อันตรายของ‘นอนกรน’เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ – ‘นอนกรน’ หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เจ้าตัวอาจรู้สึกว่าไม่ น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้นพ.ณัฎฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์ อายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ โรงพยาบาลในเครือ “พริ้น ซิเพิล เฮลท์แคร์” อธิบายว่า นอนกรนเป็นอันตรายจริง เพราะอาการนอนกรน บ่งบอกถึงการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย

ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่

นพ.ณัฎฐพงศ์กล่าวถึงความเชื่อเรื่องลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปาก แปะคาง ไม่ให้อ้า ว่า วิธีนี้ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ ในทางการแพทย์วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้าเพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือการใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูกขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น

นพ.ณัฎฐพงศ์กล่าวอีกว่า ควรหลีกเลี่ยงยา หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกชนิดที่ทำให้ง่วง เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน

นพ.ณัฎฐพงศ์กล่าวด้วยว่า ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นกันหากปล่อยไว้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตตนเองหรือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกตว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก

สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนและผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความ อ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน เผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก ขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลงเพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ








Advertisement

หากตัวเรา หรือคนใกล้ชิดมีอาการ เหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ อื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน