วันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย10เรื่องขึนทะเบียนมรดกของชาติ – เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงานประกาศขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2563 ซึ่งจัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 10 โดยมีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติแล้วทั้งหมด 210 เรื่อง

โดยคัดเลือกจากหลักเกณฑ์ การมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บูรณภาพ ความเสี่ยงต่อการ สูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน และอิทธิพลต่อคนและสังคม

ภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 10 มี 10 เรื่อง

1. VISIT OF SIAMESE BOY SCOUT TO JAPAN (2472) ภาพยนตร์บันทึกภาพเหตุการณ์การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ของคณะลูกเสือสยาม เมื่อ พ.ศ.2472

2. คำสั่งคำสาป (ฉบับฟิล์ม 16 ม.ม. [2494], ฉบับฟิล์ม 35 ม.ม. (2497)) ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องแรกๆ ในเมืองไทย ที่สร้างออกมาในรูปแบบหนังฮอลลีวู้ดคลาสสิค

3. ภาพยนตร์บริการข่าวสารไทย (2497) ตัวอย่างหายากของภาพยนตร์ข่าวไทยที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่กิจการโทรทัศน์จะเกิดขึ้น

4. เบื้องหลังหนังไทย เหนือเกล้า (2510) เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ เหนือเกล้า ที่จะเห็นการทำงานที่หาชมได้ยากของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้กำกับฯชั้นครู และเห็นเบื้องหลังของดาราในเรื่องโดยเฉพาะ มิตร ชัยบัญชา ที่ปกติแล้วจะพบแต่หน้าจอภาพยนตร์

5. อีแตน (2511) ตัวอย่างสำคัญของ ผลงานที่มีรสชาติแบบหนังไทยแท้ๆ ในตอนนั้น ทั้งยังเป็นมาตรวัดรสนิยมและค่านิยมของสังคมไทยที่สร้างภาพจำอันแตกต่างให้แก่คนรวยคนจน และเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม ในยุคที่ภาพยนตร์ยังมีสถานะเป็นยาชูใจและเครื่องหล่อเลี้ยงความฝันของผู้ชมทั่วประเทศ

6. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เยือนจีน (2518) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมด้วยคณะข้าราชการระดับสูง เดินทางเยือนผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ.2518

7. วัยระเริง (2527) หนังที่ เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้ถ่ายทอดบรรยากาศและสภาพสังคมวัยรุ่นไทย ในยุค 80 ได้อย่างเพลิดเพลินและลงตัว ภาพยนตร์ยังวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย ด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ใหญ่หันมามองวัยรุ่นด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ และกล้าที่จะให้พวกเขาได้แสดงออกตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป

8. ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด (2528) ภาพยนตร์ที่ไม่เพียงถ่ายทอดบทบันทึกช่วงเวลาที่ไทยกลายเป็นฐานทัพของกองทัพอเมริกัน จนเกิดธุรกิจคลับบาร์ และสถานที่ผ่อนคลายให้แก่ทหาร อันกลายเป็นที่มาของ เมียเช่า หากแต่ภาพยนตร์ยังเป็นเสมือนคำประกาศในศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทย ที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อและไม่เคยล้าสมัย

9. ช่างมัน..ฉันไม่แคร์ (2529) ภาพยนตร์ไทยที่มีบริบทเกี่ยวข้องกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะในแง่การวิพากษ์วิจารณ์สถานะและอุดมการณ์ของปัญญาชนที่เปลี่ยนไป ควบคู่ไปกับการจดบันทึกสภาพชีวิต สภาพสังคม และค่านิยมของกรุงเทพฯ ในช่วงที่วัฒนธรรมการบริโภคกำลังเริ่มเฟื่องฟู

10. เวลาในขวดแก้ว (2534) ภาพยนตร์ที่ภาพวัยรุ่นไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคทั้งจากตัวเอง ครอบครัว และจากภาวะสังคมการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่แตกต่างกับหนังในยุคนั้นที่มุ่งเน้นขายความบันเทิง

หอภาพยนตร์ได้เตรียมนำภาพยนตร์มาเผยแพร่ทั้งทาง โรงภาพยนตร์ในเดือนมกราคมนี้ ติดตามได้ที่ www.fapot.or.th และจะทยอยเผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนขึ้นทาง youtube หอภาพยนตร์โดยสามารถติดตามได้ที่ www.youtube.com/ FilmArchiveThailand

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน