลือกเขตที่เหมาะสม

โดย…พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน