ไทม์ไลน์-จุดยืนแก้รธน.ฉบับก้าวไกลนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดใจถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ของพรรคก้าวไกล ทั้งการแก้ไขมาตรา 256 การตั้งส.ส.ร. รวมถึงไทม์ไลน์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ควรจะเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายค้านเสนอให้แก้รายมาตราประกอบกับการแก้ทั้งฉบับไปด้วย สิ่งที่ควรทำแรกสุดคือ ต้องแก้เพื่อเปิดช่องในการแก้ทั้งฉบับคู่ขนานกันไปได้ รัฐธรรมนูญแต่ละมาตราร้อยเรียงกันเป็นระบบ ถ้าจะให้ระบบสมบูรณ์จริงๆ จำเป็นต้องรื้อใหม่ เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง และเป็นระเบิดเวลาที่สะสมปัญหาไว้เยอะมาก เพื่อเลี่ยงไม่ให้การเมืองสู่ทางตันจนเกิดวิกฤต เราต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหาทางแก้ที่ไม่ให้ใช้เวลามากเกินไป

จุดยืนของพรรคก้าวไกลตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 3 เรื่อง คือ 1.ต้องการแก้ไขทั้งฉบับ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา

2.ปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับส.ว.ในมาตรา 269-272 โดยมาตรา 269 ว่าด้วยเรื่องการมีส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้ แต่ไม่ได้ให้ยกเลิกระบบส.ว. เพียงแต่ให้เปลี่ยนไปใช้ส.ว.ตามมาตราปกติ ด้วยการเลือกส.ว.ขึ้นใหม่ตามกลุ่มอาชีพตามมาตรา 107 ภายใน 60 วัน หลังจากยกเลิกมาตรา 269 ไปแล้ว มาตรา 270-271 ว่าด้วยการออกกฎหมายปฏิรูปประเทศ และสุดท้ายที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือมาตรา 272 บทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย

3.ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาล พรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ไข เพื่อยกเลิกการรับรองประกาศคำสั่งคสช. และการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศคสช.ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศคำสั่งของคสช.ได้ เช่น คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีภายใต้ประกาศคำสั่งคสช. เมื่อยกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ศาลจะไม่รับฟัง เพราะอ้างว่าคำสั่งของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วรวมถึงการกระทำที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

กล่าวคือเป็นการดึงให้คำสั่งประกาศคสช.สามารถตรวจสอบได้ตามรัฐธรรมนูญปกติ เพราะการรับรองให้ชอบโดยอัตโนมัติทำให้ตัวรัฐธรรมนูญเนื้อในจริงๆ ไม่สามารถทำงานได้ เพราะถูกบทเฉพาะกาลทำลายไปหมด

โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติแก้ไขมาตราเหล่านี้ในสัปดาห์นี้ พร้อมยื่นแก้ไขมาตรา 159 ด้วย หากมีเหตุให้เลือก นายกฯ ครั้งต่อไป ในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ ควรคลายล็อกไม่ให้การเลือกนายกฯ ต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะมีจำกัดและควรเลือกนายกฯ จากส.ส.ในสภาได้ด้วย เพื่อไม่ให้มีการเลือกนายกฯ จากคนนอก








Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ระบุการแก้ไขอาจต้องชะงักในขั้นตอนการทำประชามติเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

ตรงนี้พรรคก้าวไกลเห็นต่าง คนอาจจะสับสนกับกฎหมายประชามติตอนที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อันนั้นเป็นกฎหมายที่ออกมาเฉพาะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้นแต่จริงๆ แล้ว เรามีพ.ร.ป.ว่าด้วยการทำประชามติอยู่ในฉบับปี 2552 ซึ่งออกมาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กฎหมายประชามติปี 2552 ตอนนี้ยังไม่ได้ยกเลิก ยังใช้งานได้อยู่

ดังนั้น ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่กำหนดไว้ว่าต้องทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ก็สามารถหยิบกฎหมายประชามติปี 2552 มาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ เพราะเป็นกฎหมายการที่รองรับการทำประชามติเป็นกรณีทั่วไปซึ่งใช้กับกรณีใดก็ได้ หรือหากจะมีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ก็สามารถเร่งรัดได้เลย

คิดว่าที่สุดแล้วจะแก้ได้สำเร็จหรือไม่

สถานการณ์จนถึงตอนนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะสังคมหลายส่วนเพิ่งตระหนักแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปมของความขัดแย้งทางการเมืองจริงๆ ถ้าไม่แก้ไขจะทำให้การเมืองเดินสู่ทางตันและประเทศเดินหน้าไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ควรให้มีปัญหาทางการเมืองมาทำให้ประเทศขยับไปไหนไม่ได้ซ้ำกว่าเก่า

ส.ส.ร.ควรมีลักษณะเช่นไรถึงจะรับฟังความเห็นได้จากทุกภาคส่วน

ถ้าดูจากตัวแบบในการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ตอนนั้นส.ส.ร.ก็เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก แล้วประมวลความเห็นต่างๆ เข้ามาหาจุดร่วมให้ได้มากที่สุด เข้ามาเป็นเนื้อหาหลักในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยส.ส.ร. ที่ฝ่ายค้านเสนอในครั้งนี้ มีความต่างจากส.ส.ร.ครั้งก่อน

โดยโมเดลส.ส.ร.ใหม่ที่เราเสนอนั้น ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยขึ้นอยู่กับสัดส่วนของประชากรแต่ละจังหวัด จะทำให้เสียงไม่ไปกองอยู่กับเสียงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จังหวัดใดที่มีส.ส.ร.ได้หลายคน ก็เป็นไปได้ที่จะมีส.ส.ร.มาจากตัวแทนความคิดที่แตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ผูกขาดอยู่กับเสียงข้างมากปีกใดปีกหนึ่ง และไม่ควรมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หรือมาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากวิธีพิเศษ เพราะสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิจะมีอิทธิพลเหนือส.ส.ร.จากการเลือกตั้งที่จะกลายเป็นไม้ประดับและถูกครอบงำ

เมื่อมีส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรงจากทั่วประเทศ 200 คน ส.ส.ร.จะตั้งกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญอีกชุดหนึ่ง ประกอบกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มารวมกันก็เป็นกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ภายใต้กรอบที่ส.ส.ร.ชุดใหญ่กำหนด ซึ่งฝ่ายค้านเสนอให้ใช้เวลา 120 วัน ในการร่างรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรลดอายุของผู้ที่จะมาเป็นส.ส.ร.เป็น 18 ปีขึ้นไป สามารถลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นส.ส.ร.ได้ เพราะเราเห็นว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญที่รวบรวมความเห็นของคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ควรจะมีเสียงของคนหลายรุ่น เพราะเยาวชนที่มีอายุ 18 ปี สามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าอยากเห็นอนาคตและการเมืองไทยเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ต้องแยกให้ออกว่าเขาไม่ได้มาเป็นสภานิติบัญญัติ มาบริหารอะไร แต่เราต้องการความเห็นว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอนาคตประเทศไทยอย่างไร ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ คนที่ใช้ก็คือคนรุ่นใหม่

ไทม์ไลน์การแก้ไขที่เหมาะสมและเป็นไปได้

เดิมรัฐบาลกับส.ว.พยายามจะบอกว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญก็ยินดีพิจารณา โดยให้เริ่มแก้ในสมัยประชุมหน้าเดือนพ.ย. สำหรับฝ่ายค้านเห็นว่าในหลายเรื่องควรแก้ในลำดับต้นๆ ทำได้เลยในสมัยประชุมนี้ ถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ เพื่อแกะปมวิกฤตทางการเมืองที่ตึงเครียดอยู่ เริ่มจากมาตรา 256 และตั้งส.ส.ร.

ถ้าทำเร่งรัดกันจริงๆ ผมคิดว่าทันภายใน 1 เดือน 3 วาระ หรือถ้าไม่ทันจริงๆ ก็เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ พอเสร็จแล้วก็ทำประชามติ แต่การทำประชามติไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานมาก ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจริงใจแค่ไหน หรือหากมีการยุบสภาหลังจากนี้จะให้ไปทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งส.ส.ก็ได้ แต่เรากำหนดไม่ได้ว่าจะยุบสภาเมื่อใด จะได้ประหยัดงบประมาณคือ เลือกส.ส.และเลือกส.ส.ร.ไปเลย

หากร่างที่เราเสนอ ปรับแก้มาตรา 256 และส.ส.ร.ผ่านวาระ 3 ผมคิดว่าไม่ควรใช้เวลาเกิน 60 วันในการทำประชามติ เพราะเนื้อหาไม่ได้ซับซ้อน สิ่งที่ควรต้องพิจารณาคือโมเดลของส.ส.ร.นี้ว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่อประชามติผ่านก็ทูลเกล้าฯ จากนั้นในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เราเสนอว่าหลังจากทูลเกล้าฯ แล้ว ภายใน 30 วันก็ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งส.ส.ร.

ส่วนระยะเวลาตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ควรเกิน 60 วัน พอตั้งส.ส.ร.ได้ ก็ให้เวลาทำงาน 120 วัน พอร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเสร็จ ให้จัดทำประชามติอีกครั้ง ว่าประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับส.ส.ร.นี้หรือไม่ ซึ่งกำหนดให้การจัดทำประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน หลังจากประธานรัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และถ้าประชามติผ่านก็ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยรวมแล้ว ถ้าเราเร่งรัดกันจริงๆ แล้วใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีในการทำ

นอกจากการลงประชามติอันนี้แล้วซึ่งต้องใช้เวลานาน ในสมัยประชุมนี้เรายังเห็นว่าเราจะแก้เรื่องส.ว. ยกเลิกบทเฉพาะกาล ซึ่งไม่ต้องทำประชามติเลย เข้าวาระ 1 ถ้าเห็นด้วยในหลักการก็ไปพิจารณาในวาระ 2 และ 3 สิ่งนี้สามารถจบภายใน 1 เดือน ฉะนั้น การยกเลิกส.ว.ที่มาจากคสช. การยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯ การยกเลิกการรับรองประกาศคำสั่งคสช. ให้ชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดเมื่อผ่านสภาแล้ว 3 วาระ ก็มีผลได้เลยโดยไม่ต้องทำประชามติ

การยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯมีความสำคัญ ถ้าเราผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ได้ คือมาตรา 272 ถ้ายกเลิกไปได้ มันเท่ากับว่าหลังจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่านายกฯลาออกหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แม้เราจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็จะไม่มีเสียง 250 ส.ว. มาร่วมเลือกนายกฯ แล้ว ปมการเมืองมันคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง

หากตรงนี้แก้แล้ว เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ใครหรือพรรคใดอยากจะแก้บางมาตราใดก่อนก็ทำได้ เช่น อยากจะเสนอแก้ระบบการเลือกตั้ง ก็ทยอยแก้ได้ระหว่างรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแบบสมบูรณ์

งบประมาณที่ใช้มหาศาล หลายคนมองว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้

ส่วนนี้มีหลายคนแย้งมาเช่นกัน เพราะงบประมาณจัดทำประชามติเท่ากับการจัดเลือกตั้งครั้งหนึ่ง ราว 3 พันล้านบาท แน่นอนว่างบ 3 พันล้านบาทมันสูงมากในสถานการณ์แบบนี้ แต่ผมคิดว่ามันคุ้มที่จะทำให้การเมืองไม่เดินไปสู่ทางตัน ถ้าการเมืองเดินสู่ทางตัน เกิดวิกฤต เกิดการปะทะกันขนาดใหญ่ ลามไปถึงการสูญเสียของประชาชน ส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจ ผมคิดว่าราคาที่ต้องจ่ายตรงนั้นสูงกว่าค่าทำประชามติหลายเท่า

ถ้าพูดกันตรงๆ การทำประชามติ 3 พันล้าน ยังถูกกว่าการเอางบไปใช้สำหรับการมีส.ว.ชุดนี้เสียอีก เราต้องยอมจ่ายเงินเพื่อทำประชามติแล้วสังคมจะได้มีข้อยุติร่วมกันจริงๆ

การชุมนุมของนักศึกษาจะมีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ มากน้อยแค่ไหน

สำหรับคนจำนวนมาก คนรุ่นก่อนคงตกใจกับเรื่องแบบนี้แล้วสวนกลับในแบบความคุ้นเคยเดิมๆ โดยไม่เข้าใจปรากฏการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ ที่นักศึกษาแสดงออกแบบนี้มันมีเหตุปัจจัยอะไร เขาเข้าใจผิด เข้าใจว่าก้าวไกลอยู่เบื้องหลัง ไปไกลขนาดคิดว่าเวทีเครื่องเสียงก้าวไกลเป็นคนจัดตั้งให้ มันไม่ใช่อยู่แล้ว

เหลือแค่พรรคก้าวไกลที่ยืนฝั่งนักศึกษา

เราไม่ได้บอกว่าเราเห็นด้วยกับนักศึกษาทุกอย่าง หรือทุกเรื่องที่เขาทำ เป็นเรื่องธรรมดา เราอาจไม่เห็นด้วยกับท่าทีหรือท่วงทำนองของเขาบางอย่าง แต่สิ่งที่เราทำคือ ให้สติกับสังคมว่าเมื่อเราเจอปรากฏการณ์แบบนี้ เราต้องตั้งสติและวุฒิภาวะดีๆ เพื่อจะจัดการกับมันให้ได้ หาทางออกอย่างสันติ ถ้าตัดลีลาหรือท่าทีที่เราไม่ชอบออกไป เนื้อหาที่นักศึกษาสื่อออกมายังอยู่ภายใต้กรอบที่ไม่ได้ไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่าเพิ่งรีบผลักให้พวกเขาเป็นผู้ร้าย แต่ควรรีบตอบสนองข้อเสนอที่ทำได้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ

ท่าทีของพรรคก้าวไกลพยายามบอกสังคมว่า อย่าปิดกั้นพื้นที่ปลอดภัย อย่าใช้วิธีกดปาก ไม่เช่นนั้นจะยิ่งระเบิด พอเห็นนักเรียนนักศึกษาแสดงออกอย่างมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนอาจตกใจ แล้วไม่ให้เขามาแสดงออกพื้นที่ทางการเมือง ไล่เขาออกไปนอกรั้ว แบบนี้อันตราย อย่าปิดพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน