ส่องอนาคตธุรกิจการบินปี 2564 – การระบาดของโควิด-19 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักและรุนแรงที่สุดไม่พ้น ‘การบิน’ เพราะทั่วโลกแทบจะชัตดาวน์ประเทศ และห้ามบินไปมาหาสู่กัน

เรียกว่าแทบจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ธุรกิจการบินโดนหนักขนาดนี้ คนที่ทำงานจากปกติมองว่าเป็น อาชีพที่มั่นคง รายได้ดี กลับตกงาน เป็นว่าเล่น

แน่นอนว่าประเทศไทยก็ตกอยู่ในวังวนดังกล่าว ‘การบินไทย’ สาย การบินแห่งชาติ ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และอีกหลายสายการบินต้องปิดตัวลง

ธุรกิจการบินทั่วโลกพังยับ

วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่คุกคามโลกและประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลไทย และทั่วโลกต่างประกาศปิดน่านฟ้า สั่งจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาด

ส่งผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน จากการที่ทุกสายการบินประกาศหยุดทำการบิน ทั้งเส้นทางระหว่างประเทศ และในประเทศในเวลาพร้อมๆ กัน เนื่องจากขณะนั้นยังผลิตคิดค้นวัคซีนป้องกันและรักษาโรคไม่ได้

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ชี้ว่าโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรม การบินทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้ในปี 2563 มหาศาลถึง 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า ชี้ว่าสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนรวม 1.185 แสนล้านดอลลาร์

ธุรกิจการบินที่ซบเซา ทำให้หลายสายการบินต้องปรับลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน มาตรการที่ได้ผลทันตาคือการประกาศเลิกจ้างพนักงาน

โดยกลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ (ATAG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรในอุตสาหกรรมการบิน ระบุว่าตำแหน่งงานบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกราว 46 ล้านคน จากทั้งหมด 88 ล้านคน ต้องตกงานและหายออกจากระบบ

ไทยรายได้วูบ 2.3 แสนล้าน

หันมาดูอุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2563 จะเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง เพราะประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำรายได้ให้สายการบินของไทยได้เป็นกอบเป็นกำ

จากข้อมูลของสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยนายจุฬา สุขมานพ อดีตผอ.กพท. ระบุว่าปัญหาโควิดทำให้ปริมาณผู้โดยสารทั้งในและจากต่างประเทศมีการเดินทางลดลง 70% เหลือเพียงปีละ 50 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 165 ล้านคน

ขณะที่ไออาต้าระบุว่าปริมาณผู้โดยสารของสายการบินของไทยจะลดลง 55 ล้านคน หรือลดลง 52% จากปี 2562

สอดคล้องกับข้อมูล กพท. ที่บอกว่ารายได้รวม ของ 9 สายการบินสัญชาติไทยในปี 2563 จะลดลงมาอยู่ที่ 8.28 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 73% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3.12 แสนล้านบาท หรือลดลง 2.3 แสนล้านบาท

4 สายการบินไทยล่มสลาย

โชคร้ายของอุตสาหกรรมการบินไทย คือวิกฤตโควิดเข้ามาถาโถมในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังลูกผีลูกคน ทำให้หลายสายการบินเริ่มขาดทุนหนัก ซ้ำเติมให้สายการบินที่มีฐานะทางการเงินที่ง่อนแง่อยู่แล้วอย่างการบินไทย ที่ขาดทุนต่อเนื่องนานหลายปีกระอักเข้าไปอีก

รวมไปถึงสายการบิน ไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก เจ็บตัวอย่างหนักจนมีหนี้ล้นพ้นตัวกว่า 3.5 แสนล้านบาท

ขณะที่สายการบิน นกแอร์ ก็กำลังย่ำแย่ สุดท้าย 3 สายการบินต้องกอดคอกันล้มละลายไปพร้อมๆ กันในช่วงกลางปี 2563

ขณะที่สายการบิน นกสกู๊ต ก็ไม่ได้ไปต่อต้องประกาศปิดกิจการ พร้อมเลิกจ้างพนักงาน 425 คนหนีขาดทุนไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563

สายการบินที่สายป่านยาวก็พากันเจ๊งกันระนาว ยืนยันได้จากผลประกอบการล่าสุดในช่วง 9 เดือนของปี 2563 ของสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย มียอดขาดทุน 3.6 พันล้านบาท

บางกอกแอร์เวย์ส ขาดทุน 4.8 พันล้านบาท ส่วน นกแอร์ ขาดทุน 3.9 พันล้านบาท ขณะที่การบินไทย ขาดทุน 4.9 หมื่นล้านบาท

สายการบินของไทยทยอยปลดพนักงานจำนวนมาก ทั้งพนักงานออฟฟิศ ลูกเรือ และนักบิน เช่น สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สั่งปลดพนักงาน 248 คน

การบินไทยเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ไทยแอร์เอเชียและบางกอกแอร์เวย์ส ออกมาตรการให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน 3 เดือน

ขณะที่นายกสมาคมนักบินออกมาระบุว่า ปี 2563 คาดว่ามีนักบินตกงานรวมกว่า 1,000 คน

ขนาดเสือนอนกินอย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปกตินั่งเก็บค่าเช่าใช้บริการ 6 สนามบินหลักของไทย จากสายการบินและผู้โดยสารยังเกือบจะเจ๊ง

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่าพิษโควิดทำให้ยอดผู้โดยสารปี 2563 ลดลงไป 72% เหลือเพียง 38.81 ล้านคน จากปีก่อนมี 141 ล้านคน ฉุดรายได้หดไป 50.70%

สภาพคล่องบริษัทหายวับไปกับตา 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ถือเงินสดไว้ 7 หมื่นล้านบาท

ส่องอนาคตการบินปี 2564

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยสามารถแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ จากมาตรการที่เข้มงวด บังคับใส่หน้ากาก ตรวจวัดอุณหภูมิ ทำให้ช่วงกลางปี 2563 เริ่มมีการผ่อนคลายให้สายการบินไทยเปิดบินในประเทศได้

จากนั้นเริ่มเปิดเส้นทางระหว่างประเทศไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องปฏิบัติกักตัวนักท่องเที่ยว 14 วัน ก่อนเข้าไทย ทำให้อุตสาหกรรมการบินไทยเริ่มเห็น แสงสว่างขึ้นมาบ้าง

ช่วงปลายปีเริ่มมีข่าวดีว่าหลายประเทศเริ่มคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย จีน แต่ก็ยังในอยู่ในช่วงทดลองฉีดเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะได้ผล 100% หรือไม่

“วัคซีน” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดชะตาของอุตสาหกรรมการบินของไทยและโลก เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยและทั่วโลก

ขณะที่ประเทศไทยลงนามจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า คาดว่าจะสามารถฉีดทดลองได้ต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตามประเทศไทยบอบช้ำอีก เมื่อเจอโควิดระบาดรอบ 2 ช่วงเดือนธ.ค. 2563

เริ่มจากแรงงานต่างด้าวจ.สมุทรสาคร จากนั้นลุกลามอย่างรวดเร็วไปหลายจังหวัดใกล้เคียง เฉลี่ยช่วงแรกมีคนติดเชื้อนับร้อยคนในแต่ละวัน ทั้งที่แต่เดิมไทยแทบ จะควบคุมผู้ติดเชื้อในประเทศเหลือ 0 ราย มาพัก ใหญ่ๆ แล้ว

การพบผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดมาจากคนไทยหรือต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศเท่านั้น

ระหว่างที่โลกกำลังรอผลทดลองวัคซีน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ออกมาคาดว่าปี 2564 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นตัวในเวลาอันรวดเร็ว คาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่อง ราว 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ลดลงจากปี 2563 ที่ขาดทุนมหาศาลราว 1.185 แสนล้านดอลลาร์

การเดินทางทางอากาศทั่วโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในปี 2567 หรือต้องรอไปอีก 4 ปีจากนี้

ผู้โดยสารกลับมาปกติอีก 3 ปี

ขณะที่ กพท.ออกมาย้ำชัดว่าปี 2564 อุตสาหกรรมการบินยังไม่สามารถเปิดทำการบินได้เต็ม 100% คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารทางอากาศจะกลับมาปกติได้ภายใน ปี 2566 หรือต้องใช้เวลาอีก 3 ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการทดลองวัคซีนเป็นสำคัญ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ระบุสอดคล้องกันว่าตลาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปี 2564 จะค่อยๆ ดีขึ้นแต่จะมีตัวเลขรวมเพียง 4.5-7.0 ล้านคนเท่านั้น

ทอท.ในฐานะผู้ให้บริการสนามบิน ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่มองบวกมากที่สุด คาดการณ์ว่าสายการบินจะเริ่มกลับมาบินได้ปกติ ในช่วง เม.ย. 2565 แต่อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว K คือบางอุตสาหกรรมจะฟื้น และบางอย่างจะทรุดหนัก เป็นคนละทิศทาง

ในปี 2564 ทอท.อาจจะเข้าสู่ภาวะขาดทุน ขณะที่ สภาพคล่องจะหมดลง จนอาจจะต้องมีการกู้เงินเพื่อการลงทุนครั้งใหม่

หากวัคซีนที่ทั่วโลกผลิตออกมาใช้ได้ผล อาจจะเป็น จุดพลิกผันครั้งสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินไทย เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แต่คงยังไม่ฟื้นตัวในปี 2564 และอาจซบยาวไปอีก 2-4 ปี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน