เจาะข่าวเด่นเศรษฐกิจปี2563จากบทเรียนเราไม่ทิ้งกัน สู่มาตรการ ‘คนละครึ่ง’ ในช่วงปลายปี ที่ฮอตฮิตติดลมบน ทั้งเฟส 1 และ 2 คนแห่สมัครร่วม 15 ล้าน และจะต่อเนื่องไปยัง ต้นปี 2564

ปี 2563 ที่กำลังจะปิดฉากลงในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ถือเป็นปีที่ทั้งไทยและโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ สาเหตุหลักมาจาก ‘โควิด-19’ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจย่ำแย่ต่อเนื่องนานหลายปี ยิ่งโดนกระทบหนักขึ้น

แต่ถึงกระนั้นในรอบปี 2563 ก็ยังพอมีข่าวดีๆ เกิดขึ้นบ้าง แม้ ไม่มากนักก็ตาม

เราไม่ทิ้งกัน-คนละครึ่งฮิต

ผลพวงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี จนทำให้รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์นานร่วม 3 เดือน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งเข็น พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน เพื่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วงเงินร่วม 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการกู้เงินเพื่อเยียวยากว่า 6 แสนล้านบาท

มาตรการไฮไลต์ที่กระทรวงการคลังเข็นออกมารับมืออันดับแรกคือ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่แจกเงินช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นการใช้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน มีผู้มาลงทะเบียนรับสิทธิ์ทะลุ ไปกว่า 20 ล้านราย ก่อนปิดยอดที่ 14 ล้านราย

โครงการมีความโกลาหลอย่างชัดเจน หลังมีม็อบเรือนหมื่นบุกมา กระทรวงการคลัง ถึงความบกพร่องของการลงทะเบียน และช่องโหว่คุณสมบัติผู้ได้สิทธิ์








Advertisement

จากบทเรียนเราไม่ทิ้งกันสู่มาตรการ “คนละครึ่ง” ในช่วงปลายปี ที่ฮ็อตฮิตติดลมบน ทั้งเฟส 1 และ 2 คนแห่สมัครร่วม 15 ล้าน เพื่อรับเงินช่วยจ่ายค่าสินค้าคนละ 3,500 บาท ได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม บรรยากาศจับจ่ายท้ายตลาดคึกคัก และจะต่อเนื่องไปยังต้นปี 2564

หายนะท่องเที่ยวไทย

ช่วงปลายปี 2562 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศเดินหน้าดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยภายใต้เป้าหมายปี 2563 ที่รัฐบาลต้องการให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 41.8 ล้านคน สร้าง รายได้เพิ่มเป็น 2.22 ล้านล้านบาท ติดอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศ ที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก

แต่เมื่อการมาถึงของ ‘โควิด-19’ ที่ทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ สายการบินหยุดบินต่อเนื่องยาวนาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปิดเมืองครั้งใหญ่ ช่วงแรกประมาณ 3 เดือนเพราะหวังว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น

แต่โควิด-19 อยู่กับคนทั่วโลกนานกว่าที่คิด ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือวัคซีนที่คาดว่าจะได้ใช้กันจริงจังประมาณปี 2564 สายการบินเริ่มปิดกิจการ โรงแรม ร้านอาหาร งดให้บริการชั่วคราว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มทยอยเลิกจ้าง เพราะไร้นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยทั้งปีมีประมาณ 7-8 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยคาดว่าอยู่ 80 ล้านคน/ครั้ง

ตลาดรถยนต์กระอักเลือด

พิษของโควิด-19 นี่ส่งผลไปทั่วทุกวงการ ทุกอุตสาหกรรม รวมถึงตลาดรถยนต์ก็หนีไม่พ้น เพราะล่วงเข้าเดือนมี.ค. สถานการณ์ยอดขายทรุดตัวลงอย่างกะทันหันด้วยผลจากการล็อกดาวน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวเลขยอดขายก็มีทีท่าว่าไม่สู้ดีนักเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนไหว

ผู้รู้ในวงการไม่มีใครกล้าประเมินตัวเลขว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร แต่ด้วยเพราะความสามารถในการควบคุมโควิด-19 ไม่ให้เกิดการลุกลาม ทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมบนวิถีใหม่ ช่วยให้ยอดขายในเดือนมิ.ย. เริ่มดูดีขึ้น

กระทั่งเดือนก.ค. มีงานคาร์โชว์ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรา บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่โดนโรคเลื่อนมาตั้งแต่เดือนมี.ค. ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์อีกครั้ง

หลังจากนั้นดูดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ ทำเอาผู้บริหารค่ายรถยนต์ใจชื้นขึ้นเป็นกอง ถึงขนาดที่มองว่าตัวเลขยอดขายตลาดรวมรถยนต์จะอยู่ที่ 750,000-760,000 คัน จากตอนแรกคาดว่าไม่ถึง 700,000 คัน

จัดระเบียบใช้ที่ดินส.ป.ก.

ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ใหม่ 2 ฉบับ คือในวันที่ 28 ต.ค. 2563 และฉบับวันที่ 30 ต.ค. 2563 ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เซ็นประกาศ สร้างความกังวลกับหลายฝ่ายว่าการแก้ไขประกาศ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

เพราะประกาศใหม่ระบุให้ดำเนินกิจการต่างๆ จำนวนมาก อาทิ โรงงาน โรงน้ำแข็ง ปั๊มน้ำมัน ร้านจำหน่ายของชำ ร้านจำหน่าย วัสดุก่อสร้าง ร้านจำหน่ายยา หอพัก คลินิก สถานพยาบาล ทันตกรรม ร้านจำหน่ายยา/เวชภัณฑ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ยืนยัน การแก้ระเบียบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ไม่เอื้อนายทุน แต่เป็นการจัดระเบียบเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน จากเดิมเป็นอำนาจ คปจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ที่ตีความการใช้ประโยชน์ออกไปแตกต่างกัน

ส่วนการระบุประเภทกิจการใช่สิทธิ์ใน ส.ป.ก. ได้นั้น ทุกวันนี้แต่ละพื้นที่ ส.ป.ก. ทั่วประเทศก็มีกิจการดังกล่าวทำอยู่แล้ว

จึงเลือกที่จะดึงกลับเข้ามารวมศูนย์ไว้ที่ คปก. เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาและลดความไม่เท่าเทียมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ปิดดีล 8 ปีลงนามอาร์เซป

วันที่ 15 พ.ย. 2563 นับเป็นความสำเร็จที่ไม่เพียงแต่กระทรวงพาณิชย์ในฐานะทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาหลัก และผลักดันให้ไทยบรรลุในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) แต่ ยังถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่เฝ้ารอการลงนาม ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิกอาร์เซป ทั้ง 15 ประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม และนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานในการลงนาม

สาเหตุที่ข้อตกลงดังกล่าวมีความสำคัญเพราะการลงนามอาร์เซป 15 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ถือเป็นกลุ่มความตกลงทาง การค้า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็น 1 ใน 3 ของโลกและมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก

สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งเร่งศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะหลังจากลงนามวันนี้แต่ละประเทศต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปี 2564

‘5G’ประเทศแรกอาเซียน

ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีบริการ ‘5G’ เชิงพาณิชย์เกิดขึ้นในปี 2563 มาจากแรงผลักดันของรัฐบาล และ ผู้กำกับดูแลกิจการอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

ที่เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เพื่อชิงความได้เปรียบ เพราะ 5G จะเป็นฐานรากของ “ดิจิทัลไทยแลนด์” และจะช่วย ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ พร้อมเป็น แม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

เรียกว่าไทยไม่ตกขบวน 5G ตามประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีน สหรัฐ และเกาหลีใต้ นำร่องเปิดให้บริการบางพื้นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2563 ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ

เปิด‘สยามพรีเมี่ยม เอาต์เล็ต’

แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่เงียบเหงาของวงการค้าปลีกอย่างแท้จริง แต่ยังมีปรากฏการณ์ฮือฮากับการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ หนึ่งเดียวเท่านั้น คือ โครงการ ‘สยาม พรีเมี่ยม เอาต์เล็ต กรุงเทพฯ’ (Siam Premium Outlets Bangkok) ห้างค้าปลีกเอาต์เล็ตระดับพรีเมี่ยมแห่งแรกในไทย

ภายใต้ร่วมทุนระหว่าง 2 ผู้นำแห่งวงการค้าปลีกระดับโลก ได้แก่ ‘กลุ่มสยามพิวรรธน์’ และ ‘ไซม่อน พรอพเพอร์ตี้ กรุ๊ป’ เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกระดับโลก และผู้นำพรีเมี่ยมเอาต์เล็ต ระดับแนวหน้าที่มีกว่า 90 แห่งทั่วโลก

มูลค่าการลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท บนที่ดิน 150 ไร่ บนทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ก.ม.23 ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 นาที เปิดให้ช็อปอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 โดยมีแบรนด์หรูและร้านดังๆ จากทั่วโลก มาให้เลือก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน