‘ศาลเจ้าจีนกรุงเทพฯ’ภาพสะท้อนชาวจีน-ผ่านสถาปัตยกรรม เตรียมใจให้พร้อมช่วงเวลาสุดท้าย‘รู้ก่อนตายไม่เสียดายชีวิต’ – “…ความทุกข์ใจ ไม่ได้เกิดจากคนอื่น เรามักจะโทษคนนั้นคนนี้ แต่รากเหง้ามาจากใจของเราเอง เวลามีความขัดแย้ง เรามักโทษคนอื่น แต่เราลืมดูใจของเรา อาจเป็นเพราะใจของเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของเรา หรืออาจเป็นเพราะว่าเราชอบมองในแง่ลบ ทั้งๆ ที่คนอื่นก็มีข้อดีหลายอย่าง แต่เรามองเห็นแต่ด้านไม่ดีของเขา สิ่งที่เราเห็นนั้น แม้เป็นความจริง แต่อาจเป็นส่วนน้อยของเขา…” คติธรรมพระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

เริ่มต้นคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ ขอแนะนำหนังสือดีจาก สำนักพิมพ์ปลากระโดด นำเสนอ “เราต่างมีพุทธะในตัวเอง” ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ, ผู้แปล : สมภพ แจ่มจันทร์…นำเสนอคำสอนพุทธศาสนาในภาษาจิตวิทยา สื่อสารตรงไปยังจิตแบบตะวันตก งานชิ้นนี้รวมเอามุมมองแบบพุทธและแบบจิตวิทยาตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งต่อนักจิตบำบัด ผู้ศึกษาธรรมะ และผู้ที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์แห่งปัญญาญาณการตื่นรู้ที่อยู่ในตัวเรากับเมฆหมอกทางจิตวิทยาซึ่งบดบังแสงของมัน จิตวิทยาแนวพุทธบอกว่าเราทุกคนต่างเกิดมาด้วยสภาวะปกติพื้นฐาน ซึ่งเชอเกียม ตรุงปะ เรียกว่า ความดีพื้นฐาน

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงการช่วยตัวเราและผู้อื่นให้สัมผัสกับพื้นแห่งความเป็นปกติและสุขภาวะนั้นในตนเอง ตรุงปะนำเสนอความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการภาวนาจิต และจิตวิทยาซึ่งท่านได้แบ่งปันกับ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด และศิษย์ของท่านในสหรัฐอเมริการะหว่างช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 โดยพื้นฐานแล้ว

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับหนทางที่เราทุกคนฝึกฝนความเป็นมนุษย์อันเป็นปกติให้แข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความเข้าใจแก่ความต้องการ อันเฉพาะเจาะจงของผู้คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ทางจิตด้วย นอกจากนี้ งานชิ้นนี้ยังสื่อสารโดยตรงต่อคำถามของนักจิตบำบัดและนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิต รวมถึงผู้ฟังโดยทั่วไปที่สนใจนำเอาจิตวิทยาและการภาวนาแนวพุทธไปใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในความสัมพันธ์แห่งการเยียวยา ราคา 285 บาท

“ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” ผู้เขียน : อชิรัชญ์ ไชยพจน์ พานิช…ภาพสะท้อนจีนโพ้นทะเล ผ่านสถาปัตยกรรมศาลเจ้า สมัยรัชกาลที่ 1-5 คำว่า ชาวจีนโพ้นทะเล สื่อถึงชาวจีนที่อพยพออกจากบ้านเกิดของตนเอง เพื่อไปตั้งหลักฐานในดินแดนอื่น โดยมีสาเหตุการอพยพหลายประการ เช่น ภาวะความแห้งแล้งและสงครามในบ้านเกิด

ในปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่า ชาวจีนโพ้นทะเลรวมถึงลูกหลานของชาวจีนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่เกือบทุกมุมโลก ถึงแม้ชาวจีนเหล่านี้ย้ายถิ่นไปอยู่ดินแดนใหม่ แต่มิได้ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมตนเองโดยสะท้อนผ่านภาษาพูด อาหาร และประเพณี เป็นต้น ทั้งนี้ ศาลเจ้าที่ชาวจีนเหล่านี้สร้างขึ้นก็เป็นสิ่งสะท้อนตัวตนด้วยเช่นกันสำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ ราคา 365 บาท

“รู้ก่อนตายไม่เสียดายชีวิต” ผู้เขียน : กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล … นำเสนอภูมิปัญญาของพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบตที่ว่าด้วยชีวิตและความตาย ผ่านแนวคิดสำคัญเรื่องบาร์โด อันเป็นสภาวะสำคัญซึ่งอยู่ระหว่างการตายกับการเกิดใหม่ หากตั้งสติให้ดีในช่วงนี้ได้ย่อมไปเกิดในสุคติภูมิ หรือหากเตรียมจิตให้ดี สติสมบูรณ์พร้อมอาจหลุดพ้นในช่วงเวลานี้ได้เช่นกัน

บาร์โดยังหมายถึงช่วงเวลาระหว่างการเกิดกับการตาย อันหมายถึงชีวิตในภพชาติปัจจุบัน อันถือเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการเตรียมจิตใจให้พร้อมต่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต หากมีการเตรียมตัวตายที่ดีในช่วงนี้ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตหลังตายอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้อ่านจะได้เข้าใจลำดับขั้นตอนการแตกสลายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ตลอดจนนิมิตต่างๆ ที่จะปรากฏให้ได้รับรู้ว่าความตายกำลังก้าวย่างเข้ามา รวมถึงจะได้เรียนรู้วิธีการเตรียมตัวตายในแบบทิเบต อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใกล้สิ้นชีวิตและผู้คนรอบข้างที่จะตระหนักรู้ว่า ควรจะเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างไรให้เหมาะสมอีกเช่นกัน อมรินทร์ธรรมะ จัดพิมพ์ ราคา 225 บาท

“เซน…นิทานสร้างสุขและความสำเร็จ” ผู้เขียน : โรสรินทร์ พุมฤทธิ์… รวม 30 นิทานที่สอนคุณธรรมแฝงด้วยแง่คิด ที่ชวนให้ศึกษา และคิดตาม เมื่อท่านอ่านนิทานเซนเล่มนี้จบ ท่านจะเป็นคนที่มีสติ ไม่ลุ่มลึกหรือหลงติดบ่วง กิเลสตัณหาใดๆ ท่านจะพบกับความสุขที่ได้ปล่อยวาง…ทั้งยังให้แง่คิดที่หลากหลายที่ท่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี สำนักพิมพ์คลื่นอักษร จัดพิมพ์ ราคา 160 บาท

แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า

โดย…คนข่าวธรรมะ [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน