แบงก์ชาติสรุปเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ลงลึกสุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าไตรมาส 2 ปี 2541 ที่ลดลงมากสุด 12.5% แต่จะค่อยๆ ฟื้นขึ้นทีละน้อย แต่กว่าจะกลับไปเหมือนก่อนโควิดต้องรอถึงปี 2565 พร้อมจับตาระบาดซ้ำทั่วโลก จนต้องล็อกดาวน์อีกรอบหรือไม่

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2563 หดตัวสูง ในระดับ 2 หลักต้นๆ จากผลของมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว
อุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผล กระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง
“เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ไตรมาส 2/2563 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึก และลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบจากไตรมาส 2/2541 ที่จีดีพีติดลบ 12.5% ซึ่งในครั้งนี้ก็คาดว่ามีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าระดับดังกล่าว จากมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย”
มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อเครื่องชี้เศรษฐกิจทุกตัว การส่งออก การนำเข้า การลงทุน การบริโภค มีเพียงภาครัฐที่ยังขยายตัวได้ จากทิศทางที่ดีขึ้นมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนจะกลับมาเติบโตปกติก่อนเกิดโควิด-19 คงต้องรอไปถึงปี 2565 การเห็นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นน่าจะทำให้สบายใจขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ลงต่อ
นายดอนกล่าวอีกว่า ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิด จะส่งผลให้การปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบน้อยลง แต่ทั้งหมดต้องรอเดือนก.ย. จะเห็นภาพชัดเจนที่สุด เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3/2563 จะเป็นตัวตัดสินว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หมายถึงหดตัวน้อยลงจากระดับที่หดตัวสูง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกหดตัว 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า การใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวดเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงได้รับสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน