เครื่องรางยอดนิยม – เขี้ยวเสืออาคม หลวงพ่อนก วัดสังกะสี เสือ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นที่ ครั่นคร้ามเกรงกลัวนับถือของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้งยังมีอำนาจบารมีสูงล้ำและบริวารมากมาย จนเกิดการสร้างเครื่องรางของขลังด้วยอำนาจพญาเสือ

กล่าวถึงเครื่องรางเขี้ยวเสือ “หลวงพ่อปาน อัคคปัญโญ” หรือพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พระเกจิชื่อดังของสมุทรปราการ จัดสร้างขึ้นมา ล้วนแต่ได้รับความนิยม ถือเป็นสุดยอดของเครื่องรางฯ

อย่างไรก็ตาม เครื่องรางเขี้ยวเสือ ที่สร้างโดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานและมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กัน คือ “หลวงพ่อนก วัด สังกะสี”

สมัยก่อนนั้น สำหรับผู้ที่หาเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานไม่ได้ ก็หาเขี้ยวเสือของหลวงพ่อนก วัดสังกะสีแทน

แต่ปัจจุบันก็หายากเช่นกัน

“หลวงพ่อนก ธัมมโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคราช (วัดสังกะสี) อ.บางบ่อ จ.สมุทร ปราการ ศิษย์ของหลวงพ่อปาน ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำเสือ ถึงขนาดที่ว่าหลวงพ่อปานทึ่งในความมานะอดทนฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ พร้อมกับชมเชยว่าทำได้ขลังจริงๆ ทำได้เหมือนท่านมาก

สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์และชาวบ้านอยู่หลายอย่าง แต่ที่นิยมสูงสุดคือเขี้ยวเสือ เป็นการแกะแบบเต็มเขี้ยวและลงอักขระเต็มตลอดตัวเสือ

โดยนำเขี้ยวเสือที่แกะแล้วไปปลุกเสกในอุโบสถ ร่ำลือกันว่าจะปลุกเสกจนเขี้ยวเสือหมุนได้อยู่ในบาตร จึงเป็นอันเสร็จพิธี แล้วจึงนำมาแจก

พุทธคุณเด่นทั้งด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม เจริญรุ่งเรือง ค้าขายดี

‘น้้ำเต้ากันไฟ’ พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม

พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) เจ้าอาวาสรูปที่ 16 (พ.ศ.2458-2470) วัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน และสร้างพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังอย่างยิ่ง

วัตถุมงคล “เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม)” สร้างไว้มีด้วยกันหลายอย่าง

แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เครื่องราง “น้ำเต้ากันไฟ”

น้ำเต้า หรือภาษาจีนเรียก “หูหลู” นับเป็นหนึ่งในของวิเศษของบรรดาเซียนใหญ่ของชาวจีน เชื่อกันว่าข้างในบรรจุน้ำทิพย์แห่งความเป็นอมตะไว้ ชาวจีนจึงถือเป็นสัญลักษณ์มงคล ดังนั้น การแขวนน้ำเต้า จึงมีความหมายถึงการเก็บกักความเคราะห์ร้ายไม่ให้มาเยือน ภายหลังนิยมทำเป็นเครื่องรางมงคล แขวนไว้ตามบ้านเรือน ร้านค้า เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลต่างๆ ทั้งยังดูดโชคลาภและความสิริมงคลเข้ามาได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าถ้าแขวนน้ำเต้าไว้ในตำแหน่งสุขภาพ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

น้ำเต้ากันไฟ เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม) ท่านได้วิชามาขณะที่ออกธุดงค์ โดยได้ไปพบศาลาพักร้อนกลางป่าหลังหนึ่ง ซึ่งโดยรอบศาลาถูกไฟไหม้เสียหายไปทั้งหมด แต่ตัวศาลากลับไม่ได้รับความเสียหาย เมื่อเดินดูรอบๆ พบบริเวณอกไก่ มีน้ำเต้าแขวนไว้ลูกหนึ่ง เมื่อเทออกดูพบคาถากันไฟบทหนึ่งบรรจุอยู่ภายใน จึงได้นำติดตัวกลับมาด้วย ภายหลังวกกลับไปพบว่าศาลาดังกล่าวถูกไฟป่าไหม้เสียหายหมด เป็นที่อัศจรรย์ เมื่อประจักษ์ในอภินิหารเช่นนั้น ท่านจึงได้สร้างน้ำเต้า บรรจุคาถาแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์จนเป็นที่เลื่องลือ

น้ำเต้าที่เลือก จะเลือกเอาแต่ผลที่มีลักษณะตรงตามตำราบ่งบอกไว้ และต้องแก่จัดมากๆ เอามาควักเนื้อในและเม็ดออกให้หมด แล้วจึงลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกตามสูตรโบราณ

การสร้างน้ำเต้ากันไฟ ให้ถูกต้องตามแบบโบราณนั้นสร้างยากมาก นับตั้งแต่หาวัสดุจนถึงขั้นตอนการปลุกเสก นอกจากนี้ บางลูกก็มีการถักเชือกและลงรักปิดทองไว้ บางลูกก็ไม่มี ไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไป แต่วงการพระเครื่องมักนิยมและเล่นหาแบบถักเชือกและลงรักมากกว่า

เป็นผลให้น้ำเต้าของท่านเจ้าคุณ สังวรา (ชุ่ม) นี้มีจำนวนน้อยมาก และได้รับความนิยมสูง

เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว

“หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน” หรือ “พระพุทธวิถีนายก” วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์เรืองนามเมืองเจดีย์ใหญ่

เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง อาทิ พระเครื่อง เหรียญ ผงยาวาสนาจินดามณี ตะกรุด และเบี้ยแก้ เป็นต้น

ในส่วนของเบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่มสร้างตามตำรับของหลวงปู่บุญอย่างเคร่งครัด ผู้ที่จะขอให้สร้างเบี้ยต้องไปหาหอยเบี้ยปรอทแผ่นตะกั่วมาให้พร้อม ซึ่งสมัยนั้นหาซื้อได้ในตลาดนครชัยศรี จัดให้เป็นชุดพร้อมสรรพ

เบี้ยแก้ เป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ทำด้วยเบี้ยจั่น ซึ่งเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง บรรจุปรอทเอาไว้ภายใน แล้วปลุกเสกด้วยอาคม

สร้างมาแต่ครั้งโบราณเชื่อว่าใช้แก้กันได้สารพัด ใช้ป้องกันคุณไสยต่างๆ ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันไข้ป่า ป้องกันยาพิษยาสั่ง ป้องกันและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

ในด้านร้ายกลับเป็นดี จะมีคุณสมบัติในเรื่องช่วยให้เรื่องร้ายๆ หรือ เรื่องที่ไม่ดีต่างๆ ให้กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของคำว่า “เบี้ยแก้” ที่มีความหมายว่า แก้ในสิ่งที่ไม่ดี ให้กลับเป็นดีขึ้นได้

กรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม ต้องไปจัดหาหอยเบี้ย 1 ตัว ปรอทน้ำหนัก 1 บาท ชันโรงใต้ดินกลางแจ้ง 1 ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด 4×5 นิ้ว 1 แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายหลวงปู่ ท่านจะรับสิ่งของเอาไว้ จากนั้นจะเสกปรอทแล้ว เทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันนะโรงที่ปากหอย

จากนั้นเอาแผ่นตะกั่วห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้ ใช้ด้ามมีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ขั้นตอนนี้ ใช้เวลานานประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี

ฝีมือการเคาะนี้ หากไม่มีความชำนาญ เบี้ยจะออกมาไม่สวย

เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วเสร็จ หลวงปู่เพิ่มลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายเอาผ้าแดงผืนเล็ก ให้หลวงปู่ลงยันต์ให้ด้วยก็มี

พอท่านจารเสร็จก็จะปลุกเสกให้ เป็นอันแล้วเสร็จ

ปัจจุบัน เบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่มหายากยิ่ง

‘เครื่องรางแพะ’หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก

“หลวงพ่ออ่ำ เกสโร” วัดหนองกระบอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งแห่งภาคตะวันออก มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อมาคือ หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกระเฌอ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อลัด วัดหนองกระบอก จ.ระยอง ฯลฯ

สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ สร้างเครื่องรางของขลังรูปแพะจนมีชื่อเสียง ซึ่งได้สืบทอดวิชาต่อจากหลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา จนเป็นที่ต้องการของบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง

แพะหลวงพ่ออ่ำ สร้างจากเขาควายฟ้าผ่าตาย ซึ่งมีความเชื่อกันว่าได้รับพลังจากเทพ แล้วนำมาแกะเป็นแพะ บรรจุวิทยาคม โดยวางไว้บนถาด บางครั้งก็แช่น้ำมันหอม น้ำมันว่านสมุนไพร น้ำมันจันทน์

ครั้นจะมอบให้ จะทำพิธีปลุกเสกอีกครั้ง

จากตำราสมุดข่อยที่คณาจารย์โบราณได้จารึกว่า การสร้างแพะโดยใช้เขาควายและเขาควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตาย เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าเขานั้นจะได้รับพลังจากเทพ คือ สวรรค์ทุกชั้น ทุกวิมาน

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าในตัวแพะที่โดนฟ้าผ่าตายนั้น ได้พลีจากสรวงสวรรค์อีกด้วย พระเกจิอาจารย์หลายสำนัก จึงได้นำมาเป็นวัสดุในการแกะเป็นรูปลักษณ์ของแพะ

ว่ากันว่าผู้ที่มีแพะหลวงพ่ออ่ำ ไว้ในความครอบครอง จะเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์เมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง และอายุยืน

‘มีดหมอ’ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

“หลวงพ่อเดิม พุทธสโร” หรือ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” ถือเป็นพระเกจิชื่อดังภาคกลางตอนบนที่มีผู้คนเคารพนับถืออย่างมาก

จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนแต่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญ นางกวัก ราชสีห์ ตะกรุด ผ้ายันต์รองเท้า แหวน ฯลฯ

หลวงพ่อเดิมศึกษาวิชามีดหมอ จากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมาสร้างมีดหมอขึ้นมา

ยุคแรกๆ สร้างมีดเล่มใหญ่ให้แก่ควาญช้าง ซึ่งมีขนาดทั้งด้ามทั้งฝักยาวประมาณหนึ่งศอก ต่อมาจึงทำมีดให้มีขนาดเล็กลง ขนาดพอพกได้พอดี จนมาถึงมีดขนาดเล็ก พกใส่กระเป๋าเสื้อได้ในที่สุด

เนื้อเหล็กที่นำมาใช้ตีเป็นมีด จะมีส่วนผสมประกอบด้วยตะปูสังขวานร ซึ่งเป็นตะปูในสมัยโบราณที่ใช้ยึดเครื่องไม้ในพระอุโบสถแทนตะปู ตะปูโลงผีที่สัปเหร่อเผาแล้วเก็บไว้ บาตรแตกชำรุด และเหล็กน้ำพี้ นำมาเป็นส่วนผสมใช้ตีมีด

สำหรับช่างที่ตี เท่าที่ทราบเป็นฝีมือช่างฉิม ช่างไข่ และช่างสอน ซึ่งแต่ละช่างจะมีเอกลักษณ์ของตัวมีดต่างกันไป เมื่อช่างทำใบมีดเสร็จแล้ว จะส่งต่อให้ช่างทำด้ามและฝักทำต่อ ส่วนที่เป็นตัวด้าม ถ้าเป็นมีดเล่มใหญ่จะมีด้ามเป็นงา และฝักเป็นไม้คูน ส่วนเล่มเล็กจะมีด้ามเป็นงาและฝักเป็นงา

จากนั้นส่งต่อไปให้ช่างทำเงินทำที่รัดปลอกมีดและด้ามมีด ช่างจะทำเงิน ทองหรือนากตามที่กำหนด โดยส่วนมากจะเป็นเงินเพียงอย่างเดียว

เมื่อทุกอย่างเสร็จ จะนำมาประกอบที่วัดหนองโพ โดยหลวเครื่องรางยอดนิยมเครื่องรางยอดนิยมงพ่อเดิมจะทำผงอิทธิเจไว้ให้ ผสมกับเส้นเกศาของหลวงพ่อที่ปลงในวันขึ้น 15 ค่ำ และแผ่นตะกรุด ซึ่งเป็นเงิน ทอง นาก เป็นแผ่นเล็ก ลงอักขระ ตัดพอดีกับตัวกั้นของมีด บรรจุลงไปในด้ามมีดอุดด้วยครั่งจนแน่น หลังจากนั้นจึงนำมีดหมอไปปลุกเสกอีกครั้ง

วิธีอาราธนามีดหมอ ให้ระลึกถึงหลวงพ่อเดิมแล้วบริกรรมว่า “พระพุทธังรักษา พระธรรมมังรักษา พระสังฆังรักษา ศัตรูมาบีฑาวินาศสันติ”

ส่วนคาถากำกับมีดหมอ มีดังนี้ “สักกัสสะ วชิราวุธัง เวสสุวันนะสะคะธาวุธัง อาฬาวะกะธุสาวุธัง ยะมะสะนัยนาวุธัง ณารายยะสะจักกะราวุธัง ปัญจะอาวุธานัง เอเตสังอานุภาเวนะ ปัญจะอาวุธานัง ภัคคะภัคขา วิจุณนัง วิจุณนาโลมังมาเมนะ พุทธะสันติ คัจฉะอะมุทหิ โอกาเสติฐาหิ”

ส่วนข้อห้ามผู้ที่ถือเครื่องรางนี้คือ ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต นอกจากป้องกันตัว ห้ามนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น รังแกคนอื่น อย่าเป็นชู้กับเมียคนอื่น ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้สตรีที่มีรอบเดือนแตะต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน