ทางออกบิ๊กตู่ ลาออก-ยุบสภา? – ท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้า ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การเมือง และเศรษฐกิจ จนเกิดเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา ลาออก

หากข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกเมินเฉย ขณะที่สถานการณ์มีแนวโน้มบานปลาย

นอกจากยุบสภา ลาออก แล้ว ยังมีทางออกใดบ้างเพื่อหยุดวิกฤตที่จะลุกลาม

วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ มธ.

นายกฯ คงมองว่าตัวเองมีความจำเป็นต่อชาติบ้านเมือง หากลาออกฝ่ายอื่นเข้ามาก็ไม่มีใครคุมได้ แต่ประชาชนมองว่าสุกงอมแล้ว ทั้งปมเผด็จการ ความบิดเบี้ยวถูกสั่งสมมาตลอดทั้งเรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจ เป็นแรงกดดันที่อันตรายและผลักให้คนออกมา

ที่นายกฯ เคยชูเรื่องความมั่นคง วันนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องประชาธิปไตย เวลาของนายกฯ เหลือน้อยเต็มที แต่จะคลี่คลายแบบไหนนั้นบ้านเราการคลี่คลายตามกระบวนการไม่ค่อยเกิดขึ้น

ถ้าหันไปทางรัฐประหาร รอบนี้ไม่ใช่ทางออกของสังคม ประเด็นนายกฯคนนอกก็ถูกปฏิเสธ หรือจะยุบสภาใช้กระบวนการปกติ แก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยก็จะผ่อนแรงกดดันรัฐบาลได้ แต่ปัญหาคือไม่มีออปชั่นให้เลือก








Advertisement

การปรับครม.ครั้งใหญ่ หรือยกเครื่องทีมเศรษฐกิจจะลดแรงกดดันได้ถ้าที่ผ่านมาทำเพื่อตอบสนองปัญหา กลับปรับเพื่อแก้ปัญหาในรัฐบาล ไม่ได้ปรับเพื่อบ้านเมือง แต่พยายามแบกพวกเดียวกัน พอเจอแรงกดดันทางการเมืองก็ทิ้งทันทีอย่างกรณีของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือกรณี นายปรีดี ดาวฉาย การปรับครม.จึงไม่ช่วยแล้ว และไม่สร้างความเชื่อมั่น

วันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การวางตัวบุคคล แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ตัวนายกฯ เอง ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ หรือทำความเข้าใจปัญหา จะเห็นว่าไม่ว่าเปลี่ยนใครแนวนโยบายหลักๆ ยังเหมือนเดิม มาตรการชิมช้อปใช้ บัตรคนจน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยิ่งมาเจอโควิดยิ่งแก้ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

หากผ่อนหนักเบาตั้งแต่เลือกตั้งจะลดแรงกดดันได้ แต่มาถึงจุดที่นายกฯ พยายามผูกทุกอย่างเข้ามาไว้ในมือตัวเอง เช่นการตั้ง ศบค.ก็ยึดอำนาจทุกอย่างกลับมาที่ตัวเอง ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจก็เช่นกัน

ที่บอกการลาออกจะกระทบต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องกำหนดไทม์ไลน์ให้ชัดเจน ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าตั้งส.ส.ร.แล้วอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง โดยที่ส.ส.ร.ยังทำหน้าที่ต่อ

นายกฯ ต้องถอย ทางออกอื่นไม่น่าจะมี หรือถ้าตื่นมาพรุ่งนี้นายกฯ ทำทุกอย่างที่ควรทำ ลงไปคุยกับม็อบ ดูแลคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด ไม่ใช่คุยกับนายทุนก่อนถ้าแก้ให้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์อาจรอด

วันนี้แรงกดดันมากจนมองว่าที่ขออยู่ต่อคงไม่ได้ เพราะเริ่มเห็นการขยับของส.ว.ที่ไปร่วมลงชื่อในญัตติฝ่ายค้านแม้จะถอนชื่อ แต่ก็เห็นแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นแล้ว

เดชรัต สุขกำเนิด

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์

รัฐบาลคงไม่เลือกการลาออก ยุบสภา แต่ถ้าถามว่าสุกงอมหรือไม่คงมองไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรกมากกว่า เพราะถ้ายุบสภาหรือลาออกภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็น อยู่นี้สุดท้ายคนที่จะเข้ามาก็อาจเป็นคนเดิมหรือคนในสายเดิม เพราะส.ว.ยังคงอยู่ จึงไม่คิดว่าสุกงอมในทางเลือกระดับต้นๆ น่าจะเป็นทางเลือกลำดับหลังมากกว่า

ในทางตรงกันข้ามถ้าทางเลือกนี้จะเกิดขึ้นอาจเกิดในทางกลับกัน คือ ฝ่ายมีอำนาจอยากรักษารัฐธรรมนูญไว้เลยยอมสละรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยืดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจมีเรื่องที่เขาเห็นว่าควบคุมไม่ได้ จึงเชื่อว่าเขาจะผ่อนกระแสโดยให้แก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่จะมากหรือน้อย และถึงยอมแก้แต่ใช้เวลานาน กระแสกดดันยุบสภา ลาออก ก็อาจหนักขึ้น

แต่เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการแก้ไขแล้ว จึงคิดว่านายกฯต้องหาทางแก้ปัญหาหลักๆ 3 เรื่อง เรื่องแรกปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าแก้ไม่ได้เศรษฐกิจจะเป็นปัญหาหนัก เรื่องที่สองปัญหาทางการเมือง แม้จะเริ่มเข้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วแต่ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งต่างๆ ยังดำรงอยู่

สุดท้ายผลกระทบของแต่ละกลุ่ม ทั้งนักเรียน นักศึกษาข้อเสนอประชาชนจังหวัดต่างๆ ถ้าแก้ไม่ได้แม้จะไม่มีเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่แรงกดดันให้ยุบสภา ลาออกก็อาจดังขึ้น

ก็วนกลับมาจุดเดิม ฝ่ายมีอำนาจรัฐคิดว่ารัฐธรรมนูญถูกแก้ กลไกที่เคยได้เปรียบอาจลดลง หาคนอื่นมาทำแทนรัฐบาล แทนนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ ส่วนนายกฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักนอกจากทำงานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนทางออกด้วยการยกเครื่องทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นายกฯคงยังหาไม่ได้ ถ้าหาได้ก็อาจแก้ปัญหาไม่ได้มากนักเพราะยังมีข้อติดขัดอยู่หลายส่วน ชุดเดิมที่ออกไปก็มีความเป็นทีมอยู่แล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง คราวนี้ความเป็นทีมน้อยลงน่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ยากขึ้น และถ้าปรับแล้วแก้เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ แม้จะผ่อนด้วยการแก้รัฐธรรมนูญแล้วกระแสยุบสภาหรือให้ลาออกก็อาจกลับมาใหม่

ส่วนกระแสข่าวปฏิวัติ รัฐประหาร ถ้ามีก็คงจบจริง จบในความหมายที่ว่าอนาคตของประเทศก็จบ เพราะตอนนี้สิ่งที่เราต้องการคือการเปิดรับนักท่องเที่ยว การลงทุนต่างๆ ให้กลับมา จึงคิดว่าไม่น่าจะมีความคิดการทำรัฐประหารขึ้นอย่างจริงจัง ยกเว้นคนที่คิดสั้นมากจริงๆ เชื่อว่าเป็นลักษณะการพูดขู่ แต่คิดว่าไม่ค่อยมีใครกลัวคำขู่นี้สักเท่าไร

ยังมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้นเหตุน่าจะเป็นทางเลือกที่รอมชอมกันได้ในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะมีใครมาเป็น ส.ส.ร. และจะมีการแก้ไขลักษณะไหน

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การลาออกไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่ต้องพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ การยกเลิกอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ถ้ายกเลิกเรื่องเหล่านี้ได้จะถือเป็นการเปิดทางให้มีระบบมีความเป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ดังนั้น นายกฯ ลาออก แล้วอำนาจส.ว.ยังอยู่แบบเดิมก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี อาจโหวตนายกฯกลับมาก็เป็นได้ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาจริง แต่การแก้ปัญหาจริงๆ ในปัจจุบันคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ส.ว.มีอำนาจใดๆ และตราบใดที่ส.ว.มาจากการเลือกของคสช.ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม

ถ้าไม่ลาออกแต่ปรับครม.ในส่วนทีมเศรษฐกิจก็ไม่ถือเป็นการแก้ปัญหาได้จริง เพราะตอนนี้นายกฯ ก็ดูทีมเศรษฐกิจอยู่ ทุกวันนี้เราไม่ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีตามความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ แต่อยู่ที่ว่านายกฯ จะเลือกใคร อยู่ที่ความสัมพันธ์ และโควตาพรรค

การให้ลาออกและยุบสภาตอนนี้ แล้วยังอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลยกเลิกอำนาจส.ว. มาตรา 272 ถ้ายกเลิกมาตรานี้แล้วลาออกก็ยังสามารถเลือกตั้งใหม่ได้ และจะเป็นเกณฑ์ที่ยุติธรรมมากกว่า และหลายพรรคมีโอกาสเป็นนายกฯ มากกว่าพลังประชารัฐ

ถ้าลาออกและยุบสภาตอนนี้ก็เป็นแค่เกมรูปแบบเดิม เพราะ ส.ว.ยังอยู่ ถึงจะเลือกตั้งไปก็เป็นการใช้งบประมาณโดยไร้เหตุด้วย การลาออกหรือยุบสภาไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาได้ แต่การลาออกที่เป็นทางออกที่ดีของประเทศและเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและยกเลิก อำนาจส.ว.

แต่ ณ ตอนนี้ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่แล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญในสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากให้แก้ ไม่ใช่ทำแค่เป็นพิธีกรรมเท่านั้น หมายความว่าต้องแก้ให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนรัฐมนตรีก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และการทำงานของรัฐบาลก็ควรเป็นแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ปิดกั้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็มองว่า สิ่งที่กล่าวมานั้นคงเกิดขึ้นได้ยากจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ตอนนี้จึงยังมองหาทางออกไม่เห็นว่าทางใดจะเป็นจริง นอกจากทางทหารยอมจะเสียอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าทหารเองก็ไม่ยอมแน่นอน เพราะคสช.เองยังต้องการรักษาอำนาจ

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ก็มองแต่ผลประโยชน์ความมั่นคงของกลุ่มคสช.เอง กลุ่มที่เป็นของคนที่สนับสนุนรัฐบาลและทหารเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ และการมีประชาธิปไตยของไทยในระยะยาว ตอนนี้เรามองไม่เห็นทางออกได้เลย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

รัฐบาลอยู่มา 6 ปี แค่เข้ามาก็มีการตั้งคำถามเรื่องที่มาไม่ชอบกฎหมาย ก่อนโควิดก็มีนิสิต นักศึกษาเคลื่อนไหวคัดค้าน จนเกิดโควิดและสถานการณ์เริ่มซาก็ออกมาอีก การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจึงไม่เกินความคาดหมาย

คนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมต้านรัฐบาลในเบื้องต้นและเป็นคนขับเคลื่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้มีประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลออกมาร่วมด้วย เพื่อสื่อว่ามีเรื่องสงสัยต่อการใช้อำนาจและสุกงอมมากพอที่ ทุกคนจะออกมา

หลายเรื่องเป็นรูปธรรมชัดเจนตั้งแต่นาฬิการองนายกฯ จนถึงคดีบอส ที่ผลสะเทือนเทียบได้กับกรณีออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ประกอบกับโควิดที่ดูราวกับว่าไทยบริหารจัดการเรื่องการป้องกันได้ดี แต่มาตรการที่ใช้มีผล กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

และตอนนี้สถานการณ์ไปไกลมากกว่าการที่นายกฯ จะออกหรือไม่ออก เพราะข้อเรียกร้องไปไกลถึงโครงสร้างทางการเมืองภาพใหญ่ที่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งมีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ

แต่ก็ยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ทำให้ผู้เรียกร้องไม่พอใจ ยังไม่มีการเทคแอ๊กชั่นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพร้อม หรือรับข้อเสนอไปปรับปรุงทั้งที่ปัญหาหลายอย่างรุมเร้า

ความขัดแย้งที่มีสูงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่านายกฯ คือหนึ่งใน ผู้ขัดแย้ง ในปี 2557 นายกฯ บอกเป็นคนกลางเข้ามาสลายความขัดแย้ง มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญก็เขียนว่าต้องสร้างความปรองดอง แต่บริหารถึงวันนี้ไม่ได้สร้างความปรองดอง แต่มีลักษณะสร้างความแตกแยก ขัดแย้ง นักการเมืองหรือแม้แต่ส.ว.ยังออกมาพูดว่าเขาผิดหวังเรื่องปฏิรูป เพราะไม่เห็นว่าจะเกิดการปฏิรูปจริงๆ

ปฏิกิริยาของผู้คนจึงย้อนกลับว่านายกฯ คือหนึ่งในผู้ ขัดแย้ง จึงตั้งเงื่อนไขว่านายกฯ ตองลาออก ยุบสภา ดังนั้น นายกฯ จึงต้องมาฟังผู้ชุมนุม จะลอยตัวเหนือความขัดแย้งไม่ได้ นายกฯ ไม่ใช่กรรมการเข้ามาห้าม 2 ฝ่ายตีกัน

และถ้าเข้ามาแล้วรีบออก สภาวการณ์แบบนี้ไม่เกิด แต่เข้ามานานเกินไป เมื่อเข้ามาอยู่นานปฏิเสธไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินใช้อำนาจรัฐทำให้กลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยปริยาย ความผิดพลาดคืออยู่ยาว

นายกฯ ต้องแสดงท่าที แสดงความจริงใจ พูดคุย รับฟัง รับข้อเสนอ เปิดเวทีคุยเป็นทางการเมือง วางสเต็ปว่าจะทำอะไรบ้าง ถ้าไม่แก้ วันดีคืนดีอาจมีปัจจัยบางอย่างที่บอกไม่ได้ทางการเมือง เนื่องจากวันนี้การเมืองไปเร็วมากแล้วนำไปสู่ความรุนแรงได้

การปรับครม.ปัญหาไม่จบอยู่ดี เพราะคำถามคือปรับแล้วตอบโจทย์ที่หลายคนเรียกร้องหรือ หรือต่อให้ปรับยังไง ผู้ชุมนุมก็ไม่พอใจเพราะเขากำลังสื่อสารกับนายกฯ ไม่ได้ สื่อสารกับครม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน