นศ.พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง – วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

จัดประกวดออกแบบโมเดลหัว รถจักรไฟฟ้า “Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020” บนพื้นฐานกฎและกติกาการแข่งขันของ IMechE Railway Challenge ภายใต้การดูแลของสถาบันวิศวกรเครื่องกลแห่งสหราชอาณาจักร

การแข่งขันเน้นการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้า ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทีมละไม่เกิน 10 คน ภายใต้โจทย์การแข่งขันประกอบด้วย ออกแบบหัวรถจักรต้นกำลังเป็นไฟฟ้าสำหรับรางขนาด 10 นิ้ว น้ำหนักรวมต้องไม่เกิน 2 ตัน และความเร็วสูงสุด 15 ก.ม./ช.ม. จุดเด่นของการประกวดยังรวมถึงแผนการตลาด คำนวณต้นทุน กำหนดราคาขาย และกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์

คณะกรรมการจัดงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดเวิร์กช็อป 6 ครั้ง ให้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีระบบราง เกณฑ์การตัดสินประกอบด้วยหลักการทางวิศวกรรม เทคนิคการนำเสนอ การตรงต่อเวลา และการตอบคำถาม

ผลการแข่งขัน รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม RET-KMITL จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, รองอันดับ 1 ทุนการศึกษา 30,000 บาท ทีมรถจักรสังหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, รองอันดับ 2 ทุนการศึกษา 15,000 บาท ทีม KMUTT Railway Team มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และรางวัลชมเชย ทีมสุรเริงชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

นนทวัฒน์ บวรกุลโสภณ หรือ เฟิร์ส นักศึกษาวิศวะลาดกระบัง หัวหน้าทีม RET-KMITL กล่าวว่า ในทีมมีสมาชิก 10 คน ใช้เวลากว่า 3 เดือน วิเคราะห์ ถกเถียง ใช้ความรู้ที่เรียนมาลงมือปฏิบัติจริงในการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้าย่อส่วน มุ่งเป้าสำหรับใช้ขนส่งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวยั่งยืน

จุดเด่นคือ 1.ความปลอดภัยพร้อมด้วยระบบเบรกทั้งแบบปกติ ระบบเบรกฉุกเฉิน ระบบเบรกอัตโนมัติ และระบบเบรกโดยจ่ายพลังงานคืน 2.ใช้พลังงานสะอาด ไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากแบตเตอรี่แล้วยังมีพลังงานสำรองจากไดนาโม 3.มีความสวยงาม ควบคุมได้ตลอดเวลาผ่านระบบ บลูทูธและรักษาความปลอดภัย

4.ติดตั้งและถอดประกอบง่าย 5.อายุการใช้งานยาวนาน 50 ปี วัสดุอุปกรณ์และอะไหล่หาง่าย น้ำหนักรวม 500 ก.ก. กำหนดราคาขาย 299,900 บาท/หัวจักร ค่าใช้จ่ายสร้างราง 1,200 บาท/เมตร หรือ 4.4 ล้านบาท โดยคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.3-2.5 ล้านบาท/ปี เรากำลังจะมีสถานีกลางบางซื่อที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน

หวังว่าในอนาคตพลังของคนรุ่นใหม่จะมีส่วนพัฒนาสร้างสรรค์ระบบรางของไทยให้ยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน