อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ว่าถูกย้ายหายไปแล้ว มีความเป็นมาอย่างไร

มะขาม

ตอบ มะขาม

วันที่ 11 ตุลาคม 2563 เป็นวันครบ 87 ปี เหตุการณ์การต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร คณะผู้ก่อการต่อต้านนำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และเนื่องด้วยคณะผู้ก่อการกระทำการไม่สำเร็จ จึงเรียกเหตุการณ์นั้นว่าเป็นการก่อกบฏ เรียกชื่อ “กบฏบวรเดช” และนั่นเป็นที่มาของ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือในชื่อ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ซึ่งจัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกและสถานที่บรรจุอัฐิของวีรชนฝ่ายรัฐบาลผู้พลีชีพในการปะทะกับฝ่ายที่จะเข้ายึดอำนาจ

วันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พร้อมกลุ่มทหารเข้ายึดบริเวณดอนเมือง บีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เมื่อเจรจาไม่เป็นผลก็ปะทะกันต่อเนื่องจนทำให้เกิดความสูญเสีย

กลุ่มผู้ก่อการซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง จับกุมคนฝ่ายรัฐบาลเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมืองโดยรวม 6 ข้อ

ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกู้บ้านเมืองให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาลและถอนทหารกลับสู่ที่ตั้ง แต่ไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองพ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบ รัฐบาลนำผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และจัดพิธีฌาปนกิจที่ท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชน ที่ท้องสนามหลวง

จากนั้นได้บรรจุอัฐิไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหาร และตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี เมื่อราชการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงนำอัฐิของวีรชนมาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์

ผ่านมาถึงช่วงกลางดึกวันที่ 27 ต่อ 28 ธันวาคม 2561 มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันยัง ไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร” ที่ฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 จนกระทั่งเดือนเมษายน 2560 หมุดดังกล่าวได้หายไป

ล่าสุดเว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนฐานของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ บวรเดช 2476 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. ถูกทุบและรื้อแล้ว

น้าชาติ ประชาชื่น
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน