หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน จังหวัดสระบุรี – วันเสาร์ที่ 19 ธ.ค. 2563 น้อมรำลึกครบรอบ 38 ปี มรณกาล “หลวงพ่อย้อย ปุญญมี” หรือ พระอธิการย้อย อดีต เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี พระเกจิชื่อดังที่มีวัตรปฏิบัติดี มีชื่อเสียง โด่งดังจังหวัดสระบุรี

มีนามเดิม ย้อย (ไม่ทราบนามสกุล) เกิดวันที่ 1 ก.ค.2435 ปีมะโรง ที่บ้านโรงเหล้า (บ้านอัมพวัน) หมู่ที่ 3 ต.ศาลารีไทย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายนิ่มและนางแป๋

ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดวังแดงเหนือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

ก่อนเข้าพิธีบรรพชา ที่วัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อปี พ.ศ.2452 ขณะอายุ 16 ปีเศษ โดยมีพระครูสา วัดวังแดงเหนือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดอัมพวัน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2456 มีพระครูสา วัดวังแดงเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาโป๋ วัดวังแดงเหนือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกานาค วัดสมุหประดิษฐาราม อ.เสาไห้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาวิทยาคมจากตำราต่างๆ โดยมีหลวงพ่อโป๋ วัดวังแดงเหนือ ซึ่งเป็นพระกรรม วาจาจารย์ คอยเป็นพระอาจารย์อบรมสั่งสอน

ในปี พ.ศ.2461 ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน

เป็นพระภิกษุผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เจริญด้วยเมตตายิ่ง ผู้ที่ได้เข้ามากราบพบท่าน จะเห็นว่า เวลาท่านฉันภัตตาหารเช้าหรือเพล แทบจะกล่าวได้ว่า ทุกเวลาที่ท่านฉัน จะมีสุนัขและแมวล้อมรอบตัวท่านและสำรับกับข้าวของท่านจำนวนมาก แต่ไม่เคยไล่ให้หนีออกไป

แม้กระทั่งยุงที่กัดก็ไม่เคยไล่หรือตี มีลูกศิษย์จะตีให้ก็ไม่ยอม บอกแต่เพียงว่าเขาอิ่มแล้วเขาก็ไป

คุณลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่เคยขัดศรัทธาของลูกศิษย์ที่ไปหา ต้องการให้ทำหรือช่วยเหลืออย่างไร ทำให้ทุกอย่าง ถึงมีวิทยาคม แต่ใช้ในทางที่ถูกช่วยเหลือ, ป้องกันภัย ไม่ว่าจะลงกระหม่อม ทำน้ำมนต์อาบให้ หรือปลุกเสกเครื่องรางของขลังไว้ป้องกันตัวจากอันตรายต่างๆ

อีกประการหนึ่ง มีประสาทหูเสีย (หูหนวก) จึงมีสมาธิดีกว่าปกติ เพราะไม่สามารถฟังเสียงรบกวนจากบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้วัตถุมงคลของท่านมีพุทธานุภาพ

กล่าวสำหรับ วัดอัมพวัน ม.4 ต.ศาลารีไทย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ แต่เยื้องไปตามลำน้ำเล็กน้อย เดิมชื่อว่า “วัดม่วงล้อม” เพราะบริเวณวัดปรากฏว่าเต็มไปด้วยต้นมะม่วงขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณวัด

โดยสมัยนั้นยังปรากฏ วิหารเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 110 เซนติเมตร สูง 145 เซนติเมตร ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าได้สร้างขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยา มีอายุความเก่าแก่ประมาณ 400 ปีเศษ ในละแวกนี้เดิมมีบ้านเรือนผู้คนมาขอปลูกอาศัยเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พระครูติ๊บ ซึ่งเป็นพระครูเมืองวัดเขาแก้ว เข้ามาปฏิสังขรณ์วัดม่วงล้อมใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ และอุโบสถ แล้วให้นามวัดว่า “วัดอัมพวัน” นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน โดยมีหลวงตาจั่น เป็นเจ้าอาวาสและเมื่อหลวงตาจั่นมรณภาพไปแล้ว หลวงพ่อย้อย ปุญญมี จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน

เป็นพระที่มีจิตที่ไม่มีความโกรธ มีบุคลิกที่มีความเมตตายิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ เมตตาต่อสรรพสัตว์น้อยใหญ่ มีความ อิ่มเอิบสดชื่นเสมอๆ มีบารมีผ่องใสอยู่ในตัว ประกอบกับการที่มีสมาธิแก่กล้า เข้มขลัง จึงสามารถทำให้วัตถุมงคลของท่านบรรลุผลแห่งพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมได้อย่างเต็มที่ เมื่อได้ปลุกเสกโดยการปรุงใจตามวิธีการปลุกเสกของตำราโบราณ ดังนั้นวัตถุมงคลของท่านจึงมีพุทธคุณที่เป็นเมตตามหานิยมด้วย

ช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อย้อย เกิดล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงถูกส่งไปรักษาตัวที่ ร.พ.ศิริราช แต่ด้วยความชราภาพ ในที่สุด ท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2525

สิริอายุ 90 ปี พรรษา 69

สรีรสังขารไม่เน่าเปื่อย วัดอัมพวัน นำบรรจุไว้ในโลงแก้ว ให้ประชาชนได้ สักการะขอพร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน