‘พระกำแพงสามขา’ วัดเสด็จประวัติศาสตร์เมืองชากังราว – เมืองกำแพงเพชร ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นเมืองมรดกโลก ร่วมกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ย่อมแสดงถึงความสำคัญของเมืองกำแพงเพชรที่โลกยกย่องว่ามีอารยธรรม วัฒนธรรม และศิลปกรรมอันสูงส่ง มีค่าล้ำมีความเป็น อัตลักษณ์ของตนเอง

กำแพงเพชรจึงมีพระพุทธรูปที่ล้ำค่าและมีพุทธศิลป์เป็นของตนเอง อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองกำแพงเพชร เมืองมรดกโลก พระบูชาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเมืองกำแพงเพชร คือ “พระกำแพงสามขา”

อาจารย์สันติ อภัยราช ปราชญ์ชาวกำแพงเพชร ผู้เชี่ยวชาญศิลปวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า พระกำแพงสามขา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระกำแพง ขาโต๊ะ เป็นพระพุทธรูปของกำแพงเพชรแท้ๆสร้างสมัยกำแพงเพชร เป็นเมืองลูกหลวง แห่งอาณาจักรสุโขทัย สร้างราวพุทธศักราช 1900-2000 พบได้ทั่วไป ในเกือบทุกวัดในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชร มีหลายขนาดที่ผู้เขียนเคยพบมีตั้งแต่หน้าตักสามนิ้ว จนถึงสิบสองนิ้ว

เหตุที่เรียกขานว่าสามขา เพราะแท่นที่ประทับของพระพุทธรูปมี 3 ขา ด้านหน้าสองขา และด้านหลังหนึ่งขารวมเป็นสามขา

ผู้ค้นพบครั้งแรก เมื่อประมาณร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กรุพระเมืองกำแพงเพชรยังไม่แตก ระยะแรกๆ ผู้แสวงหาทั้งหลาย เก็บแต่ของมีค่าในกรุพระ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เพชรนิลจินดา พระกำแพงสามขาและพระบูชา ตลอดจนพระเครื่อง ไม่เป็นที่ต้องการของ ผู้แสวงหา เมื่อราวร้อยปีกว่า (2430 ถึง 2453) ที่ผ่านมา

พระบูชาเริ่มมีผู้สนใจเก็บไปเป็นสมบัติส่วนตัวมากขึ้น พระกำแพงสามขาค่อยๆ หายไปในช่วงปี 2450-2470 คติที่ว่า “พระควรอยู่วัด” หายไปจากความเชื่อ พระบูชากลายเป็นที่ต้องการของผู้แสวงหามากขึ้น เมื่อพระบูชาหมดไปจาก กรุพระเครื่อง เริ่มหายากมากขึ้น ในที่สุดในราวปีพุทธศักราช 2470 ถึงปี 2490 พระเครื่องก็กลายเป็นสมบัติของนักแสวงหา หายไปหมดจากกรุ อยู่ในครอบครองของข้าราชการและคหบดีในเมืองกำแพงเพชรตลอดจนคหบดีและข้าราชการต่างเมืองที่สนใจสะสมพระเครื่องและพระบูชามากขึ้น สนนราคาของพระราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคนสามัญจับต้องเป็นเจ้าของไม่ได้

พุทธลักษณะของพระกำแพงสามขา ที่พบส่วนใหญ่เป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ขวาพระองคุลีทั้ง 5 ไม่เท่ากัน เหมือนมนุษย์ธรรมดา พระดัชนีชี้ลงล่างราวให้แม่พระธรณีเป็นพยาน ในคราวปราบพญามาร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาหงายพระหัตถ์แผ่งดงาม พระวรกายงดงามพระอุระนูน พระอุระใหญ่เม็ดพระถันเห็นได้ชัดแม้ข้างซ้ายจะปกคลุมด้วยจีวร แต่ก็เห็นได้ชัด ราวไม่ได้สวมจีวรกระนั้น

บั้นพระองค์คอดงดงามสังฆาฏิ ด้านหลังยาวจรดฐาน ด้านหน้า ยาวจรดพระนาภี อยู่ท่ามกลางพระถัน เบี่ยงมาทางซ้าย พระศอมี รอยหยัก พระหนุเสี้ยม พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏกว้าง พระโอษฐ์ แย้มยิ้มน้อยๆ เหมือนทรงเมตตา กับมวลพุทธศาสนิกชน พระขนงชิดติดกัน โก่งราวคันศร ที่กำลังน้าวยิง พระเนตรมองลงล่างเล็กน้อย งดงาม

พระนาสิกเป็นสันงามสมกับพระพักตร์ พระกรรณยาวเกือบถึง พระอังสา แนบพระพักตร์ พระศกเม็ดเล็กงดงาม สมกับขนาดพระเศียร เปลวเพลิงเหนือพระเศียรสูง งดงามกว่าพระบูชาทุกแบบ ฐานงดงาม มีความสูงเหมาะกับขนาดของพระกำแพงสามขา ซึ่งนับว่า น่าชมที่สุดในบรรดาพระบูชาของเมืองกำแพงเพชรทุกแบบ

พระกำแพงสามขา จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระบูชาในเมืองกำแพง ที่ผู้คนที่ชื่นชอบ และสนใจพระบูชา แสวงหาที่จะได้บูชากันทุกคน

พุทธคุณพระกำแพงสามขา ชาวเมืองกำแพงเพชรเชื่อว่ามีพุทธคุณแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม

พระกำแพงสามขา มีความหมายต่อผู้บูชา เพื่อแสดงว่าเป็น พระกำแพง เป็นคนกำแพง และเป็นของดีเมืองกำแพงเพชร

ทั้งนี้ พระครูสุทธิวชิรศาสตร์ หรือ พระอาจารย์เหว่า เจ้าอาวาสวัดเสด็จ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า วัดเสด็จ ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธีพุทธาภิเษกพระกำแพงสามขา รุ่น 11 ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.2564 เวลา 13.19 น. โดยการจัดสร้างครั้งนี้นับเป็นรุ่นที่ 11 ที่วัดเสด็จดำเนินการจัดสร้างขึ้น จัดสร้าง 2 เนื้อ คือสนิมแดงและสนิมเขียว ขนาดหน้าตัก 9, 5 และ 3 นิ้วโดยมีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดัง ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต ที่วิหารวัดเสด็จ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

สอบถามรายละเอียดได้ที่พระครูสุทธิ วชิรศาสตร์ โทร.08-2528-6808

อาทิตย์ สุวรรณโชติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน