หนุน 3 นักวิจัยสตรี เพื่อการแพทย์-เกษตร – เพื่อสนับสนุนสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์เป็นปีที่ 18 แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานโดดเด่นรับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศ ไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2563 เมื่อไม่นานนี้

นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าลอรีอัลเชื่อมั่นมาตลอดว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรีเพื่อการพัฒนา ในช่วงสถานการณ์ระบาด โควิด-19 นี้ ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่มีต่อมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ลอรีอัล ประเทศไทย เองสนับสนุนนักวิจัยสตรีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 ในเดือนมิ.ย.2563 และยังคงทุนวิจัย ประจำปีไว้เช่นเดิมเป็นปีที่ 18

ปีนี้มอบทุนให้นักวิจัยสตรี 3 คน จาก 2 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผศ.ดร.จุฑา มาศ รัตนวราภรณ์ จากหลักสูตรวิศวกรรม ชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน “ไหมไทยจากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์” และ ดร. สุวัสสา บำรุงทรัพย์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงาน “การพัฒนาอนุภาค นาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทาง การแพทย์” ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงานวิจัย “เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ: ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน”

ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวถึงงานวิจัยว่าในรังไหมไทยมีโปรตีนที่มีประโยชน์ จึงนำมาสกัดไฟโบรอินจากรังไหมไทยและประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีทางวิศวกรรม อาทิ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ การชะละลายสารก่อรูพรุน และอีกหลายอย่าง งานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านชีววัสดุเพื่อการแพทย์ เพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย ลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหมในประเทศ

ด้าน ดร.สุวัสสากล่าวว่าปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนเพื่อให้สัญญาณการตรวจวัดในไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของโรค งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์โดยใช้อนุภาคนาโนร่วมกับเทคนิคเชิงแสง 2 เทคนิค นำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์และตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง รวมทั้งขยายผลโดยการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาชุดตรวจโรคติดเชื้อในกลุ่มไข้หวัดใหญ่

ขณะที่ ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข กล่าวว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง งานวิจัยจึงมุ่งคิดค้นกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม วิเคราะห์คุณสมบัติ ศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่างๆ ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะจำลอง








Advertisement

“ผลงานวิจัยจะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ กระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทางด้านโอลิโอเคมีภัณฑ์ สนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และเป็นแนวพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.บุญญาวัณย์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน