ศิลปินวิถีใหม่ สู่โลกออนไลน์ – ด้วยผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การแสดงงานของศิลปินและการเข้าถึงผลงานศิลปะของเหล่าผู้เสพงานอาร์ตในวิถีดั้งเดิมที่เคยจำกัดวงอยู่ที่งานอาร์ต เอ็กซิบิชัน หรืออาร์ต แกลเลอรี ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ วงการศิลปะต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ที่นำเทคโนโลยีและดิจิตอลมาใช้กันมากขึ้น

ยูโอบี (ไทย) เปิดโอกาสครั้งสำคัญให้ศิลปินไทยก้าวสู่โลกดิจิตอลในกิจกรรม “My Art. My World. My Digital Gallery. | เปิดสู่โลกกว้างกับดิจิตอลแกลเลอรีของตัวเอง” เพื่อเตรียมความพร้อมให้ศิลปินไทยใช้ดิจิตอลเป็นเครื่องมือแสดงผลงานศิลปะของตัวเองบนโลกออนไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น

กิจกรรมในยุค New Normal นี้ ได้ศิลปินยุคใหม่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ ได้แก่ ยูน ปัณพัท เตชเมธากุล, โลเล ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, ติ๊กกี้ว้าว พิเชฐ รุจิวรารัตน์, ลำพู กันเสนาะ, และ แกะ คุณปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์ชื่อดัง ร่วมด้วย ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ที่ปรึกษาและเทรนเนอร์ด้านการตลาด มาแบ่งปันไอเดียและเคล็ดลับการ “ปล่อยของ” หรือนำผลงานศิลปะเข้าสู่โลกดิจิตอลได้อย่างมั่นใจ

ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ให้ความเห็นว่าดิจิตอลเปลี่ยนโลกใบเดิมที่ศิลปินต้องตระเวนแสดงผลงานตามแกลเลอรีเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปะ หากโอกาสดีบังเอิญผู้ที่มาชมงานชื่นชอบในสไตล์ของศิลปินก็จะสามารถขายผลงานมีรายได้ แต่ขณะนี้โลกดิจิตอลเปลี่ยนวิธี matching ระหว่างศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกับ ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ โดยดิจิตอลสร้างโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเจอกันง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มในมือถือ

“เพื่อนศิลปินของผมขายงานศิลปะผ่านโซเชี่ยลมีเดียอย่างเดียว วาดและโพสต์ออนไลน์ มีรายได้ 1 ล้านบาทภายใน 3 เดือน” เรื่องจริงจากคำบอกเล่าของ แกะ ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑรักษ์ชื่อดัง

ศิลปินจะปล่อยของ (ผลงาน) อย่างไรให้มีศิลปะและสร้างโอกาสไร้ขีดจำกัดบนโลกออนไลน์ มีข้อสรุปฮาวทูจากกิจกรรม “My Art. My World. My Digital Gallery. | เปิดสู่โลกกว้างกับดิจิตอลแกลเลอรีของ ตัวเอง” มาไว้ให้ศิลปินไทย ดังนี้








Advertisement

“เปิดใจ” สิ่งแรกที่ศิลปินต้องทำคือลองเปิดใจ สร้างสรรค์ และลงมือโพสต์ผลงานบนโซเชี่ยลมีเดีย แล้วความชอบจะดึงดูดคนที่ชอบเหมือนกันมาเจอกัน ดิจิตอลยังสร้างโอกาสอีกมากมายอย่างไร้ข้อจำกัดที่อาจคาดไม่ถึง

“ค้นหาและเลือกช่องทางที่เป็นตัวเอง” ศึกษาเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่จะใช้ “ปล่อยของ” ศิลปินสามารถสร้างเป็นดิจิตอลแกลเลอรีของตนเอง โดยมองจากความชอบและความถนัดของตัวศิลปินเอง การก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลอาจเป็นเรื่องใหม่ ถ้าไม่เคยก็ต้องลอง หรือลองแล้วแต่ยังไม่เก่งก็ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม

“หากลุ่มเป้าหมายที่ใช่” โดยใช้ประโยชน์จากแฮชแท็ก (#) ศิลปินสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขากำลังสนใจอะไร และเขามักจะติดแฮชแท็กอะไร ผ่านการสืบค้นแฮชแท็กในแพลตฟอร์มต่างๆ และยังใช้เป็นไอเดียว่าเราควรจะติดแฮชแท็กแบบไหนจึงจะเหมาะและได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย

“การสร้างคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์” กำหนดวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทุกครั้ง นอกจากผลงานแล้วศิลปินยังสามารถสร้างคอนเทนต์ที่สะท้อนตัวตนจากบันทึกส่วนตัว ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ เพลงที่ฟัง และหนังที่ชอบ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักเรามากขึ้น

“เช็กฟีดแบ็กจากผู้ชม” ศิลปินควรโพสต์ผลงานสม่ำเสมอ รักษาความถี่ในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงาน รวมถึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ผลตอบรับหรือฟีดแบ็กจากผู้ชมด้วยว่าหลังจากโพสต์ไปแล้วมีคนดูหรือไม่ เพื่อนำกลับมาพิจารณาว่าช่องทางนี้เหมาะกับเราหรือไม่

“ทำงานร่วมกัน” โลกดิจิตอลเอื้อให้ศิลปินสามารถทำงานไม่ว่าที่ใดบนโลกใบนี้ และขยายเขตการทำงานร่วมกับคนอื่น ศิลปินสามารถจับมือกับศิลปินต่างสายงานแต่มีจุดร่วมกันบางอย่าง หรือร่วมงานกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้จากทุกมุมโลก ทำให้เกิดผลงานใหม่ในวงการ

การมีรายได้จากดิจิตอลแกลเลอรีของตนเองอาจต้องใช้เวลา ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยจะต้องแสดงเอกลักษณ์ตัวตนให้เต็มที่ รู้จักสร้างและหาโอกาสให้ตัวเอง สร้างคอนเน็กชั่นทำงานร่วมกับแบรนด์และศิลปินคนอื่นๆ เรียนรู้จากความสำเร็จของคนอื่นได้แต่ควรรักษาตัวตนไว้ด้วย หากเรายอมแพ้ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป้าหมายก็ยังคงอยู่ไกลเท่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน