รายงานพิเศษ

ข่าวการปฏิวัติ รัฐประหาร สะพัดหนาหูอีกครั้ง หลังการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยังมีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ยังไม่อาจหาทางออกจากวิกฤตได้

หลายฝ่ายกังวลว่าหากเกิดขึ้นจริง จะซ้ำเติมวิกฤตที่เป็นอยู่จนยากจะเยียวยา

นักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์ก็ชี้ผลกระทบจะเกินกว่าที่คาดการณ์

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

คณะมนุษย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่

โอกาสเกิดปฏิวัติอีกนั้นเป็นไปได้ แต่คนที่จะทำถ้าฉลาดหรือมีความกังวลจะไม่ทำแน่ แต่ก็กลัวว่ากลุ่มที่คิดจะทำอาจไม่รอบคอบ หรือไม่ฉลาดนัก เพราะถ้าทำรัฐประหารหมายความว่าพังเลย ที่เห็นชัดคือกระแสต่อต้านจะมาเร็วมาก แม้จะรัฐประหารด้วยการอ้างสถาบันก็ตาม

ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะใช้การอ้างอิงสถาบันด้วยเหตุผลมีคนจาบจ้วง ล่วงละเมิดสถาบัน จึงต้องยึดอำนาจ การทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างนี้ก็ต้องจับคน และจับเป็นพันคน หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นร้อยคน จึงแทบไม่ต้องนึกถึงกระแสต่อต้านเลยว่าจะเร็วขึ้นแค่ไหน

สิ่งที่น่ากังวลคือ นอกจากกระแสต่อต้านจะไปถึง ผู้ทำรัฐประหารซึ่งถืออาวุธแล้ว จะลามไปสู่สถาบันซึ่งคนไทยเคารพนับถือ ดังนั้น ถ้าทำปฏิวัติจริงคือการเดินเข้าสู่ทางตันเร็วขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดต่อให้อ้างสถาบัน แต่จะช่วยคุณควบคุมสถานการณ์ได้ไม่นานนัก สุดท้ายจะสู้กระแสต่อต้านไม่ไหว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดพังลง

และเชื่อว่ากลุ่มชนชั้นนำเองก็จะรวมกลุ่มกัน อย่างเช่น นายอานันท์ ปันยารชุน กระแสจากชนชั้นนำพวกนี้จะออกมาคัดค้านว่าอย่าทำดีกว่า แต่ถ้าทัดทานไม่ได้วิกฤตจะหนักกว่าเดิม

การรัฐประหารครั้งนี้จะไม่ใช่การแก้วิกฤตแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดไว้ แต่การรัฐประหารครั้งนี้จะผลักสังคมไทยไปสู่เดดล็อกที่รุนแรง นองเลือดและยาวนาน ซึ่งจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะฆ่าคนได้กี่คน จะทนฆ่าคนหรือจับคนได้กี่คน จับร้อยคน พันคน คุณอาจทนได้ก็เป็นสองพันคนจนถึงจุดหนึ่งก็ต้องคลาย

หลังจากคลายปัญหากระแสต่อต้านมันจะหยุดไม่ได้แล้ว ดังนั้น อยากเตือนผู้มีอำนาจทั้งหลายว่าอย่าใช้วิธีนี้ เพราะจะผลักสังคมไทยไปสู่วิกฤตที่หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นวิกฤตที่ชนชั้นนำเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน จะลุกลามไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณต่างๆ

เศรษฐกิจครั้งนี้จะยิ่งไปเลย ยิ่งในช่วงโควิดด้วย ทุกอย่างจะติดลบมากกว่าที่ใครคาดการณ์ไว้ มันไปหมดทั้งระบบและพังทลายโดยสิ้นเชิง

ในสายตาต่างชาติ คงมีแค่ประเทศจีนประเทศเดียวที่จะรับเราได้ แต่ถามว่าจีนจะแข็งขืนกับโลกได้ไหม ผมไม่ค่อยมั่นใจ แต่จีนคงประกาศยอมรับเราเพราะจีนก็กังวลว่าการปะทุขึ้นมาของสังคมไทยจะลามไปยังลาวและกัมพูชาด้วย แต่ถ้าสนับสนุนเรามากเขาเองก็เสีย

ท้ายที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาออก แต่ก่อนจะลาออกก็ควรทำประโยชน์ ประเด็นแรกคือ ประกาศให้ชัดเจนแน่นอนว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำโดยเร็ว และเรื่องสถาบัน ถ้าจงรักภักดีให้กองทัพถอยออกมา

อีกส่วนที่อยากเน้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ. ประยุทธ์ จำเป็นต้องนั่งคุยกับเครือข่ายตนเอง ทั้งนักธุรกิจ เครือข่ายทหารและอื่นๆ ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะเครือข่ายทั้งหมดกำลังกัน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้ทำ ต้องทำให้คนรู้สึกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนจะต้องเกิดขึ้นเร็วที่สุด สิ่งที่ตามมาที่เหลือก็จะแก้ไขได้

อย่าปล่อยให้เครือข่ายกำกับตัวนายกฯแบบนี้ ไม่อย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นตัวประกันของเครือข่ายตัวเอง รังแต่จะก่อปัญหามากขึ้น

นายกฯ ต้องยืนแล้วบอกเครือข่ายว่า มันต้องทำ อย่ายอมให้ตัวเองเป็นตัวประกัน เครือข่ายท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไรด้วย ถึงเวลาหนึ่งเขาก็ถอยหนีจากรัฐบาลท่านได้

 

สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ข่าวปฏิวัติที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นความเคยชินของคนไทย ทุกครั้งที่การเมืองมีปัญหาถึงทางตันก็มีข้อเสนอเรื่องปฏิวัติเกิดขึ้น เชื่อว่ารัฐสภาจะเป็นหนทางแก้ปัญหา เอาเข้าจริงการเมืองไทยไม่ตัน คนที่ตันคือตัวนายกฯและรัฐมนตรี

ผมเชื่อว่าการรัฐประหาร ไม่ตอบโจทย์ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ ถ้าทำรัฐประหารรอบนี้จะยิ่งซ้ำเติมประเทศไทย ใช้คำว่ายิ่งกว่าคนป่วยในห้องไอซียู ประเทศจะไม่น่าเชื่อถือ อยู่ในภาวะล้มละลายในสายตาต่างชาติ ซ้ำเติมเศรษฐกิจและการเมืองไทย เพราะบรรยากาศไม่ได้เหมือนกับการปฏิวัติเมื่อปี 2549 และ 2557

การตั้งรัฐบาลแห่งชาติในปัจจุบันก็ไม่อาจเป็นไปได้จริง สิ่งที่ต้องคิดข้างหน้าคือวันนี้ถ้านายกฯ ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา และปัญหาใหญ่ที่สุดคือตัวนายกฯ คือการลาออก เป็นการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองออกไปจากระบบการเมืองไทย

แต่ถ้านายกฯ เชื่อว่าตัวเองยังต้องอยู่ต่อ และประกาศว่าไม่ลาออก รวมทั้งใช้มาตรการจับกุมนิสิต นักศึกษา ที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นแรงกดดันทางการเมืองไม่จบสิ้น

เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรองจากนายกฯลาออก ซึ่งเห็นว่านายกฯต้องออกไปเพื่อจัดระเบียบการเมืองใหม่ ในสภา ส.ว.อาจต้องยอมรับว่า พวกเขาไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนให้ อำนาจส.ว.อย่างนั้น

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาไม่ได้แก้ปัญหาการเมือง แต่ร่างขึ้นมาเพื่อสร้างปัญหาให้กับการเมือง

ผมไม่อยากเห็นการเมืองต้องจบลงด้วยการรัฐประหาร เพราะจะทำให้ทุกอย่างอยู่ในวังวนเดิมว่า การเมืองไทยไปไม่ได้ ก็ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ทหารไม่ได้มีหน้าที่ล้างท่อ ทหารต้องไม่เล่นบทเป็นเทศบาล ไม่เช่นนั้นท่อก็จะแตก

วันนี้บ้านเมืองมีทั้งปัญหาวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตทางชีวิตของคนในสังคม กองทัพไม่ใช่คนที่จะมาแก้ปัญหา การมีตำแหน่งในรัฐบาลของทหารไม่ใช่คำตอบ ข้อ เรียกร้องมีอย่างเดียวคือนายกฯลาออก ถ้านายกฯไม่ลาออก วิกฤตการเมืองไทยก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ

วันนี้นายกฯ เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะปลดปัญหาการเมืองให้เบาบางลง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้ตัวเองอยู่ต่อ เพราะอยู่มา 7 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ วันนี้เวลาของพล.อ.ประยุทธ์หมดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ควรปลดวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น

ที่กังวลกันว่าหากมีการรัฐประหารอาจถึงขั้นนองเลือดนั้น ผมตอบไม่ได้ว่าแรงต้านรัฐประหารรอบนี้จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่จะทำให้วิกฤตมากขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจริง พล.อ. ประยุทธ์และรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ถ้าไม่ลาออกการชุมนุมก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อเรียกร้อง 1,2,3 ของผู้ชุมนุม เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องระยะสั้นและระยะยาว แต่สิ่งที่ดำเนินการได้ทันทีคือการลาออกของพล.อ.ประยุทธ์

 

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ส่วนตัวมองว่าการปฏิวัติรัฐประหารยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง หากทหารออกมาปฏิวัติจริงอาจทำให้กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลช่วงนี้ยิ่งเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้น เพราะข้อเสนอหนึ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง คือไม่เอารัฐประหาร

ส่วนบริบทการต่างประเทศนั้น แน่นอนจะส่งผลกระทบด้านความสัมพันธ์ รวมไปถึงการค้า การลงทุน อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู รวมทั้งสหรัฐ ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนไม่ยอมรับการรัฐประหาร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2558 มาแล้ว

เรื่องนี้อาจเป็นเพียงแค่กระแสช่วงหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารนั้น รัฐบาลควรเข้าไปดำเนินคดีตามกฎหมายกับคนเหล่านี้ เพราะถือเป็นการส่งเสริมการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

รัฐบาลควรเข้าไปดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่เอาแต่ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ สันติ ไม่ใช้ความรุนแรง

คิดว่ายังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติได้ง่ายๆ แม้โอกาสจะมีแต่โอกาสที่จะทำไม่น่าเกิดขึ้นง่าย เพราะจะเกิดผลกระทบหลายอย่างโดยเฉพาะกับทหาร หากทหารคิดจะใช้กำลัง หวังคุมอำนาจทางการเมืองเหมือนช่วงพฤษภาทมิฬ ก็คงต้องคิดให้หนักว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่

หากยังกล้าทำปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งจริง สิ่งที่ตอกย้ำชัดเจนที่สุดคือทหารไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย กลุ่มที่สนับสนุนทหารอยากให้เป็นรัฐบาล และไม่ต้องการประชาธิปไตยก็ยังมีอยู่ ดังนั้นปัญหาจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทหารเพียงอย่างเดียว ถือเป็นความโชคร้ายของประเทศและประชาชน

ส่วนความสัมพันธ์กับต่างชาตินั้นต่อให้ไม่มีการปฏิวัติ การทำข้อตกลงด้านการค้า การลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอียูก็ถูกชะลอ และไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

ส่วนความสัมพันธ์ในภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน แม้ว่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำรัฐประหารแต่ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้ทำการค้าหรืออยู่ได้แต่กับจีนเท่านั้น ไทยยังคงต้องทำการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นๆ ด้วย

ที่สำคัญเชื่อว่ากลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอยู่ขณะนี้ จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลแบบขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะรัฐบาลกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงจนอาจเกิดการปะทะกันได้ ยิ่งกระตุ้นให้มีการออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น

ส่วนเหตุการณ์จะบานปลายไปจนถึงขั้นนองเลือด หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและทหารจะตัดสินใจดำเนินการควบคุมอยู่ในขั้นไหน

ทางออกของประเทศขณะนี้ไม่ยาก เริ่มจากรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบอำนาจเลือกนายกฯของ 250 ส.ว. เพื่อให้ระบบการเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม ให้รัฐบาลมาจากประชาชนอย่างแท้จริง

หากเริ่มต้นจากจุดนี้ได้ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพร้อมจะเสียสละทำเพื่อประเทศและประชาชนแค่ไหน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน