เมืองใหม่ – ข้ ามฟากจากโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก โครงการแลนด์บริดจ์ หรือทางเชื่อม 2 ฝั่งทะเล โครงการคลองไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบจะนะ มายังเมืองใหม่ EEC ภาคตะวันออก

เมืองใหม่ที่ตั้งเป้าหมายจะเป็น Smart City หรือ Green City ที่ยังไม่แน่ใจในความหมายกันว่าหมายถึงเมืองอะไร ประเภทใด ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามโครงการพัฒนาพิเศษเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด เมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ก็คือเมืองใหม่ที่กลุ่มบริษัท CP ผู้ได้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ได้แก่ เมืองใหม่ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีเนื้อที่เมืองประมาณ 10,000 ไร่ เมืองใหม่บางละมุงชลบุรี ก็เป็นโครงการของกลุ่มบริษัทที่ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะย้ายจากพัทยา เนื่องจากปัญหาราคาที่ดินและจำนวนอาคารที่หนาแน่นในพื้นที่

จากที่ดินที่กำหนดไว้เป็นชุมทางรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางเดียว Monorail ในพัทยา จะมาใช้ที่ดินที่เป็นที่ดิน ส.ป.ก.บางละมุง มีพื้นที่เมืองประมาณ 10,000 ไร่เช่นเดียวกัน และจะรองรับประชากร ได้ถึง 100,000 คน พร้อมขยายเป็น 500,000 คน ช่วงระยะเวลาสัมปทานรถไฟความเร็วสูง ส่วนเมืองใหม่ที่ระยองบริเวณข้างสนามบินอู่ตะเภา จะเป็นเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ใช้พื้นที่ 1,000 ไร่

คาดไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC กว่า 6 ล้านคน ขณะที่อัตราการขยายตัวของประชากรไทยลดลงเหลือ 0.3% ปี 2561 หรือมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดต่ำกว่าระดับทดแทน 1.8 คน ขณะที่จำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไปจากปี 2562 เท่ากับ 14.74 ของประชากร และมีประชากรวัยเด็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ในปี 2562

ก็คงเป็นคำถามว่าใน 20 ปี ข้างหน้าเราจะเอาประชากรที่เป็นแรงงาน ปัญญาชน ช่างฝีมือ นักวิชาชีพ นักวิชาการ นักบริหาร มาจากไหน หรือจะนำเข้าประชากรจากที่อื่นเข้ามา (ตอนนี้ก็คงมีแรงงานต่างชาติมาแล้วประมาณ 2 ล้านคน)

ทำให้คำถามที่จะต้องถามกันในการพัฒนาเมืองใหม่ของไทย จากโครงการท่าเรือน้ำลึกน่าจะไม่น้อยกว่า 7 เมือง และจาก EEC อีกประมาณ 20 เมืองนั้น นั่นเป็นปัญหาในอนาคตของเมืองใหม่หรือชุมชนใหม่

แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้ก็คือ ประเทศได้เตรียมการเรื่องเมืองใหม่นี้ไว้อย่างไรบ้าง

ปัจจุบันมีเมืองใหม่ของจีนที่ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ทั้งๆ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีทรัพยากร แรงงานหรือประชากรจำนวนมหาศาลที่จะเข้ารองรับโครงการเหล่านั้นหรือเข้าอยู่ในเมืองนั้น การจะสร้างเมืองใหม่ ต้องมีกำหนดกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ว่าด้วยการสร้างเมือง การบริหารจัดการ ควบคุมที่แตกต่างกันออกไป เมืองอุตสาหกรรมก็แตกต่างจากเมืองธุรกิจ เมืองธุรกิจก็แตกต่างจากเมืองที่ใช้อยู่อาศัย และเมืองที่ใช้เพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยวก็ย่อม แตกต่างจากเมืองเพื่อกิจกรรมทางการขนส่ง








Advertisement

เราจะต้องมีกฎหมายในการบริหารจัดการในเรื่องอย่างนี้

ขอย้ำว่าการจะสร้างเมืองใหม่เหล่านี้จะใช้ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม และพระราชบัญญัติการบริหารจัดการท้องถิ่นที่มีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการเมืองใหม่เหล่านี้ได้

นั่นคือ คำถามสำคัญว่า เราได้เตรียมให้มีกฎหมายในเรื่องนี้อย่างไร

นายช่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน