ตลาดไร้เงินสดบูม – โอกาสของอีวอลเล็ตหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาพร้อมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนจับจ่ายซื้อของทางออนไลน์

หลายธุรกิจกำลังผลักดันการชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ใช้ เงินสด ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อสกัดโควิด-19

ที่เวียดนาม บริษัทโมโมประกาศแผนธุรกิจว่าจะเสนอบริการกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์แก่บริษัทให้บริการรถโดยสารบีกรุ๊ป

สมาร์ตเพย์ทำข้อตกลงกับธนาคารเวียตแคปปิตอลอนุญาต ให้ลูกค้าเปิดบัญชีออมทรัพย์โดยใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

บริษัทดังกล่าวซึ่งเข้ามาในตลาดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้วพุ่งเป้าตลาดอีวอลเล็ตเพิ่มมากขึ้น แม้ในตลาด ดังกล่าวในเวียดนามมีผู้เล่นจำนวนมากอยู่แล้ว

อีกราย บริษัทแอร์เพย์ หุ้นส่วนของช้อปปี้ เสนอของขวัญมูลค่า 4.3 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 135 บาทเพื่อดึงดูดลูกค้า

ช้อปปี้เผยว่า การทำธุรกรรมไร้เงินสดผ่านบัตรเครดิตและแอร์เพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งกรุงฮานอย เมืองดานัง และจังหวัดเถื่อเทียนเหว้ มีการทำธุรกรรมไร้เงินสดร้อยละ 80 ผู้ใช้อายุระหว่าง 18-34 ปี

เว็บไซต์เวียดนามอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์เพรสรายงานว่า บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทกและธนาคาร กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านอีวอลเล็ต ส่วนประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงการไปร้านค้าจริง

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาบอสตันกรุ๊ปเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้อีวอลเล็ตในสมาชิกอาเซียนของประชาชนอายุเกินกว่า 15 ปี พบว่าสิงคโปร์ร้อยละ 17.1 ไทยร้อยละ 10.7 เวียดนาม ร้อยละ 10.6 ส่วนจีน ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนร้อยละ 35.2

เวียดนามจึงหาทางโปรโมตการชำระโดยไม่ใช้เงินสดผ่านทางใบเสร็จค่าไฟกับค่าธรรมเนียม หลังปี 2562 พบการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 3 เท่า บริการธนาคารออนไลน์และอีวอลเล็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 และร้อยละ 86 ตามลำดับเมื่อปี 2562

การชำระทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริการสาธารณะก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ธนาคาร 50 แห่งเชื่อมโยงกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีเมื่อช่วงสิ้นปี 2562 ส่งผลให้กว่าร้อยละ 95 ของภาษี และร้อยละ 90 ของใบเสร็จค่าไฟฟ้าถูกจ่ายผ่านออนไลน์ บางโรงพยาบาลมีการทำธุรกรรมโดยไม่ใช้เงินสดร้อยละ 35

ผลสำรวจโดยบริษัทวีซ่า พบว่าชาวเวียดนามร้อยละ 74 คาดว่าการทำธุรกรรมไร้เงินสดจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ร้อยละ 37 ของลูกค้าใช้เทคโนโลยีจ่ายด้วยการแตะบัตรชำระเงิน

และร้อยละ 42 ของลูกค้าดังกล่าวทำธุรกรรมผ่านมือถือและร้อยละ 85 ของคนที่ใช้จ่ายโดยไร้เงินสดทำธุรกรรมอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน