สงครามลับ-สงครามลาว – ชั่วชีวิตคนเรามีเรื่องจริงมากมายเหลือเชื่อ มีภาพยนตร์สงครามร้อยล้านพันเรื่องให้ดูชม แต่มันก็ยัง ไม่สนุกไม่ประทับใจเท่ากับเรื่องจริง ชีวิตจริงของฮีโร่ “หัวหน้าใจ” พล.ต.ประจักษ์ วิสุตกุล วัย 77 ปี อดีตทหารผ่านศึก 6 สมรภูมิ เป็นอีกหนึ่งตัวแทนจากวีรกรรมของทหารและอาสาสมัครทหารพรานของไทยที่ไปรบในสมรภูมิสปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน “สงครามลับ-สงครามลาว” หรือ Secret War in Laos

เปิดใจฮีโร่รายนี้ระหว่างร่วมกิจกรรมเล็กๆ ของกองทัพอากาศ ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ใกล้สนามธูปะเตมีย์ ย่านดอนเมือง หัวหน้าใจเผยเรื่องราวที่ผ่านสมรภูมิล่องแจ้ง บ้านนา ทุ่งไหหิน ฯลฯ ช่วงปี พ.ศ.2513-2514 ซึ่งเป็นการรบที่ ดุเดือดรุนแรงในสมัยนั้น

อดีตมิอาจหวนคืน แต่หลายสิ่งหลายอย่าง ยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำทั้งยังควรค่าแก่การรำลึกนึกถึง ทั้งทหารไทยนอกประจำการ และอาสาสมัครทหารพรานที่ถูกส่งไปรบในลาว ล้วนถูกเก็บเป็นความลับปกปิดในยุคสมัยนั้นมานานหลายสิบปี มีผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพ ตลอดจนผู้รอดชีวิตกลับมา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการยอมรับ หรือยกย่องในเกียรติภูมิแห่งความเสียสละเพื่อชาติ (ด้วยความเชื่อเป็นด่านกันชน ไม่ให้คอมมิวนิสต์รุกเข้าประเทศไทย) เท่าที่ควรจะเป็น

หากเทียบกับวีรกรรมทหารไทยในสงครามอื่นๆ นับแต่อดีตเป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะนโยบายของรัฐบาลไทยในยุคสงครามเย็นซึ่งมีพันธะกับลูกพี่ใหญ่อย่างอเมริกานั้น ทำให้เรื่องราวของพวกเขาถูกทอดทิ้งปล่อยให้หลงลืมไปตามกาลเวลา

ย้อนคืนสู่อดีตยุคสงครามเย็น

จากคำบอกเล่าของพล.ต.ประจักษ์ ช่วงเวลานั้นไทยขานรับนโยบายของซีไอเอ หน่วยราชการลับของกองทัพสหรัฐ ตามความเชื่อทฤษฎีโดมิโน หลังจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นคอมมิวนิสต์

ความเชื่อว่าลัทธิชั่วช้าเชิดชูชนชั้นแรงงานแต่ไม่เคารพพ่อแม่ รวมทั้งจะล้มล้างสถาบัน ตามลัทธิคาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน กำลังแผ่อิทธิพลขยายลงใต้ในย่านอุษาคเนย์ หากเวียดนาม ลาว เขมร ถูกรวบเป็นคอมมิวนิสต์เสร็จสิ้นเมื่อใด ก็จะมาถึงคิว “ประเทศไทย”

นั่นจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับมือกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อเมริกา เพื่อต่อต้านลัทธิสัญลักษณ์ “ดาวทองธงแดง” นับตั้งแต่ พ.ศ.2503

ไทยจึงเข้าไปเกี่ยวพันในสงครามกลางเมืองของประเทศลาว ด้วยการส่งกองกำลังทหารประจำการ (ช่วงแรกๆ) แทรกซึมเข้าไปช่วยรัฐบาลลาวฝ่ายขวา (ประชาธิปไตย) ซึ่งเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น และกำลังเกิดสงครามภายในวุ่นวายที่มีทั้งลาว ฝ่ายเป็น กลาง และฝ่ายขบวนการประเทศลาว ที่นิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ และกำลังทำสงครามเวียดนามกับอเมริกาและเวียดนามใต้อย่างเข้มข้นในขณะนั้น

สงครามลาว ภายใต้ความขัดแย้งช่วงสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจโลกอย่างอเมริกากับจีนและสหภาพโซเวียต ซึ่งต่างฝ่ายเป็นผู้หนุนหลังอย่างลับๆ โดยไม่เปิดเผยให้โลกรับรู้ด้วยเกรงจะขัดต่อข้อตกลงตามสนธิสัญญาเจนีวา ที่ไม่ให้ชาติใดส่งกำลังทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวในประเทศลาว

แต่สหรัฐอเมริกาแอบฝ่าฝืนหนุนฝั่งเสรีในลาว ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองซีไอเอ เข้าไปในฐานะ “พลเรือน” พร้อมตั้งศูนย์กลางข่าวกรองในประเทศไทย

พร้อมกันนั้นยังว่าจ้างกองกำลังทหาร-ตำรวจไทยนอกราชการ ไปรบในฐานะ “นักรบนิรนาม 333” (ทหารเสือพราน) รวมถึงหนุนกลุ่ม “ม้ง” นักรบชาวเขา ของ นายพลวังเปา ในเทือกเขาชายแดนลาวกว่า 30,000 คน ร่วมประเทศพันธมิตรบางส่วน ติดอาวุธไปรบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์จากเวียดนามเหนือ ที่ส่งคนเข้ามาสนับสนุนฝ่ายซ้ายในลาวเช่นเดียวกัน

ลาวจึงเป็นสมรภูมิสุดโหด ที่ถูกเก็บงำเป็นความลับยาวนานจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่า ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุด มีการทิ้งระเบิดโดยกองกำลังอากาศยานสหรัฐ สูงถึง 2 ล้านตัน มากกว่าการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเสียด้วยซ้ำ

ไทยส่งครูฝึกม้งจับอาวุธ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของไทย บันทึกรายละเอียด “สงครามลับ สงครามลาว” ไว้อย่างชัดเจน อ้างอิง จากการเปิดเผยของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ยุคแรกๆ นับตั้งแต่ บิล แลร์ หัวหน้าซีไอเอ ร่วมมือกับรัฐบาลไทยยุค จอมพล สฤษดิ์ ไทยส่งตำรวจพลร่มไปเป็นครูฝึก หรือ “พารู” PARU : Police Aerial Reinforcement Unit เพียงไม่กี่คน เข้าไปสอนพวก “ม้ง” กองกำลังชนกลุ่มน้อยชาวเขาของนายพลวังเปาให้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับพวกลาวแดง-เวียดนามเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา

พื้นที่ในประเทศลาวทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่โบโลเวน ทุ่งไหหิน ล่องแจ้ง ซำทอง ฯลฯ ที่ราบสูงบริเวณเมืองสุย แขวงเชียงขวาง สะหวันนะเขต ฯลฯ จึงกลายเป็นสมรภูมิที่เกิดการปะทะต่อเนื่องรุนแรงมีการสูญเสียกำลังพลทั้งสองฝ่ายอย่างมากมาย จนกระทั่งอเมริกันถอนทัพ และเวียดนามใต้พ่ายแพ้เป็นอันปิดฉากสงครามเวียดนาม พลอยทำให้สงครามในลาวสงบลงในที่สุด ช่วงปี พ.ศ.2518

แม้จะเป็นสงครามลับในประเทศลาว แต่มีทหารเวียดนามเหนือกว่า 15,000 คนที่ต้องสังเวยชีวิตไปในดินแดนแห่งนี้ ยังไม่รวมประชาชนชาวลาวอีกมากมายต้องตายไป และที่เหลือยังต้องทนทุกข์ทรมาน รับชะตากรรมอันเป็นผลพวงจากสงครามอีกนับไม่ถ้วนถึงปัจจุบัน

ปฏิบัติการลับครึ่งศตวรรษ

เกือบ 50 ปี วันเวลาผ่านเลยมากว่าครึ่งศตวรรษ เมื่อ 3 ม.ค. 2563 ที่แขวงอุดมไซ สปป.ลาว มีพิธีเชิญ “เถ้ากระดูก” อดีตทหารเวียดนามเหนือที่มาช่วยลาวแดง “แนวลาวฮักชาติ” ทำสงครามปลดปล่อยประชาชาติลาว กลับสู่มาตุภูมิที่ เดียนเบียนฟู เวียดนาม รวมทั้งยังมีพิธีเดียวกันในแขวงอื่นๆ ทั่วสปป.ลาว ทยอยส่งกระดูกอดีตทหารหาญเหล่านั้นกลับบ้าน

พล.อ.บัญชร ในฐานะผู้รวบรวมข้อมูลและศึกษาอย่างละเอียด เผยว่า ปัจจุบันมีการเชิดชูเขียนประวัติศาสตร์ทางทหารร่วมกันของลาว-เวียดนาม โดยไม่ปิดบังข้อมูลที่ทหารเวียดนามมาช่วยรบในลาวอีกต่อไป การสูญเสียด้วยเลือดเนื้อและชีวิตไม่ว่าเขาหรือเรา ต่างล้วนทำเพื่อชาติและอุดมการณ์

แต่ในเมืองไทย การที่ประเทศไทยส่งกองกำลังทหารและทหารพรานไปร่วมรบ จนถึงตอนนี้ยังไม่เคยยอมรับว่ามีปฏิบัติการลับในลาวเกิดขึ้น

ทว่าในวันทหารผ่าน ศึก “สมาคมนักรบนิรนาม 333” ยังคงออกมาเรียกร้องให้ทางภาครัฐ นำอัฐิของนักรบเหล่านั้นที่เรียกกันในชื่อ “เสือพราน” ผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 คนในสงครามครั้งนั้นกลับประเทศ

ด้าน “หัวหน้าใจ” พล.ต.ประจักษ์ เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวลงในหนังสือจากประสบการณ์จริงของชีวิต “สงครามลับ : นรกบ้านนา” หัวหน้าผบ.หมู่ ผู้เคยพาลูกน้องตะลุมบอนกับ “แซปเปอร์” หน่วย จรยุทธ์เวียดนามเหนือชนิดถึงลูกถึงคน เพื่อรักษาฐาน “บ้านนา” ในช่วง พ.ศ. 2513-2514 อันเป็นการรบที่ดุเดือดรุนแรงที่สุดในช่วงนั้น รื้อฟื้นความหลังในงานกิจกรรมที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ย่านดอนเมือง เมื่อ 14 ธ.ค.2563

ประโยคหนึ่ง “หัวหน้าใจ” รำพึงถึงประเด็นเหล่านี้ว่า “แม้เรื่องราวจะผ่านเนิ่นนานมา 50 ปี แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ดวงวิญญาณของผู้กล้าเหล่านั้นจะได้ไปผุดไปเกิดหรือยัง หรือบางคนยังอาจวนเวียนเพียงเพื่อขอให้ได้นำร่างหรือซากกระดูกของพวกท่านเหล่านั้น กลับคืนสู่มาตุภูมิเพื่อให้ญาติพี่น้องได้ร่วมรับรู้และทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามประเพณี ซึ่งจนป่านนี้ เราก็ยังหาทางประสานงาน ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เพื่อความแน่ชัดในเรื่องนี้ตามลำดับต่อไป แต่ผมและเพื่อนทหารหาญจากอดีตวันวานเหล่านั้น อยากฝากทวงถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะพา วีรบุรุษของเรากลับบ้านเสียที ?!?!”

สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมเรื่องเล่าจากสมรภูมิในอดีต ของ “หัวหน้าใจ” ครั้งต่อไปที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ย่านธูปะเตมีย์ ดอนเมือง โทร.สอบถามได้ที่ 08-7070-5040

สร้อย มั่งมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน