2021แฟชั่น 2 ขั้วน้อยแต่ดูดี-รักษ์โลก & หรูหราสุดโต่ง – สถานการณ์โควิดส่งผลสะเทือนต่อชาวโลกในทุกด้าน รวมถึงวงการแฟชั่น เมื่อวิธีคิด รสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ผลิต รวมถึงดีไซเนอร์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็ต้องปรับตาม ทั้งกระบวนการผลิต แต่สิ่งที่ผู้ซื้อเห็นได้ชัดเจนคือเทรนด์

ในมุมมองของ พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือหมู อาซาว่า ดีไซเนอร์ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นเมืองไทยมาถึงวันนี้ กล่าวถึงเทรนด์แฟชั่น 2021 ว่า คาดเดายาก เพราะเราเผชิญกับสิ่งที่ท้าทาย เป็นอันตราย และไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ สถานการณ์เหมือนช่วงสงครามโลก

ผลกระทบที่ใหญ่มากคือมีผลต่อวิธีคิดของคน เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน รสนิยมก็เปลี่ยน ช่องทางการซื้อเปลี่ยน ในฐานะนักคิด นักสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ก็ต้องทบทวนวิธีคิดใหม่หมด

เมื่อศึกษาย้อนหลังกลับไป น่าจะมี 3 เทรนด์ใหญ่ๆ

1. less is more ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าอยากได้ของที่จำเป็น ของดีมีคุณภาพ มิกซ์แอนด์แมตช์ได้ หลากหลาย และไม่ต้องหอบหิ้วเกินจำเป็น ไม่อยากเสียเงินกับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ กระแสเงินสดสำคัญมากกว่าเสื้อตัวใหม่

แฟชั่นเคยมีหลายซีซั่นแต่วันนี้ไม่ต้องถี่ขนาดนั้นแล้ว หลายคนเคยรู้สึกว่าการบริโภค คือความหรูหรา ความสุข good life แต่วันนี้มันไม่ตอบโจทย์แล้ว

2. เป็นเทรนด์ที่มาคู่กัน คือ แฟชั่นรักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่และเริ่มมาได้สักพักแล้ว เช่น การใช้ผ้าใยกัญชา ผ้าใยสับปะรด ผ้าฝ้ายที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่นำมารีไซเคิล นำเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิลเพื่อให้ได้เส้นใยใหม่ ทอใหม่ หรือใช้เส้นใยธรรมชาติไม่ผ่านการปรุงแต่งของสารเคมี

รวมถึงรู้ว่าเสื้อผ้าที่จะซื้อต้องไม่ได้มาจากโรงงานที่กดขี่แรงงาน หรือเลือกซื้อผ้าจากคนทอผ้าโดยตรง

ส่วนเทรนด์ที่ 3 เป็นแฟชั่นหรูหราสุดโต่ง ตรงข้ามกับ 2 เทรนด์แรก ย้อนกลับสู่ยุคมืดเมื่อเป็นพันๆ ปีมาแล้ว เมื่อไหร่ที่โลกเกิดโรคระบาด หรือเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ยุคต่อมาจะเป็นยุคแห่งการฟุ้งเฟ้อ เพราะจะมีคนอีกกลุ่มที่เบื่อความหดหู่ ไม่ได้เดินทางไปไหน

เช่นเดียวกับการมาของสไตล์แกสบี้ และดิสโก้ อาร์ตเดคโค หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือแฟชั่นยุค 1980 ที่คนกลุ่มหนึ่งเลือกทำผมใหญ่ๆ แต่งหน้าจัด ใส่เสื้อตัวเบ้อเริ่ม ใส่เพชรเยอะๆ เชื่อว่าเทรนด์นี้จะมาด้วยเพราะจะมีกลุ่มสุขนิยม มองหาความหรูหรา ซูเปอร์แบรนด์ต่างๆ จะมีสินค้าที่คิดว่าไม่มีคนซื้อ แพงมหาศาล แต่มีคนซื้อ พวก ลิมิเต็ด เอดิชั่น ก็ตอบโจทย์ รูปแบบจะหรูหาแบบเตะตา วิบวับ ประกายจรัสแสง เป้าหมายของคนกลุ่มนี้ใส่แล้วรู้ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ กุชชี่ วิตตอง ใส่ทอง เพชร นาฬิกา เห็นตั้งแต่ 3 ไฟแดง ว่าใช้ของแพง ดังนั้นจะสังเกตว่าแฟชั่นกลางๆ หรือไม่มีนัยยะสำคัญเชิงความหมาย จะอยู่ยาก ฟาสต์แฟชั่นจะเริ่มหมดความสำคัญ เพราะความรู้สึกที่ว่าต้องซื้อเร็ว อยากได้ อยากใส่ก่อน ไม่ใช่แล้ว

ส่วนแบรนด์อาซาว่า ยึดแนว less is more มาตั้งแต่ก่อตั้ง คำนึงฟังก์ชัน คุณประโยชน์ เราไม่สุดโต่ง เรียบๆ โก้ๆ ใส่ได้นานไร้กาลเวลา ซื้อไป 10 ปีเอามาใส่ใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็เริ่มหันมาทำเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เราลดการใช้ผ้าอัดกาวลงครึ่งหนึ่งเพราะกรรมวิธีมีการใช้สารเคมี ถึงเวลาที่มนุษย์เรา จะเข้าใจสิ่งไหนสำคัญ สุดท้ายก็คือหลักความ พอเพียง

ด้าน ขนิษฐา ดรุณเนตร ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ แบรนด์ คานิท (CANITT) กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคไม่เน้นแฟชั่นที่สวยงามอย่างเดียวแต่เน้นสัมผัสดี ใส่สบาย ใส่ง่ายขึ้นและใช้ได้นาน อีกทั้งที่ผ่านมาผู้คนชินกับการรูปแบบการทำงานเวิร์กฟรอมโฮม จึงชินกับรูปแบบเสื้อผ้าที่ดูรีแล็กซ์

โดยเทรนด์ปี 2021 มองว่าแนวบอยเฟรนด์ เบลเซอร์ที่เป็นสูทตัวใหญ่ๆ จะมา ซึ่งที่จริงเริ่มมาแล้ว และจะต่อเนื่องมาถึงปี 2021

นอกจากเบลเซอร์ที่เป็นไฮไลต์ เสื้อผ้าจะออกแนวแคชชวล ลำลอง สบายๆ มากขึ้น เป็นแบบหลวมๆโอเวอร์ไซซ์ทั้งชายและหญิง ไม่เข้ารูป และสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้หลายลุกส์ เบลเซอร์ตัวเดียวกันสามารถแมตช์ได้กับกางเกง เดรส ได้หลากหลายสไตล์

ถ้าถามว่าอะไรใส่แล้วเชย คิดว่าช่วงนี้เสื้อผ้าแนวนอร์มัล ที่เป็นทางการจัดๆ รวมถึง อีฟนิ่งเดรส ค็อกเทลเดรส ไม่อินแล้ว อาจไม่ใช่เทรนด์ใน ช่วงนี้ แต่ที่สุดแล้วแฟชั่นก็จะ วนกลับมา

สำหรับโทนสี ยังมองว่าไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา คือ น้ำตาล เทา คลาสสิคโทนยังเป็นสีที่อยู่ใน เทรนด์ปี 2021 ยกเว้นในช่วงซัมเมอร์ สีหวานๆ แบบลูกกวาด เหลือง เหลืองอ่อน ม่วง จะมา

นอกจากเสื้อผ้า คิดว่ากระเป๋าใบเล็กมากๆ กระเป๋าที่ไม่ใช่กระเป๋า คือใช้เป็นสร้อย เข็มขัดคาดเอว กำลังมา เป็นอีกไอเท็มที่คนให้ ความสนใจ คือใช้เป็นเครื่องประดับคอมพลีตลุกส์ให้ดูเก๋ขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน