กกร.ปาดเหงื่อหั่นเป้าจีดีพีติดลบสุด9% กนง.ขึงพืดดอกเบี้ย0.5%-จับตาสภาพคล่องล้นกดบาท – กกร.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ 9% ถึงติดลบ 7% ส่งออกติดลบหนัก 12% ถึงติดลบ 10% มองแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังหดตัวต่อเนื่อง ด้าน กนง.ลงมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ต่ำสุดในภูมิภาค จับตาสภาพคล่องล้น กดดันบาทแข็งกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดอย่างน้อย 2 ปีถึงจะเป็นปกติ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าที่ประชุม กกร.มีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ลงมาเป็นติดลบ 9% ถึงติดลบ 7% จากเดิมคาดไว้ติดลบ 8% ถึงติดลบ 5% และการส่งออกลงมาที่ติดลบ 12% ถึงติดลบ 10% จากเดิมคาดไว้ติดลบ 10% ถึงติดลบ 7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงคาดการณ์ไว้ตามเดิมที่ติดลบ 1.5% ถึงติดลบ 1%

ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลก ที่ถดถอยหลังการระบาดของโควิดยังเพิ่มสูงขึ้นและบางประเทศ พบจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง เป็นต้น

ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศคงยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว อีกทั้งเงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่ายังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ประกอบกับกำลังซื้อครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนในตลาดการจ้างงานยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการ ส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศ เห็นได้จากไตรมาส 2/2563 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยคงจะหดตัวในอัตราเลขสองหลัก

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่าที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป

เพราะอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมากเป็นประวัติการณ์ และต่ำสุดในภูมิภาค โดยยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากโอกาสในการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ที่คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทกลับมาแข็งค่า โดย กนง.เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงควรติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน