แถลงการณ์ค้านใช้รุนแรง-สลายม็อบ

ภายหลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมช่วงค่ำวันที่ 16 ต.ค. ด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่กดดัน ใช้รถแรงดันน้ำสูงฉีดน้ำผสมสารเคมี ซึ่งมีฤทธิ์ไม่ต่างจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งการเข้าจับกุมผู้ชุมนุม

ทำให้กระแสต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมขยายวงกว้าง ไปยังนักศึกษาทั่วประเทศที่พากันจัดกิจกรรมต่อต้านในคืนวันเดียวกัน รวมทั้งนักการเมือง นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง

ขณะเดียวกัน หลายองค์กรเปิดแถลง และออกแถลงการณ์ คัดค้านและประณามการกระทำของรัฐบาล ที่น่าสนใจมีดังนี้

สหประชาชาติ

นางราวินา แชมดาซานิ โฆษกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกถ้อยแถลงผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน ข้าหลวงใหญ่ฯ ยูเอ็น จากนครเจนีวา

เรามีความกังวลเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินใน กทม.ของรัฐบาลไทย อันเป็นผลมาจากการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเองเป็นภาคีสมาชิก

และกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคน ซึ่งตัวเลขที่มีตอนนี้คือ 57 คน ถูกจับกุมระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค. ในจำนวนนี้ 6 คน ได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือยังอยู่ในการควบคุมของตำรวจ และมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ข้อหาร้ายแรงต่อผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิพื้นฐานของตนอย่างสันติ








Advertisement

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเพื่อแน่ใจว่าไม่มีใครตกเป็นเป้า ถูกควบคุมตัว หรือถูกตั้งข้อหาร้ายแรงจากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสันติ

การกระทำใดของรัฐบาลต้องมั่นใจว่าเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน และมีการคุ้มครองทางตุลาการอย่างเป็นระบบสำหรับทุกคนที่ถูกจับกุมตัว รวมถึงสามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา

ฮิวแมนไรต์วอตช์

เว็บไซต์ฮิวแมนไรต์วอตช์ โพสต์คำแถลงของ นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ผ่านเว็บไซต์ขององค์กร

รัฐบาลไทยกำลังปราบปรามเป็นวงกว้างเพื่อยุติการประท้วงของนักศึกษา โดยส่งตำรวจไปสลายด้วยความรุนแรงและไม่จำเป็น และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดไฟเขียวให้ตำรวจกระทำละเมิดสิทธิโดยไม่ต้องรับโทษ

ฮิวแมนไรต์วอตช์ยังอ้างแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่า ด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย ว่าควรใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเฉพาะสถานการณ์ความ ไม่สงบร้ายแรงเท่านั้น และการใช้ไม่ควรเล็งเป้าหมายไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในระยะใกล้ เนื่องจากเสี่ยงตาบอดถาวรหรือบาดเจ็บทุติยภูมิ หากถูกแรงดันจากปืนฉีดน้ำอย่างหนัก นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจทางการไทยครอบคลุมการละเมิดสิทธิในการแสดงออกอย่างอิสระและเสรีภาพสื่อ

ประเทศไทยให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อปี 2539 เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพการแสดงและกลุ่มชุมนุมอย่างสันติ แต่ทางการไทยเซ็นเซอร์และกลับห้ามวิพากษ์วิจารณ์

หลายปีที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวและผู้ต่อต้านหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในคดีอาญาร้ายแรง เช่น การปลุกระดมอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และมาตรา 112 ภายหลังแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ นอกจากนี้ 5 เดือนที่ผ่านมาทางการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมการระบาดของ โควิด-19 เป็นข้ออ้างห้ามชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและคุกคามนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย

กลุ่มผู้ประท้วงในไทยเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และปฏิรูปอย่างสันติ รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติควรเรียกร้องต่อสาธารณชนเพื่อยุติการปราบปรามทางการเมืองโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที

สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ

เรื่อง การใช้ความรุนแรงแด่เยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชน

นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ. สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มีฯ

พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นมาในช่วงที่มนุษย์ถูกกดขี่อิสรภาพ มีการถือชั้นวรรณะ เป็นการจำกัดสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ ยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่เท่าเทียมกันในสังคม

พระพุทธเจ้าทรงใช้หลักสันติวิธีในการปฏิเสธการมีขึ้นของชั้นวรรณะ เหมือนที่เยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนพยายามใช้ในการชุมนุม เพื่อร่วมกันหาทางออกได้ดีที่สุด แต่ทางฝ่ายรัฐกลับพยายามเลี่ยงที่จะใช้สันติวิธีกับกลุ่มเยาวชนฯ กลับสร้างสถานการณ์ ปิดกั้นสื่อ บิดเบือนข้อมูล จับกลุ่มแกนนำโดยใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามระบอบสากล

สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักว่าการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบไม่ควรเกิดขึ้น พร้อมทั้งขอให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนภายใต้การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

8 องค์การนักศึกษา

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. 2563

สืบเนื่องจากการใช้ความรุนแรงวันที่ 15 ต.ค. จนเกิดการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. ที่สี่แยกปทุมวัน และผู้มีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมด้วยการ “ฉีดน้ำแรงดันสูง และการใช้กระสุนยาง” ใส่ผู้ชุมนุมที่ไร้ซึ่งอาวุธ และประกอบไปด้วยเยาวชนจำนวนมาก ตอกย้ำว่ารัฐบาลผู้มีอำนาจในการสั่งการเลือกวิธีที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก

พวกเราผู้แทนนิสิต นักศึกษาทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการเข้าสลายการชุมนุม รวมไปถึงการยุยง ปลุกปั่น และสร้างข่าวเท็จเพื่อให้เกิดความเกลียดชังกัน ขอประณามผู้มีอำนาจในการสั่งการปฏิบัติการณ์นี้ซึ่งกระทำโดยไร้ซึ่งมนุษยธรรม เราขอประณามการกระทำที่รุนแรง ไร้ซึ่งการให้เกียรติประชาชน และนิสิตนักศึกษา รวมถึงขอประณามกลุ่มบุคคลใดๆ ที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงขึ้น และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการสั่งการหยุดกระทำอันใดที่เป็นอันตราย และความหวาดกลัวแก่ประชาชนในทันที เราขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบกับการกระทำที่ “ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ละเลยความปลอดภัยของประชาชน” หยุดการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สนับสนุนความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง ซึ่งถือเป็นการทำให้ประเทศมีมลทินมัวหมองอย่างยิ่ง

พวกเราผู้แทนนิสิตนักศึกษาทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาตามหลักประชาธิปไตยสากล และขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความ ร้ายแรง อันเป็นการควบคุมและปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็น ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงผ่านอำนาจรัฐ อันส่งผลอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ชุมนุม และขอเรียกร้องให้สื่อกระแสหลักทุกสำนักนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ยึดตามหลักจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนเพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดความแตกตื่น อันนำไปสู่ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

7 สภานิสิต-นักศึกษา

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สภานิสิต องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภานิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เรื่อง ประณามการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ต.ค. 2563 บริเวณแยกปทุมวันและบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม

การชุมนุมของกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” บริเวณแยกปทุมวัน และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม วันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา แม้เป็นการชุมนุมภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่เป็นไปโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ และก็มิได้มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุม

อีกทั้งผู้ชุมนุมประกอบด้วย เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมประชาชน โดยใช้มาตรการจากเบาไป หาหนัก และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาความสงบในบริเวณดังกล่าวเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักสากลและหลักมนุษยธรรมในการควบคุมฝูงชนและการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณแยกปทุมวัน และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม มิได้เป็นไปตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชนแต่อย่างใด มีการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีแรงดันสูงเพื่อขอคืนพื้นที่ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากเกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง และดวงตา ทั้งที่มิได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการสลายการชุมนุมดังกล่าวนั้น ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน และหลักความจำเป็นต่อการควบคุมสถานการณ์ อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักการควบคุมฝูงชนตามหลักสากล

ผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่ง ขอประณามการสลายการชุมนุมอันไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้น การสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นอีกจำนวนมาก

จึงขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ปฏิบัติตามหลักสากลและหลักมนุษยธรรมในการควบคุมฝูงชน ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็น และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม

ยูนิเซฟ

เว็บไซต์องค์การยูนิเซฟออกแถลง แสดงความกังวลต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก และเยาวชน ท่ามกลางการชุมนุมที่เกิดขึ้นในไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน พร้อมปกป้องพวกเขาจากความรุนแรงและการถูกคุกคาม

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก ได้รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการชุมนุมอย่างสันติ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในพ.ศ. 2532 โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงสิทธิที่พวกเขาพึงมี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยได้รับการรับฟัง

ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อประกันความปลอดภัยของเด็ก และเยาวชนทุกคนในทุกที่ ทุกเวลา และให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ต่อเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยปราศจากความกลัวหรือการถูกคุกคาม

โรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสาหรับเด็กในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และมีการรับรู้รับฟัง ควรจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันอภิปรายอย่างมีสาระ

เด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที ตามกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง การคุกคาม หรือการข่มขู่

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

ประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา บริเวณแยกปทุมวันและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ สันติและปราศจากอาวุธ พร้อมแจ้งยุติการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 22.00 น. อย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ฟังเหตุผลกลุ่มผู้ชุมนุม อ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. เข้ากดดัน เข้ายึดพื้นที่ พร้อมใช้น้ำผสมสีฉีดเข้าสลายผู้ชุมนุม ไล่จับกุมบุคคล โดยอ้างว่าเป็นผู้กระทำผิดประกาศดังกล่าวนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอแถลงท่าที

1. ขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของเด็กนักเรียน ลูกหลาน เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ และเป็นการชุมนุมอันสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม

2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. โดยทันที และยุติการจับกุมผู้ชุมนุม พร้อมปล่อยแกนนำคณะราษฎร 2563

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในทันที เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายความตึงเครียดลง

ท้ายที่สุด เราจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ทุกเครือข่าย เพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร็ว อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามข้อเรียกร้อง

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงและข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน

ดังปรากฏสถานการณ์ความรุนแรงอันเกิดจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เข้าสลายการ ชุมนุมของกลุ่มเด็กเยาวชน บริเวณแยกปทุมวันและพื้นที่ใกล้เคียง แม้การชุมนุมจะ เป็นไปอย่างสงบและสันติ พร้อมแจ้งยุติการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 22.00 น. อย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ฟังเหตุผลกลุ่มผู้ชุมนุม อ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน กทม. เข้ากดดัน ยึดพื้นที่ พร้อมใช้น้ำผสมสารเคมีฉีดเข้าสลายผู้ชุมนุม ไล่จับกุมบุคคล นั้น

1. ขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของเด็กนักเรียน ลูกหลาน เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ หากรัฐบาลยังใช้อำนาจอยู่เช่นนี้ยิ่งจะทำให้สังคมแตกร้าวยากต่อการเยียวยาแก้ไข และขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงกรณีดังกล่าวทันที

2. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการรักษาไว้ซึ่งอำนาจรัฐของรัฐบาล โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัดสินอนาคตของประเทศตามหลักการระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรมหลายด้านของรัฐบาลปัจจุบัน มิได้เกิดจากการกระทำของประชาชนแต่อย่างใด

3. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. โดยทันที ยุติการจับกุมผู้ชุมนุม และปล่อยแกนนำคณะราษฎร 2563 พร้อมเปิดการเจรจาทางการเมืองเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นลำดับขั้นตอนโดยเร็ว

4. ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ กลไกรัฐสภาควรทำหน้าที่แก้ไขความเห็นต่างทางสังคมหรือความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลเมื่อไม่สามารถแก้วิกฤตบ้านเมืองได้ก็ต้องยุบสภาให้ประชาชนตัดสินอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้ง

เราได้ประสานงานกับภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ทุกเครือข่าย เพื่อผลักดันรัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร็ว หากไม่มีความคืบหน้าใดๆ เราจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน