กระทรวงการต่างประเทศ – ก้าวเข้าสู่ปี 2564 ภารกิจช่วยคนไทยในต่างประเทศที่เผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการต่างประเทศ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีการคาดไว้ คิดว่าทุกประเทศต้องบริหารจัดการในสถานการณ์ที่เร่งด่วน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับการช่วยเหลือคนไทยโดยเฉพาะหน้า คือการอำนวยความสะดวกนำคนไทยกลับมาประเทศไทยตามความต้องการให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันนำคนไทยกลับมาได้มากกว่า 140,000 คน ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. -16 ธ.ค.2563

ช่วงแรกมีขลุกขลักบ้าง เพราะขั้นตอนต่างๆ อาทิ ขั้นตอนการเดินทาง ใบรับรองในการเข้าประเทศไทยหรือซีโออี ใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง (Fit-to-Fly) รวมถึงการตรวจโควิด

แต่หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานบริหารจัดการดูแลอย่างรัดกุม ไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์โรคระบาดหรือไม่เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ คนไทยที่เดินทางเข้ามาติดโควิดแค่ร้อยละ 0.7

“เดี๋ยวนี้ขั้นตอนของเราเรียกว่าเป๊ะ ผมเองเดินทางกลับจากกรุงฮานอยก็ต้องกักตัวด้วยตนเองเช่นเดียวกัน เป็นความภาคภูมิใจว่าเราทำได้ดีมาก ขณะเดียวกันการต้อนรับดูแลคนไทย ผมจัดเที่ยวบินอพยพคนไทยมาเอง ดูแลได้อย่างดีมาก นุ่มนวล เรียบร้อยและปลอดภัย นอกจากนี้เรามีพี่น้องคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศทั่วโลกมากกว่า 1.6 ล้านแสนคน ซึ่งสถานทูตสถานกงสุลต้องมีหน้าที่ดูแลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” นายธานีกล่าว

โฆษกกต.กล่าวด้วยว่า ภารกิจของกต.เป็นมากกว่าการอำนวยความสะดวก เพราะให้ขวัญกำลังใจ ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยมีเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ทั่วโลกทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนไทยจัดให้มีการบริจาคสิ่งของจำเป็น ซึ่งสิ่งของหลายส่วนส่งมาจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ยารักษาโรค ส่วนกรมการกงสุลจัดสายด่วนที่สามารถพูดคุย ตั้งกลุ่มไลน์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สุขภาพกายในการดูแลรักษาตัวเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้เริ่มมีการผ่อนคลาย นำคนต่างชาติเข้ามา ด้วยเหตุผลส่วนตัว ทำธุรกิจ หรือเข้ามาดูลู่ทางการทำธุรกิจต่างๆ ตัวเลขชาวต่างชาติที่เข้ามาไทยมีราว 55,000 คน

สําหรับประเด็นการดำเนินการทูตช่วงโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ นายธานีมองว่าเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสในตัวเอง

“การที่เราไม่ได้ไปติดต่อปฏิสัมพันธ์กับประเทศเจ้าบ้าน ไม่สามารถจัดการประชุมทางกายภาพได้นั้นเป็นแรงผลักดันและกดดันให้ทุกประเทศต้องหาหนทางและต้องใช้วิธีผ่านการประชุมทางไกล ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเวทีอาเซียน การปฏิสัมพันธ์ทางการทูตทวิภาคี เราติดต่อทางไกลได้ อย่างเวียดนามเป็นเจ้าภาพอาเซียน จัดการประชุมต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการพบกันทางกายภาพเลย และบรรลุข้อตกลงต่างๆ ที่สำคัญของภูมิภาคมากมาย เราทำได้ อาทิ ความตกลงอาร์เซป เมื่อปีที่แล้วไทยได้กรุยทางไปเยอะมาก ปีนี้เวียดนามก็สามารถเจรจาต่อจนสำเร็จ สามารถขัดเกลาภาษาด้านกฎหมายจากด้านต่างๆ ได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งถือว่าเราพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจริงๆ” นายธานีกล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังยกตัวอย่าง เอกอัครราชทูตพิษณุ สุวรรณะชฏ ประจำกรุงลอนดอน คุยกับรัฐบาลอังกฤษบ่อยกว่าตอนก่อนโควิด-19 เสียอีก ทั้งยังมีข้อดีทั้งในแง่ติดต่อง่ายกว่า และยังลดงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ แม้ไม่สามารถทดแทนการประชุมตัวต่อตัวได้ แต่การทูตก็ไม่ชะงักงัน

ส่วนบทบาทด้านการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด นายธานีกล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศเป็นกระทรวงกึ่งความมั่นคงและกึ่งเศรษฐกิจ พยายามผลักดันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่ ผ.30 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 เห็นชอบอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยโดย ไม่ต้องขอวีซ่า สำหรับกลุ่มที่อนุญาตให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน หรือ ผ.30 ได้แก่ 56 ประเทศ/ดินแดน อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย บาห์เรน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิตาลี ซึ่งปัจจุบันจะขยายจาก 30 วันเป็น 45 วัน เพราะเราเข้าใจดีว่าต้องกักตัว 15 วัน จึงให้สิทธิ์แก่กลุ่ม ผ.30 พำนักได้ไม่เกิน 45 วัน (เป็น ผ.45) โดยให้มีผลชั่วคราว

ด้านกรมการกงสุลและสำนักงานการบินพลเรือนเจรจาจนได้ข้อตกลง 44 สายการบินที่ทำการบินแบบกึ่งพาณิชย์ได้ ในจำนวนนี้ทำการบินอยู่แล้ว คาดว่าต่อไปจะขยายไปเรื่อยๆ เช่น สายการบินกาตาร์และสายการบินเอมิเรตส์ เริ่มเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนพ.ย.2563

อีกภารกิจในปี 2565 คือไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ตั้งเป้าจัดการประชุมทางกายภาพ เพราะมีในเดือนธันวาคม 2565

ข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศที่ประจำการอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก รวมถึงข้าราชการของหน่วยงานในทีมประเทศไทย ลูกจ้างและครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการระบาดของ โควิด-19 ในต่างประเทศรวม 60 คน ได้แก่ (1) ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ 10 คน คู่สมรส 3 คน และบุตร 1 คน (2) ข้าราชการหน่วยงานทีมประเทศไทย 2 คน และคู่สมรส 1 คน (3) ลูกจ้างท้องถิ่น 38 คน คู่สมรส 4 คน และบุตร 1 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่รักษาหายแล้วรวม 26 คน และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นลูกจ้างของสำนักงานในต่างประเทศข้างต้น

สุจิตรา ธนะเศวตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน